posttoday

ดึง7กลุ่มร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์สร้างความปรองดอง

24 พฤศจิกายน 2563

มติประชุม4ฝ่ายเคาะคณะกรรมการสมานฉันท์21คนจาก7กลุ่ม ทำหน้าที่ศึกษารูปแบบสร้างความปรองดอง"ชวน"ลั่นจะพยายามทำให้มีทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2563 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการหารือร่วม 4 ฝ่าย ซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เข้าร่วมการประชุม ว่า ที่ประชุมได้เห็นร่วมกันให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติในวันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2563 รวมถึงญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่จะขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ ที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้ นายชวน ยังกล่าวว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณารูปแบบโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ไปพิจารณามา โดยสรุป คณะกรรมการสมานฉันท์ จะมีจำนวน 21 คน มาจาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ตัวแทนจากรัฐบาล 2 คน

2.ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน

3.ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน

4.ตัวแทนจาก ส.ว. 2 คน

5.ตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน

6.ตัวแทนจากกลุ่มผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน

7.ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคล และ 4 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านปรองดองสมานฉันท์ และมีนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า เบื้องต้นใช้ชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่หากกรรมการต้องการปรับเปลี่ยนภายหลังก็สามารถทำได้ รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการฯ

นายชวน กล่าวว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษารูปแบบการสร้างความปรองดอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบองค์ประกอบทั้งหมด 21 คน หลังจากนี้ให้ฝ่ายเลขาแจ้งให้แต่ละฝ่ายได้รับทราบ เพื่อส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมกรรมการสมานฉันท์เพื่อเริ่มเดินหน้าทำงานได้ทันที ส่วนประธานกรรมการสมานฉันท์ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมการสมานฉันท์พิจารณาจากกรรมการสมานฉันท์ด้วยกันเอง ส่วนจะมีภาระหน้าที่และรูปแบบการพิจาณาแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้นเห็นว่าให้กรรมการมีการประชุมปรึกษาหารือกันก่อน และจากการลงพื้นที่พบปะรับฟังความเห็นประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ประชาชนต่างก็เห็นด้วยหากกรรมการสมานฉันท์หากสามารถทำให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างสงบ แต่ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางเรื่องมันป้องกันได้เพราะฝ่ายการเมืองยังเราๆรู้ดีว่าบางเรื่องมันเกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งมันสามารถป้องกันได้โดยการสร้างเงื่อนไขไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอนาคตเราไม่รู้ว่าความขัดแย้งจะเป็นเรื่องอะไร แต่เรารู้ปัญหาในอดีตเราก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อลดปัญหาในอนาคต

ส่วนปัญหาในอนาคตมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเราไม่มีทางรับรู้ได้เหมือนเทคโนโลยีโลกโซเชียลมีเดียยุคใหม่แม้จะมีคุณค่ามากมาย แต่ก็มีโทษอย่างร้ายแรงหากใช้ไม่ในทางที่ผิด แต่หากใช้ในทางปรองดองก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ และหากใช้ไปในทางที่ผิดก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งเช่นกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้โดยตรงจะเข้ามามีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังกับกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ไว้อย่างไรบ้าง นายชวน กล่าวว่า ได้แจ้งต่อที่ประชุมวิปทั้ง 3 ฝ่ายแล้วว่าไม่ได้เล็งผลเลิศ ว่าจะต้องเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนทันทีทันใด แต่หวังว่าการได้มีช่องทางได้พูดคุยกันในปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหาก ผู้ร่วมชุมนุมไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ นายชวน ยืนยันว่าไม่ปัญหา แต่รัฐสภายังต้องทำหน้าที่ไปตามภารกิจต่อไป หากไม่เข้าร่วมก็ทำหน้าที่ไปเท่าที่มีอยู่ไปก่อน แต่พยายามจะให้มีทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และต้องให้เวลาแต่ละฝ่ายในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตามกรรมการชุดนี้เป็นกรรมการชุดแรกจากทั้งหมด 2 ชุด ซึ่งชุดที่ 2 เป็นกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าพิจารณา ซึ่งในรูปแบบที่ 2 นี้ได้มีการหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ทุกฝ่ายให้ความเห็นในทางที่เป็นบวก และสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปเชิญแต่ท่านมาร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งสัดส่วนกรรมการหลังจากนี้จะเป็นใครนั้นจะมีการหารือกันอีกครั้งกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่า กรรมการสมานฉันท์ชุดนี้พอมีความหวังอยู่บ้านที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเชิญตัวแทนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุมและคนที่คิดต่างกับฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งในอดีตโครงสร้างกรรมการปรองดองจะไม่มีส่วนนี้ ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าผู้ชุมนุมคงจะได้มีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่ก็อยากให้ฟังดูก่อน เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่หลังจากนี้จะมีการหารือกันว่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วมหรือไม่ แต่อย่างน้อยๆวันนี้ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ได้ร่วมวางกรอบ สำหรับหน้าที่ของกรรมการชุดนี้จะเน้นไปที่การศึกษาในปัญหาต่างๆเพื่อเสนอแนะเป็นแนวทางให้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหมดไปพิจารณาแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต