posttoday

“BCG Indicator” ยกระดับ SME ก้าวข้ามความท้าทายในยุค "โลกเดือด"

25 เมษายน 2567

ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ โครงการ “BCG Indicator” เชื่อม SME เข้ากับมาตรการสีเขียว ช่วยก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านในยุค “โลกเดือด”

กรุงเทพธุรกิจจัดเวที Go Green 2024 : The Ambition of Thailand เปลี่ยนความท้าทายในยุค "โลกเดือด" (Global Boiling) ให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย และนำพาประเทศให้ผ่านจุดเปลี่ยน ด้วยการปรับตัวอย่างมียุทธศาสตร์ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์  ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 08.30 - 16.30 น. 

โดยภายในงานมีวิทยากรจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมถ่ายทอดข้อมูลกฏหมายโลกร้อน, คาร์บอนเครดิต, Climate Technology และ Circular Economy กันอย่างคับคั่ง

ในช่วงเสวนาธุรกิจไทยปรับตัว รับบริบทลดโลกร้อน ผู้ประกอบการต้องปรับตัวมากน้อยขนาดไหนจึงจะอยู่รอดท่ามกลางความท้าทายในยุคโลกเดือด ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวกับมาตรการของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ปล่อยออกมาหลายมาตรการมากและส่งผลกระทบต่อการค้าระหวา่งประเทศ โดยเฉพาะมาตรการ CBAM เนื่องจากวิกฤต Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะกลายเป็นประเด็นสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งประชาคมโลกอย่างสหประชาชาติได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็เริ่มแสดงจุดยืนมากขึ้นว่าพวกเขามีความกังวลต่ออนาคตของโลก เพราะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาโดยตรง

สำหรับแผนขับเคลื่อนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่บริษัทใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับ Supply Chain โดยเฉพาะ SME ซึ่งต้องดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบ 

สิ่งที่เป็นความท้าทายที่ทางสภาอุตสาหกรรมพบในตอนนี้คือเรื่องทุนดำเนินการ ในเมื่อเรามองว่า Net-Zero เป็นสิ่งสำคัญ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นมันมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงมากเพราะการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมนับเป็นสิ่งใหม่ คำถามคือ เราจะเข้าสู่ต้นทุนที่ต่ำลงได้อย่างไร? ก็จะโยงต่อไปที่ Climate Finance และ Taxonomy ที่ต้องมีดัชนีการวัดให้สถาบันทางการเงินเห็น เขาถึงยอมลดต้นทุนลงให้ได้บ้าง

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Global treaty on plastic หรือ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตมลพิษจากพลาสติกทั่วโลกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040 โดยผู้ประกอบการต้องลดการผลิตพลาสติกลง เราก็ต้องมาหาทางออกว่าควรทำอย่างไร ควรให้อยู่ในรูปสินค้ารีไซเคิลไหม หรือทำเป็นไบโอพลาสติก ที่อาจเป็นโอกาสในอนาคตของไทย

เมื่อถามว่า การปรับตัวของผู้ประกอบต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน และผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึง Climate Tech มากน้อยเพียงใด? ดร.สวนิตย์ ระบุว่า เรามีโครงการ BCG Indicator เพื่อเชื่อมโยงมาตรการสีเขียวเข้ากับการยกระดับและขับเคลื่อน SME ให้สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านและสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของไทย เพิ่มการเติบโตของ GDP