posttoday

"ธนพร"ชี้แก้รธน.เป็นทางตันการเมืองนอกสภาร้อนนับถอยหลังยุบสภา

18 มีนาคม 2564

สส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย "ธนพร โสมทองแดง" ชี้ลับลวงพรางแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางตันคาดปัญหาการเมืองนอกสภาร้อนแรง นับถอยหลังยุบสภา

เมื่อวันที่ 18มี.ค.64 นางสาวธนพร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ตามที่ผลการลงมติในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่... พ.ศ. ... วาระที่ 3 ผลปรากฏว่า มี ส.ส.เห็นชอบ 206 เสียง ส.ว.2 เสียง รวมเป็น 208 เสียง, ไม่เห็นชอบของ ส.ส.ไม่มี ส.ว.4 เสียง รวม 4 งดออกเสียง ส.ส.10 เสียง ส.ว.84 เสียง รวม 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน ส.ส.9 เสียง ส.ว.127 เสียง รวม 136 เสียง ที่ประชุมรัฐสภามีคะแนนเสียงเห็นชอบ 208 คะแนน ซึ่งมีจำนวนคะแนนเสียงเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา หรือ 369 เสียง ดังนั้นที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่... พ.ศ. ... มาตรา 256 เพิ่มเติมมาตรา 15/1 ทำให้ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญย่อมตกไป เห็นว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2664 ตามมาตรา 211 วรรคท้าย ย่อมเด็ดขาดผูกพันทุกองค์กร แต่ระหว่างรอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นแตกไปหายฝ่าย แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญแต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มจัดทำประชามติสอบถามประชาชนเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะเริ่มจุดใด ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่หรือโหวตวาระ 3 ซึ่งใช้เวลาการประชุมกันยาวนาน ซึ่งสมาชิกรัฐสภาต่างอภิปรายมีเหตุผลทุกฝ่าย ซึ่งหากพิจารณาเกมการเมืองแล้ว ต้องมองให้ขาดมาแต่แรกว่า ฝ่ายรัฐบาลผู้กุมอำนาจรัฐ ไม่มีเจตนาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแต่แรก เพราะระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมบัตรใบเดียวเป็นประโยชน์แก่พรรคการเมืองบางพรรคและที่สำคัญ สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนตามบทเฉพาะกาลมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตรงนี้ต่างหากเป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอาเปรียบทุกช่องทาง แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่ฝ่ายรัฐบาลจะต้องแก้ หากพิจารณาถึงมาตรา 256 จะเห็นได้ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญยาก

ดังนั้น การร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทที่ตั้งแท่นเข้าสภามา ลับลวงพรางประวิงเวลาให้การเมืองนอกสภาที่ร้อนแรงให้เย็นลง เมื่อม็อบนอกสภาคนเริ่มน้อยและแกนนำรุ่นแรก ติดคุกไม่ได้ประกัน ทำให้มีการหักดิบกลางสภาเสนอให้โหวตวาระ 3 ซึ่งมีธงอยู่แล้วว่า สมาชิกวุฒิสภามีเสียงรับรองในวาระ 3 ไม่ครบ 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมตกไป ตรงนี้ เสียดายงบประมาณมหาศาลในการพิจารณาวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายค้านได้ทำเต็มที่แล้ว การลับลวงพรางฝ่ายรัฐบาลจะเห็นได้ว่า ขาดความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ

นางสาวธนภร กล่าวว่า มีหลายพรรคการเมืองมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน พี่น้องประชาชนที่ติดตามจะได้ทราบว่า พรรคการเมืองใด ที่เวลาโหวตแล้ววอล์คเอาท์ เลือกตั้งสมัยหน้า พีน้องประชาชนจะต้องสั่งสอน ให้จำชื่อสกุลไว้ ซึ่งหากพิจารณาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นใหม่ค่อนข้างเป็นไปค่อนข้างยากเพราะปัจจุบันยังมีเพียง ร่าง พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ....ยังไม่มีกฎหมายประชามติ ไม่อาจจัดทำประชามติสอบถามประชาชนว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ และจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ อย่างไร ดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ในหมวด 15/1 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องไปสอบถามประชาชนก่อน ดังนั้น โอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปประชาธิปไตยแทบไม่มีเพราะต้องจัดทำประชามติ ถึง 2 ครั้ง เสียงบประมาณจำนวนมาก หากเทียงเคียงกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชนต้องมาก่อน หากเทียบระยะเวลาที่เหลืออีก 2 ปี การแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อนข้างยาก แต่เป็นทางตันการเมืองไทย ที่จะเป็นเครื่องเร่งเร้าให้การเมืองนอกสภาร้อนแรงเหมือนกับประเทศเมียนมาร์ที่ประชาชนจะต่อต้านมากขึ้น เป็นสิ่งเร้าร้อนแรงการเมืองนำไปสู่ยุบสภาก่อนเวลาอันควร แต่ปัญหายังไม่หมดไป เชื่อว่า กระแสอำนาจของประชาชนคงไม่ยอมอย่างแน่นอนเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นเพียงปาหี่ สับขาหลอก ดึงเกมการเมืองเท่านั้น