posttoday

เปิดสถิติ 6 เดือน "รางวัลนำจับกทม." จ่ายจริงแค่ไหน-ได้เงินกี่คน ?

18 ธันวาคม 2560

สำรวจผลงานกทม. หลังเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ชายหนุ่มไม่พอใจอย่างมากที่ถูกวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเฉี่ยวร่างกายทั้งที่เดินอยู่บนทางเท้า แถมยังส่งสายตาคล้ายกับว่าเขาเป็นคนผิดที่อยู่ตรงนั้นอีกต่างหาก เขาตัดสินใจหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพพร้อมกับส่งไปยังกลุ่มไลน์ของกรุงเทพมหานคร ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง พ.ศ.2535

6 เดือนแล้วที่ กทม.ประกาศดำเนินนโยบายดังกล่าว และจากข้อมูลของสำนักเทศกิจ พบว่า มีพี่น้องประชาชนได้เงินไปเกือบ 1 แสนบาท จาก 406 คดีที่เปรียบเทียบปรับ

แจ้งความผิดกว่า 6 พันเรื่อง ได้เงินแล้วเกือบแสน

“ในฐานะเจ้าหน้าที่ผมคิดว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เราสามารถกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวเรื่องสิทธิบนพื้นที่สาธารณะและการกระทำความผิด” ธีรพันธ์ อธิรัฐธนภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. บอกถึงโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดเผยสถิติต่างๆ ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธ.ค.)

 

เปิดสถิติ 6 เดือน "รางวัลนำจับกทม." จ่ายจริงแค่ไหน-ได้เงินกี่คน ?

 

ธีรพันธ์ บอกว่า ข้อหายอดนิยมที่ถูกแจ้งเบาะแสมากที่สุด ร้อยละ 90 คือ รถมอเตอร์ไซค์ขับรถบนทางเท้า อีกร้อยละ 10 เป็นข้อหาการขายของบนทางเท้าและขายในจุดห้ามขาย เช่น ป้ายรถเมล์ ทางเท้าที่คับแคบ

ทั้งนี้หากนำตัวเลขการแจ้งความเดือดร้อนของประชาชนจำนวน 6,108 มาเฉลี่ยเท่ากับว่าแต่ละเดือนจะมีผู้แจ้งความเดือดร้อนทั้งสิ้น 1,018 เรื่อง  ขณะที่เงินที่กทม. จ่ายไปเท่ากับเฉลี่ยเดือนละ 16,342 บาท

ภาพ-สถานที่-รายละเอียดต้องชัด

หลังดำเนินนโยบายมาราว 6 เดือน ปัญหาหลักที่ กทม. พบคือการแจ้งเบาะแสไม่ครบองค์ประกอบที่สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีได้ เช่น ภาพไม่ชัดเจน หรือระบุสถานที่ไม่ครบถ้วน หรือแม้แต่การเก็บสะสมภาพการกระทำความผิดไว้จำนวนมากแล้วส่งมาเรียกร้องพร้อมกันทีเดียว ทั้งหมดส่งผลต่อการตรวจสอบ

“กว่า 400 คดีที่เราเปรียบเทียบปรับไป เจ้าหน้าที่ค่อนข้างพอใจ อยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าบางคดีต้องใช้เวลา เนื่องจากหลายครั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทศกิจเท่านั้นแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากตำรวจและกรมการขนส่งทางบกด้วย”

 

เปิดสถิติ 6 เดือน "รางวัลนำจับกทม." จ่ายจริงแค่ไหน-ได้เงินกี่คน ? ธีรพันธ์ อธิรัฐธนภรณ์

 

นโยบายรางวัลนับจับเคยถูกตั้งคำถามและมีบางฝ่ายกังวล มองเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนจ้องจับผิดและนำไปสู่ความรุนแรง อย่างไรก็ตามถึงวันนี้ผอ.เทศกิจเชื่อว่า ประชาชนเข้าใจตรงกันแล้วว่า หน้าที่ของพลเมืองคือการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนร่วมและพื้นที่สาธารณะ

“กฎหมายก็คือกฎหมาย ผิดก็คือผิด ทำผิดแล้วอธิบายกับสังคมว่าถูกได้ไหม มันไม่ใช่เรื่องของการจ้องจับผิดหรือกลั่นแกล้งกัน แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า คุณทำผิดและต้องได้รับโทษ”

สรัล กุลสิงห์ ชายหนุ่มวัย 30 ปี เคยได้รับเงิน 250 บาทจากการเเจ้งเบาะแสการขับขี่บนทางเท้าบอกว่า ในภาพรวมพอใจกับการดำเนินการของนโยบาย อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้เพิ่มโทษปรับในอัตราสูงขึ้นและพัฒนาเรื่องการจ่ายเงินรางวัล

“การจ่ายเงินรางวัล ถ้าเราเจอการกระทำความผิดในเขตอื่นไกลบ้าน อาจลำบากและไม่คุ้มค่ากับเวลาเดินทางไปรับเงิน อนาคตน่าจะใช้วิธีการโอนเข้าบัญชีเลย”

 

เปิดสถิติ 6 เดือน "รางวัลนำจับกทม." จ่ายจริงแค่ไหน-ได้เงินกี่คน ? ใส่รายละเอียดชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

 

ร่วมมือเพื่อความยั่งยืน

เป้าหมายต่อไปของกทม.และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินคือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแจ้งเบาะแสเพื่อให้ทุกคนสะดวกและมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้นทั้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการและประชาชน

"เป็นระบบที่สามารถระบุพิกัดและส่งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อดำเนินการปฏิบัติได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านศูนย์รับแจ้งอย่างสำนักงานเทศกิจ เมื่อเขตรับเรื่องแล้วสามารถตรวจสอบและรายงานผลผ่านระบบได้โดยตรง ด้านผู้บริหารและประชาชนก็สามารถตรวจสอบผลได้จากระบบ"

แอพพลิเคชั่นดังกล่าวดำเนินการไปแล้วประมาณ 30 เปอร์เซนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2561

ธีรพันธ์ บอกว่า ความร่วมมือจากประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในเมืองหลวง ถ้าช่วยกันสอดส่องดูแล เคารพกฎกติกา ความก้าวหน้าทางสังคมจะเกิดขึ้น หากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไร้ความร่วมมือจากประชาชนเสียแล้ว ผลสำเร็จคงไม่เป็นไปตามความคาดหวัง

“นโยบายนี้เราได้ทางเท้าคืนให้กับประชาชน ไม่มีรถมาวิ่งหรือมีก็น้อยลงและเต็มไปด้วยคนสอดส่องดูแล”

 

เปิดสถิติ 6 เดือน "รางวัลนำจับกทม." จ่ายจริงแค่ไหน-ได้เงินกี่คน ?

 

ทั้งนี้สำหรับทางเท้าที่ยังมีปัญหาแผงค้าอย่างชัดเจนนั้น ผอ.เทศกิจบอกว่าอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข ตามความเร่งด่วนและเดือนร้อนในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ดียืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีมาเฟียแผงค้าอย่างแน่นอน หากผู้ใดมีเบาะแสสามารถแจ้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โทร 1555 ได้ทันที

“เมื่อก่อนเรามีจุดผ่อนผัน ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ กทม. ผู้ค้าผู้ประกอบการ แต่ปัจจุบันฝ่ายตำรวจไม่ยินยอมให้มีจุดผ่อนผันอีกแล้ว ทำให้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย”

ผอ.เทศกิจได้บอกทิ้งท้ายว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกคนรู้จักหน้าที่และมีสำนึก ผู้ค้าเข้าใจความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ ประชาชนไม่ซื้อสินค้าจากผู้กระทำผิด ผู้รักษากฎหมายทำหน้าที่อย่างจริงจัง

“ทุกคนต้องมีบทบาทและรักษาสิทธิรวมถึงเสรีภาพให้เสมอกันและไปด้วยกันอย่างมีความสุข”