posttoday

"เจ้เล้ง" นักล่าฝัน จากแผงลอยสู่ยุคดอทคอม

06 กันยายน 2559

"จากแม่ค้าแผงลอยเล็กๆ มาสู่ธุรกิจค้าปลีก เกิดจากการมีใจรักที่จะค้าขาย รู้ว่าลูกค้าต้องการสินค้าอะไร ขยัน สิ่งสำคัญต้องมีความอดทน เพราะทำงานทุกอย่างล้วนมีอุปสรรค"

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การเป็นนักล่าฝันและมีความฝันที่จะรวย ทำให้ผู้หญิงที่ชื่อ “เล้ง” จากเด็กนักเรียนกลายมาเป็นแม่ค้าแผงลอย จุดเริ่มต้นของ “ร้านเจ้เล้ง” ที่จับพฤติกรรมสาวไทยได้ถูกต้องที่ว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ทำให้เครื่องสำอางสกินแคร์ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และกลายเป็นร้านค้าปลีกนำเข้าขนาดใหญ่ย่านดอนเมือง

อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล หรือ เจ้เล้ง เจ้าของกิจการสินค้านำเข้า เจ้เล้ง เล่าให้ฟังว่า การทำธุรกิจของร้านเจ้เล้งกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นเศรษฐินีมีรายได้ระดับพันล้าน จุดเริ่มต้นมาจากการมีความฝันอยากมีรายได้ 5 แสนบาท จึงคิดขายสินค้ามาตั้งแต่ตอนเมื่ออายุ 14 ปี เริ่มจากการขายสินค้าเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนม เสื้อผ้า และก็เพิ่มกลุ่มสินค้าขึ้นมาเรื่อยๆ พอทำธุรกิจขายของได้ถึงอายุ 16-17 ปี ก็วิ่งไล่ล่าทำตามความฝันได้สำเร็จ ธุรกิจออกดอกออกผลมีกำไร 5 แสนบาท จากนั้นก็ยังไม่หยุดที่จะฝันวางเป้าหมายว่า ถ้าเรามีเงิน 5 ล้านบาท แล้วก็จะพอแล้ว กระทั่งปัจจุบันอายุ 70 ปี ยังฝันไม่หยุดอยากมีรายได้แตะระดับหมื่นล้านบาท

ย้อนไปในอดีตครอบครัวของเจ้เล้ง เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่และย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองไทย โดยมีแม่เป็นครูสอนภาษาจีน แต่ต่อมาโรงเรียนได้โดนสั่งปิดไป เพราะรัฐบาลต้องการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ครอบครัวตั้งแผงลอยขายของเล็กๆ น้อยๆ ที่ตลาดสะพานใหม่ ดอนเมือง ด้วยการขายเสื้อผ้าคอกระเช้า ผ้าถุง แต่หลังจากที่เจ้เล้งต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ขายของ ด้วยความเป็นคนหัวการค้าใช้เงินลงทุน 1,200 บาท เปลี่ยนสินค้าหน้าร้านมาเป็นขนมของเด็กๆ รวมทั้งเสื้อผ้าสมัยใหม่แทน และจุดเปลี่ยนคือ การมาจับตลาดนำเครื่องสำอางมาขายภายในร้าน

เมื่อเราถึงจุดที่รวยก็ทำให้การคบค้าสมาคมกับเพื่อนก็เป็นอีกระดับหนึ่ง จึงมีช่องทางทำให้ได้สินค้าราคาถูก สอดคล้องกับการทำธุรกิจคือ คิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สินค้าของเราขายได้ในราคาที่ถูกกว่าคนอื่นๆ เพราะราคาถือว่าเป็นปัจจัยหลักสำหรับการตัดสินใจซื้อสินค้า จึงเริ่มนำเข้าสินค้าหนีภาษีเข้ามาจำหน่าย โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง น้ำหอม สกินแคร์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากบรรดาลูกค้า กระทั่งสร้างชื่อเสียงให้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย “เจ้เล้ง ดอนเมือง” แต่พอย่างเข้าสู่ปี 2549-2550 ก็เกิดกระแสข่าวลบของร้านต่างๆ นานา ว่าจำหน่ายสินค้าปลอม เป็นสินค้านำเข้าโดยไม่ถูกกฎหมาย เพราะด้วยกลยุทธ์ราคาที่ถูกแสนถูกก็เป็นดาบสองคมได้เช่นกัน

“ในห้วงเวลานั้น ลูกค้าที่เคยเดินทางมาซื้อสินค้าร้านเจ้เล้งหายไปกว่า 50% ที่ร้านเงียบมากร่วม 2-3 เดือน ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ต้องมองว่า การทำธุรกิจต้องทำให้ถูกกฎหมายเสียภาษีให้กับรัฐบาลให้ถูกต้อง ยอมกำไรน้อยหน่อย เพื่อกู้ภาพลักษณ์ที่เจ้เล้งปลุกปั้นทำธุรกิจมาเกือบ 10 ปี นอกจากนี้ยังสร้างแบรนด์เจ้เล้งให้ผู้บริโภคเข้าใจกระแสข่าวขายสินค้าปลอม เนื่องจากภายในร้านมีจำหน่ายซีดีหนังและโดนตำรวจจับเท่านั้น ภายในร้านเราไม่มีสินค้าปลอม จากนั้นลูกค้าก็เริ่มกลับมาซื้อสินค้าตามปกติ”

