เป็นที่น่าสังเกตว่า กกต.ได้เชิญหัวหน้าพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมหารือทั้งหมด 55 พรรคการเมือง ปรากฏว่ามี3พรรคการเมืองที่ไม่ส่งหัวหน้าพรรค หรือตัวแทนเข้าร่วมประชุม อาทิ พรรคการเมืองใหม่ เป็นต้น
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารพรรค โดยได้กล่าวขอความร่วมมือให้ทุกพรรคการเมือง ดำเนินการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ให้เป็นอย่างสุจริตเที่ยงธรรม พร้อมกับยอมรับผลการเลือกตั้งและขอให้ทำความเข้าใจกับกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่สนับสนุนพรรคให้ออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบสิทธิ์ของกฎหมาย
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า ขณะนี้ กกต.ด้านบริหารจัดการการเลือกตั้งได้จัดทำแผนงานการเลือกตั้งแบบคร่าวๆเสร็จสิ้นแล้ว โดยเหลือเพียงขั้นตอนการอนุมัติของ กกต. ซึ่งต้องรอการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาเสียก่อน โดยแต่เดิมนั้นการรับสมัครจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน นับจากวันยุบสภา แต่ในครั้งนี้จะใช้เวลาเพียง 3-4 วันภายหลังจากยุบสภาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามคาดว่าวันสมัครรับเลือกตั้งวันแรกน่าจะเป็นวันที่ 11 พ.ค. หรือ 12 พ.ค. โดยจะรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อก่อนและใช้เวลา 5 วัน จากนั้นจึงจะเป็นการรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตซึ่งใช้เวลา 5 วันเช่นเดียวกัน ส่วนการลงคะแนนล่วงหน้านั้นจะมีขึ้นก่อนวันเลือกตั้งจริง 1 สัปดาห์ และจะปรับลดให้เหลือเพียงวันเดียวตามที่มีการแก้ไข
ขณะที่ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การประชุม กกต. ในวันนี้ (2พ.ค.) จะมีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาหารือเรื่องการสนับสนุนการเลือกตั้ง รวมทั้งข้อปฏิบัติในการหาเสียง โดยมีประเด็นสำคัญที่จะหารือคือ เรื่องการนำสถาบันมากล่าวอ้างในการหาเสียง การกำหนดจำนวนเงินในการใช้หาเสียงเลือกตั้ง และ การจัดสถานที่เพื่อติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง