posttoday

“ธนาธร” เตือนใช้ ม.112 เหมือนเอาน้ำมันราดบนกองไฟ

24 พฤศจิกายน 2563

“ธนาธร”ชี้ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีต้นทุนทางสังคมมากพอที่จะทำรัฐประหารได้พร้อมปัดอยู่เบื้องหลังม็อบยันเป็นเสียงของยุคสมัย รัฐบาลต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

วันที่ 24 พ.ย. 2563 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรียืนยันจะใช้กฎหมายทุกฉบับรวมถึงมาตรา 112 มาเอาผิดกลุ่มราษฎรนั้นว่า ถ้ารัฐบาลประกาศเช่นนี้ก็เหมือนเป็นการเอาน้ำมันราดบนกองไฟ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งจับกุมกัน หรือเอาแกนนำเข้าคุก

"ฝ่ายอนุรักษนิยมยังเชื่อว่าธนาธรอยู่เบื้องหลังการชุมนุม เป็นการประเมินผิด จะจับธนาธรกับแกนนำเข้าคุกแล้วปัญหาจะจบเป็นความเข้าใจผิด เพราะฝ่ายรัฐไม่เข้าใจว่าทั้งหมดคือเสียงของยุคสมัย เมื่อตั้งต้นผิด จับแกนนำยัดคดีได้ ปัญหาไม่จบ ไม่มี ธนาธร ปิยบุตร ก็มีคนอื่นขึ้นมาแทน สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำคือเปิดใจให้กว้างและยอมรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ หากยังฝืนจะยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามจนแก้ไขหาทางออกไม่ได้”นายธนาธร กล่าว

สำหรับการชุมนุมของกลุ่มราษฎรวันที่ 25 พ.ย. นี้ที่มีกระแสข่าวอาจมีการทำรัฐประหารนั้น นายธนาธร กล่าวว่า ไม่เชื่อรัฐประหารคือทางออกของปัญหา เพราะที่ผ่านมามีการทำรัฐประหารหลายครั้ง แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกัน ต้นตอของความขัดแย้งครั้งนี้ก็เกิดจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 และเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทางออกที่สันติของประเทศยังมีอยู่

"ไม่เชื่อว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะมีต้นทุนทางสังคมและทางการเมืองมากพอที่จะทำรัฐประหาร เพราะปี 2557 การรัฐประหารก็ใช้ต้นทุนที่เขามีไปหมดแล้ว เห็นได้ชัดว่าตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา มีความพยายามของบางกลุ่มที่พยายามปลุกปั่นและสร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้งและรุนแรงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร อีกทั้งยังเชื่อว่านักเรียนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวมีวุฒิภาวะพอต่อการยั่วยุเพื่อให้นำไปสู่ความรุนแรงไม่เป็นผล"นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร ยังฝากถึงตำรวจที่จะควบคุมดูแลพื้นที่ในวัน25พ.ย.นี้ว่าให้ใช้ขันติธรรมกับผู้ชุมนุม และลองฟังสิ่งที่ผู้ชุมนุมพูด เพราะที่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน จะไปชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นเพราะข้อเสนอของราษฎรไม่ได้รับการรับฟัง โดยเฉพาะข้อเสนอให้รับร่างแก้ไขของไอลอว์ที่มีประชาชนลงชื่อไว้กว่า 100,000 คน แต่เสียงของเขากลับไม่ได้รับการรับฟังและนำไปประกอบการพิจารณาในรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงไม่แปลกใจว่าทำไมประชาชนถึงโกรธ และต้องขีดเส้นในการชุมนุม เพราะข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการตอบสนอง

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า หากการชุมนุมวันที่ 25 พ.ย. ไม่จบ ทางออกจะเป็นอย่างไรนั้น นายธนาธร กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามกลุ่มผู้ชุมนุม และในวันพรุ่งนี้ตนมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติ ต้องลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครคณะก้าวหน้าหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าพอมีเวลาว่างที่ตรงกับการชุมนุมและหากกาลเทศะเหมาะสมก็จะร่วมชุมนุมทุกครั้งเหมือนที่ผ่านมา

สำหรับที่มีการประกาศของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เตรียมไปรอที่สำนักงานทรัพย์สินฯ และหน้ารัฐสภา จะเป็นการเกิดม็อบชนม็อบหรือไม่นั้น นายธนาธร ตอบว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออก เป็นเสรีภาพของบุคคลที่ควรได้รับการปกป้อง และเสรีภาพในการแสดงออกด้วยการชุมนุมซึ่งสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และตราบใดที่ต่างฝ่ายแสดงออกด้วยเหตุผลและวุฒิภาวะ ไม่ยั่วยุให้เกิดการปะทะ ถือเป็นเสรีภาพ

ทั้งนี้ นายธนาธร ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกคดีที่ กกต. แจ้งเอาผิดกรณีถือหุ้นสื่อ ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) สน.ดอนเมือง โดยนายธนาธร ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและเห็นว่าการดำเนินคดีดังกล่าวสองมาตรฐาน เห็นได้ชัดในคดีของ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.พลังประชารัฐ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งกรณีของตนเมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดบริษัทของ น.ส.ภาดาท์ ความผิดที่ควรต้องได้รับนั้นเห็นได้ชัดว่าอีกฝั่งเปิดบริษัทแต่แจ้งไม่มีรายได้

ขณะที่ในส่วนของตนเองปิดบริษัทมาก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งกลับถูก กกต. ฟ้องร้องเอาผิดจนนำไปสู่การตัดสินให้หลุดจากการเป็น ส.ส.จึงอยากให้ประชาชนย้อนคิดว่าสิ่งที่ฝ่ายรัฐและกระบวนการยุติธรรมทำกับตนนั้น ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ที่ผ่านมาได้ขอความเป็นธรรมมาตลอด แต่ที่สุดก็ต้องได้รับโทษ วันนี้จึงอยากขอความเป็นธรรมและความเห็นใจอีกครั้ง