"เจ้เล้ง" นักล่าฝัน จากแผงลอยสู่ยุคดอทคอม

อารียฉัตร กล่าวว่า ในปี 2549 ถือว่าเป็นปีแห่งความท้าทาย เจ้เล้งเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งขายสินค้าปลอมบ้าง กระทั่งมาถึงสนามบินย้ายไปอยู่สุวรรณภูมิเหมือนฟ้าฟาดลงมา ถึงกับใจหายเดิมได้ยินเสียงเครื่องบินตลอดเวลา เนี่ยคือเงียบมาก จากปริมาณคนที่เดินทางแล้วต้องแวะหากซื้อของฝากจากต่างประเทศไม่ได้ก็มาแวะที่นี่ลูกค้าในส่วนนี้จะหายไปเลย แต่หลังจากนั้นลูกค้าก็กลับมาซื้อ เพราะทางร้านมีจุดแข็งมาร้านเจ้เล้งไม่ต้องไปไกลถึงต่างประเทศก็ได้รับของถูก ซึ่งปัจจุบันทางร้านนำสินค้าจากต่างประเทศมามากกว่า 10 ประเทศ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย โปแลนด์

ก้าวเข้าสู่การค้าการขายในยุคดิจิทัล ช่องทางค้าปลีก หรือออฟไลน์ เริ่มมีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าลดลง อีกทั้งยังมีคู่แข่งขายสินค้าทางออนไลน์เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งการจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือกระทั่งไลน์ แถมส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าหนีภาษี ประกอบกับมีคนไทยสร้างแบรนด์สกินแคร์ เครื่องสำอาง ราคาไม่แพงมาจำหน่ายจำนวนมาก นอกจากนี้ราคาตั๋วเครื่องบินถูก คนก็เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศง่ายขึ้น ก็ซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาใช้เอง ร้านเจ้เล้งจึงได้รับผลกระทบมาก ความถี่การซื้อสินค้าน้อยลง เพราะหันไปสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ส่งผลให้เจ้เล้งต้องบุกช่องทางออนไลน์มากขึ้น ก็ถือว่าไม่ทำช้าเกินไป แต่จะทำให้มากขึ้นจากปัจจุบันสร้างรายได้สัดส่วน 30% ของรายได้รวม

การทำธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ถามข้อมูลสินค้าข้ามวันไปเลย ถามจนกว่าจะพอใจ บางทีก็ไม่ซื้อ ต้องใช้ความอดทนสูงมาก ที่สำคัญพฤติกรรมของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มีเป้าหมายว่าจะซื้ออะไรอยู่ในใจ ทำให้ปริมาณการซื้อของไม่ได้เยอะเหมือนเวลาเข้ามาซื้อสินค้าในร้านที่มีสินค้าหลากหลายดึงดูดใจควักกระเป๋าเงินซื้อสินค้าหลายชิ้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจานำเข้าสินค้าของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจากยุโรปและเอเชียมาแข่งขันกับคู่แข่งในช่องทางออนไลน์ โดยมีหมัดเด็ดที่สำคัญ เปิดศึกขายสินค้าราคาถูกแต่มีคุณภาพ

“ประสบการณ์ทำธุรกิจมา 56 ปี จึงรู้ว่าอะไรควรบุกและอะไรต้องชะลอการทำออกไป ก่อนหน้านี้ประกาศว่าจะขยายสาขาเจ้เล้ง 2 ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท รวมทั้งชะลอการขยายแบรนด์ไลลา มีสินค้าไม่ต่ำกว่า 10 รายการ อาทิ สกินแคร์ แต่จากสถานการณ์การแข่งขันธุรกิจนำเข้าเครื่องสำอาง สกินแคร์ ที่รุนแรง ช่องทางออฟไลน์กำลังอยู่ในภาวะขาลงและออนไลน์เริ่มเข้ามาแทนที่ ทำไมต้องลงทุนสร้างเราก็ใช้ออนไลน์เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งในรูปแบบปลีกและค้าส่งได้ เพราะการลงทุนค้าปลีกใช้งบลงทุนสูงคืนทุนช้า สำหรับเป้าหมายต่อไปของผู้หญิงนักสู้วัยของเจ้เล้ง การผันตัวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงขั้นทำเป็นโครงการใหญ่โต”

อารียฉัตร กล่าวว่า ขณะนี้มุ่งสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ในรูปแบบให้เช่า เพราะเป็นธุรกิจที่กินได้ยาวมากกว่าการปล่อยขาย ก่อนหน้านี้ก็สร้างห้องเช่าให้ผู้เช่าขายสินค้าอยู่แล้ว จึงมองว่าการทำธุรกิจต้องทำสิ่งที่มีความถนัด อย่าไปเปลี่ยนสายน้ำให้ไหลไปจุดนั้นจุดนี้ และแม้ว่าจะเป็นเศรษฐินีระดับพันล้าน แต่เนื่องจากตัวเองเป็นคนที่ต้องทำงานอยู่ตลอด ไม่สามารถหยุดทำงานได้ จึงลงมือคุมงานอสังหาริมทรัพย์เกือบทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น การซื้อเหล็ก หรือกระทั่งปูน เลือกเองหมดทุกอย่าง ถึงขั้นไปต่อรองราคาซื้อขายด้วยตัวเอง เลยรู้ว่าตอนนี้ราคาเหล็กลดลงจากกิโลกรัมละ 20 บาท เหลือเพียง 12 บาท/กก. 

สำหรับแผนสร้างโครงการเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ระหว่าง 2 ปี หรือ (2559-2560) พัฒนาที่ดินย่านลาดกระบัง 100-200 ไร่ เฟสแรกลงทุน 1,000 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย อพาร์ตเมนต์ 21 อาคาร มี 1,500 ห้อง เริ่มก่อสร้างแล้ว 30-40% ความโดดเด่นของเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ของเจ้เล้งที่พูดด้วยความภูมิใจว่า เป็นคนรักความสะอาดมาก ดังนั้นจะมีบริการฟรีทำความสะอาดห้องพักให้กับผู้เช่า
เดือนละ 1 ครั้ง  

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะประกาศตัวลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่หลักการลงทุนของเจ้เล้งค่อยๆ ลงทุนครั้งละ 25% จากมูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เพราะต้องการลดความเสี่ยงการทำธุรกิจ และค่อยๆ ศึกษาธุรกิจ พฤติกรรมผู้เช่าว่ามีความต้องการเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์รูปแบบใด เบื้องต้นคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จปลายปีหน้าและในปี 2565 ถึงจะคุ้มทุน สำหรับวางเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้าหวังรายได้ขาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% และร้านเจ้เล้ง 50%  

คีย์ซัคเซสของร้านเจ้เล้งที่เกิดจากแม่ค้าแผงลอยเล็กๆ มาสู่ธุรกิจค้าปลีก เกิดจากการมีใจรักที่จะค้าขาย รู้ว่าลูกค้าต้องการสินค้าอะไร ขยัน สิ่งสำคัญต้องมีความอดทน เพราะทำงานทุกอย่างล้วนมีอุปสรรคทั้งสิ้น

ส่วนสูตรอีกหนึ่งตัวคือความเชื่อที่ว่าชื่อร้าน “เจ้เล้ง” ต้องใช้ไม้ตรี แต่กลับใช้ไม้โท เพราะไม้โทมันแหงนหน้า ทำให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง เพราะเจ้เล้งย้ำว่า เก่ง ขยัน อย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ศาสตร์ต่างๆ มาผสมผสาน ถึงมีเจ้เล้ง ดอนเมืองมาถึงทุกวันนี้

"เจ้เล้ง" นักล่าฝัน จากแผงลอยสู่ยุคดอทคอม

66ยังแจ๋วมีหมื่นล้านจะวางมือ

อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล หรือ เจ้เล้ง เจ้าของกิจการสินค้านำเข้าเจ้เล้ง กล่าวว่า แม้ว่าจะอายุ 66 ปี แต่ยังไม่คิดว่าจะวางมือแล้วปล่อยให้ทายาท ภัทรานิษฐ์ ลาภชีวะสิทธิฉัตร หรือ “น้องซิน” ลูกสาวคนที่ 3 เข้ามาดูแลกิจการอย่างเต็มตัว ต้องรอให้มีประสบการณ์มากกว่านี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยประกาศกับตัวเองว่าจะไม่ทำงานอะไรทั้งสิ้น จะอยู่บ้านแบบสบายๆ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำได้ วันรุ่งขึ้นก็กลับไปทำงานตามปกติ เพราะชีวิตที่ผ่านมาทำงานมาโดยตลอดจึงไม่คุ้นชิน

ส่วนชีวิตเว้นว่างจากการทำธุรกิจ วันหยุดสุดสัปดาห์เสาร์กับอาทิตย์ ก่อนหน้านี้จะหัดขี่จักรยาน เพราะในช่วงวัยเด็กมีชีวิตกับการค้าขายมาโดยตลอด ไม่มีเวลาได้วิ่งเล่นหรือขี่จักรยานเหมือนเด็กคนอื่นๆ พอขี่ได้รู้สึกดีใจมาก ไม่ว่าจะรวยแค่ไหนสำคัญคือต้องรวยอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรงด้วย จะได้มีชีวิตยาวนานดูแลธุรกิจและเร่งสร้างรายได้ให้ได้ตามความฝันมีรายได้ แตะหมื่นล้านบาทแล้วเจ้เล้งอาจจะถึงเวลาที่ต้องวางมือเสียที

"เจ้เล้ง" นักล่าฝัน จากแผงลอยสู่ยุคดอทคอม