posttoday

ยธ.โต้กลับกลุ่ม OctDem ยัน ราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

30 เมษายน 2564

โฆษก ยธ. โต้กลับกลุ่ม OctDem ชี้ ราชทัณฑ์ทำตามข้อกำหนดแมนเดลา ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่คุกคามแกนนำม็อบให้พบทนายส่วนตัวสู้คดี

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 ที่กระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว โฆษกกระทรวงยุติธรรม ชี้แจง กรณีกลุ่มคนเดือนตุลา OctDem เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย”โดย เรียกร้องให้รมว.ยุติธรรม มีคำสั่งไปยังผู้รับผิดชอบให้ดูแลปกป้องผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาทางการเมือง และให้ผู้ต้องหาติดต่อกับทนายความเพื่อต่อสู้คดี ตนยืนยันว่าที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (SMR) ข้อกำหนดแมนเดลา 2558 (MR) ข้อกำหนดกรุงเทพ (BR) และกฎเรือนจำของสหภาพยุโรป (EPR) และพ.ร.บซราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ มีการตรวจสุขภาพร่างกาย ดูแลสุขภาพอนามัยและสุขาภิบาล การบริการทันตกรรม รวมถึงการออกกำลังกายให้กับผู้ต้องขังทุกราย แต่เมื่อโควิดมีการระบาดกรมราชทัณฑ์จึงได้ต้องทำตามพ.ร.บ.โรคติดต่อในการกักตัวและตรวจหาเชื้อโดยวิธีวัดอุณหภูมิ พร้อมตรวจโควิดแบบแหย่จมูก (Swab) 14 วัน ก่อนปล่อยเข้าสู่แดนแรกรับ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวศาลได้ไต่สวนและมีคำสั่งไปแล้ว

นายวัลลภ กล่าวว่า นอกจากนี้เรื่องการหารือกับทนายความเพื่อปรึกษาเรื่องคดี นั้นกรมราชทัณฑ์ไม่เคยปิดกั้นผู้ต้องขังหรือจำเลย ทำตามกฎหมายโดยให้เรือนจำจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว ได้ตามที่กำหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์ ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง SMR 93 และข้อกำหนดแมนเดลา ข้อ 61 เช่นเดียวกับกรณีของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่มีทนายความสิทธิมนุษยชนเข้าเยี่ยมเยียนเป็นการส่วนตัวภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออย่างเป็นประจำ