posttoday

"ซื้อถุงยางอนามัยหน้าเคาน์เตอร์" ปัญหาหนักใจของคนเซฟเซ็กซ์

17 สิงหาคม 2558

เบื้องหลังตำแหน่งการวางขายถุงยางอนามัยที่ทำให้หลายคนอายไม่กล้าซื้อ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

คุณผู้ชายคุณผู้หญิงจำนวนไม่น้อยคงเคยรู้สึกเขินอาย กล้าๆกลัวๆ พะวงหน้าพะวงหลัง เวลาเลือกซื้อถุงยางอนามัยในร้านมินิมาร์ท

คำถามที่ชวนสงสัยคือ ทำไมตำแหน่งที่ตั้งของ “ถุงยางอนามัย” อุปกรณ์ชั้นยอดชิ้นนี้ถึงต้องอยู่ตรงเคาน์เตอร์ด้วย และความอายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการใช้ถุงยาง จนนำไปสู่ภาวะเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์หรือไม่

หยิบปุ๊บจ่ายปั๊บ

คำให้การของพนักงานสาวร้านมินิมาร์ทรายหนึ่งพูดถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มาซื้อถุงยางอนามัยให้ฟังว่า ลูกค้าเกือบทั้งหมดที่มาซื้อถุงยางอนามัย มักไม่ใช้เวลานานในการเลือก เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เรียกว่า “หยิบปุ๊บจ่ายปั๊บ” ขณะที่อีกหลายคนเลือกที่จะซื้อสินค้าอื่นๆก่อน พอถึงเคาน์เตอร์ค่อยหยิบถุงยางอนามัยเป็นชิ้นสุดท้ายและชำระเงิน

สอดคล้องกับประสบการณ์ระทึกของ ฤทธิ์ชัย ภูรักษา พนักงานบริษัทหนุ่ม เผยขั้นตอนการซื้อถุงยางอนามัยของตัวเองว่า แรกๆจะรู้สึกเขิน ถึงขั้นไม่กล้าสบตาแคชเชียร์ ครั้งต่อๆไปจึงเริ่มมีเทคนิคในการซื้อ นั่นคือ เลือกหยิบสินค้าอื่นก่อนแล้วค่อยหยิบถุงยางอนามัยปิดท้าย

"สายตาที่มองมาขึ้นอยู่กับอายุเราด้วย ตอนเด็กๆอาจโดนมองด้วยสายตาแปลกๆ แต่พอโตขึ้น คนก็มองเป็นเรื่องปกติ โดยส่วนตัวทุกครั้งที่ซื้อถุงยางจะซื้อในช่วงเวลาเร่งรีบเท่านั้น ประมาณว่าไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าต้องใช้ (หัวเราะ) ฉะนั้นอนาคตไม่ว่ามันจะตั้งอยู่ตรงไหน ก็คงไม่มีเวลาไปยืนเลือกสรรพคุณนานๆอยู่เเล้ว เต็มที่อาจจะเลือกแค่ยี่ห้อ ทั้งที่เมื่อก่อนเน้นเลือกเเค่ราคาถูกเป็นพอ"

ขณะที่ความเห็นของนักศึกษาหนุ่มอีกราย จิรวัตน์ จามะรี เขาบอกอย่างมั่นใจว่า ไม่รู้สึกอายเลยแม้แต่น้อย จะอายไปทำไม เพราะวางตรงไหน สุดท้ายตอนจ่ายเงินก็ต้องเอามาวางที่เคาน์เตอร์อยู่ดี

“คนกำลังมีอารมณ์ เขาไม่มัวมาอายหรอก รีบๆซื้อรีบๆจ่ายก็จบ แต่ถ้าเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งก็อาจจะช่วยได้บ้างสำหรับคนขี้อาย และอยากยืนเลือกนานๆ” 

ทำไมต้องวางหน้าเคาน์เตอร์ด้วยครับ!

คำชี้แจงสั้นๆจากร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น คือ ตำแหน่งของสินค้าทุกชนิดขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเลือกซื้อของผู้บริโภค

เราจึงโยนคำถามต่อไปให้ ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดัง เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องการวางตำแหน่งถุงยางอนามัย ก็ได้รับคำอธิบายว่า สินค้าบริเวณเคาน์เตอร์ ส่วนใหญ่มีสองลักษณะ คือ “สินค้าโปรโมชั่น” และ “สินค้าเผลอใจ” หรือประเภทที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการจะซื้อตั้งแต่แรก แต่เห็นอยู่ตรงหน้า เลยตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

“ถุงยางอนามัยเป็นสินค้าพิเศษ สาเหตุที่วางอยู่หน้าเคาน์เตอร์น่าจะมาจากขนาดพื้นที่ของเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ใหญ่มากนัก และการวางถุงยางอนามัยไว้ใกล้กับสินค้าชนิดทั่วไปอย่างขนม ยาสีฟัน หรืออื่นๆในมุมมองของผู้ประกอบการ อาจจะรู้สึกไม่ค่อยดีนัก ขณะเดียวกันถ้าวางหลังเคาน์เตอร์ ก็จะเกิดการหยิบจับของพนักงาน คงลำบากใจทั้งคนซื้อและคนขาย การวางหน้าเคาน์เตอร์อาจเป็นพื้นที่ที่ตั้งใจไว้ลดความอาย เพราะระยะห่างระหว่างสินค้าไปจนถึงช่วงเวลาคิดเงิน หยิบใส่ถุงนั้นเร็วที่สุด”

นอกจากนี้ธันยวัชร์ยังมองว่า พฤติกรรมการซื้อถุงยางอนามัยของคนส่วนใหญ่มักเลือกยี่ห้อเดิมๆ ถ้าใช้ยี่ห้อไหน ก็จะใช้ยี่ห้อนั้น ไม่เลือกนาน หากอยากใช้เวลาจะเลือกเฟ้นคุณสมบัติที่เหมาะสมตัวเองจริงๆก็มักจะไปซื้อที่ห้างสรรพสินค้าหรือนั่งค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแทน

“ถ้าอยากเปลี่ยนรสชาติ ผมว่าคนจะไม่ซื้อในเซเว่น อีเลฟเว่น เพราะเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นร้านสะดวกซื้อ หรืออาจจะให้เด็กๆ หรือลูกน้องมาซื้อให้ก็ได้ เขาเรียกว่าคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ถือเป็นเรื่องน่าทดสอบสำหรับร้านค้าเหมือนกันว่าถ้าตั้งจุดวางไว้ตรงอื่น พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปไหม บางทีตำแหน่งวางถุงยางอาจต้องขึ้นอยู่กับที่ตั้งสาขาด้วย เช่น สาขาใกล้โรงแรมอาจจะไม่ต้องสนใจที่คนซื้อจะใช้เวลาเลือกนาน เพราะคนซื้ออาจจะไม่ได้ใช้ ขณะเดียวกันคนใช้จริงๆ อาจจะไม่ได้พิถีพิถันในการเลือกนัก ต้องการเพียงความสะดวก ส่วนสาขาอื่นๆ อาจจะตั้งจุดขายไว้ได้ในตำแหน่งอื่นที่นอกเหนือจากคาน์เตอร์  เพื่อให้เขามีเวลาได้เลือก และยังช่วยลดความกระอักกระอ่วนในการซื้อสำหรับคนที่รู้สึกอายที่ต้องหยิบจากเคาน์เตอร์ด้วย”

40 ปีผ่านไป ความอายยังไม่หมด

กว่า 40 ปีแล้วที่สังคมไทยรู้จักกับถุงยางอนามัย โดยมีผู้รณรงค์คนแรกๆคือ มีชัย วีระไวทยะ หรือมิสเตอร์ถุงยาง แต่ดูเหมือนว่าผ่านมาจนวันนี้ ความเหนียมอายยังไม่หมดไป ยังมีคนไม่กล้าซื้อ มองว่าเป็นเรื่องกระดากใจ

มีชัยบอกว่า สาเหตุที่คนไทยยังอายเวลาซื้อถุุงยางอนามัย เนื่องจากขาดการกระตุ้นและสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรงสาธารณสุข และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

"สมัยนี้ดูเหมือนว่าการรณรงค์จะจืดจางหายไป ทั้งที่ต้องเอาจริงเอาจัง หลายคนยังรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจกับการเข้าถึง เเละมีความรู้สึกอายอยู่ตลอด แต่ภาพรวมยังไม่ถึงกับเป็นความล้มเหลว เพราะการป้องกันของไทยยังนับว่าดีกว่าในหลายประเทศ"

การสร้างความเข้าใจต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่สอดแทรกอารมณ์ขันในการถ่ายทอด เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสและซักถาม ที่สำคัญอย่าเลือกให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก ควรใช้วิธีรุ่นพี่สอนรุ่นน้องจะดีกว่า

“เซ็กซ์เหมือนน้ำ ขาดน้ำก็อดตาย น้ำมากไปก็ท่วมตาย สิ่งมีชีวิตทั้งหมดรวมทั้งเเบคทีเรียถูกสร้างมาให้มีความสนใจในเรื่องเพศ เพราะต้องการจะผลิตสิ่งมีชีวิตต่อไป ไม่มีสัตว์ชนิดไหนที่ไม่สนใจเรื่องเพศ เเบบนี้จะอายกันก็บ้าเเล้ว

เด็กๆ ที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์ของผม มีความรู้สึกสบายอกสบายใจที่จะพกถุงยางอย่างปกติ เเละยังใช้เป็นที่ขัดรองเท้าหนังกันด้วย จะไปอายทำไม ถ้าจะอาย ควรอายลูกเทนนิสมากกว่า เพราะลูกเทนนิสมียางมากกว่าอีก เเละทั้งสองอย่างนี้ก็ผลิตจากต้นยางเหมือนกัน"

เจ้าของฉายามิสเตอร์ถุงยาง ทิ้งท้ายว่า ต้องใส่ถุงยางอนามัยที่สมองเป็นอันดับแรก

"ถ้ามีถุงยางในสมองอยู่แล้ว จะวางขายที่ไหน หาเอาที่ไหนก็ได้ จะวางอยู่ตรงไหน จะซื้อที่ไหน ก็คงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป"

ทำการบ้านก่อนซื้อ

จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. แสดงความเห็นว่า ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เรามีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ฉะนั้นเงื่อนไขในการเข้าถึงอุปกรณ์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

ถึงแม้ว่าเราจะรณรงค์ให้คนเข้าใจเรื่องเพศ เข้าใจเรื่องอุปกรณ์ แต่หลายครั้งความรู้ที่ได้ก็ไม่นำมาซึ่งการใช้งานจริง เมื่อเด็กบางคนไม่สามารถเข้าถึงถุงยางเพราะความอาย  ดังนั้นการที่คนจะเข้าถึงความปลอดภัย บริการต้องมีความละเอียดอ่อนในจุดนี้  ถ้าร้านสะดวกซื้ออยากจะช่วยส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยของเด็กมากขึ้น ก็อาจจะต้องจัดวางสินค้าให้สอดคล้องกับความเข้าใจ ความอายของผู้ใช้ โดยเฉพาะเด็กๆ 

เด็กบางคนบอกว่า เวลาไปซื้อถุงยางผมหลับตาหยิบมั่วๆ ไปเลยครับ หลายครั้งยังเอา ลูกอม ยาดม ยาหม่องวางทับถุงยางเข้าไปอีก เพราะไม่อยากให้คนอื่นเห็น ซึ่งการปรับตำแหน่งก็อาจจะช่วยได้ แต่ท้ายที่สุดสิ่งสังคมไทยต้องทำคือ ทำให้ทุกคนเห็นว่า ถุงยางคืออุปกรณ์ช่วยในความปลอดภัย ป้องกันอันตรายจากโรคร้าย เหมือนกันกับหมวกกันน็อก เข็มขัดนิรภัย ไม่ว่ามันจะวางอยู่ตรงไหนเราก็สามารถพินิจพิจารณาได้อย่างถูกใจจริงๆ แล้วค่อยไปจ่ายเงิน แต่ในภาวะที่ความคิดยังไม่ไปถึงตรงนั้น เรื่องตำแหน่งอาจจะช่วยลดความอายไปได้บ้าง”

หนึ่งในวิธีสลัดความอายก็คือ ทำการบ้านก่อนซื้อ...

“ถ้าจะซื้อของสักชิ้นเพื่อมาใช้กับอวัยวะที่บอบบางของเรา จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจดีพอ เพราะความรู้เรื่องถุงยาง ไม่ควรต้องมาหาในร้านค้า ควรศึกษามาก่อน แต่ทุกวันนี้ชายไทยส่วนหนึ่งยังไม่รู้ขนาดอวัยวะเพศของตัวเองเลย สะท้อนถึงความรู้กระพร่องกระแพร่ง และนำไปสู่การหยิบผิดไซซ์หรือไม่เหมาะสมกับตัวเอง”

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องละทิ้งความอาย แล้วเดินอกผาย ไปหยิบถุงยางอนามัยที่เคาน์เตอร์ ก่อนจ่ายเงินด้วยความมั่นใจเสียที