posttoday

หมอวรงค์เปิดตัว "กลุ่มไทยภักดี" ชู 5อุดมการณ์ 3ข้อเรียกร้อง

19 สิงหาคม 2563

"นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" แถลงเปิดตัว "กลุ่มไทยภักดี" ชู 5อุดมการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง ต้องไม่ยุบสภา-ดำเนินการตามกฎหมายทุกกลุ่มที่จาบจ้วงสถาบันฯ-ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้แถลงเปิดตัว "กลุ่มไทยภักดี" โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งจำนวน 27 คน อาทิ "อุ๊"หฤทัย ม่วงบุญศรี, นายอิสระพงศ์ สงวนวงศ์ชัย, ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล, นาวาเอกชวลิต ลีวิโรจน์, นายพรชัย ติรกาญจนา นายปารเมษฐ์ พงศ์พิริย์

นพ.วรงค์ ได้แถลง 5 อุดมการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง ของกลุ่มไทยภักดีดังนี้

1. ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

2.สืบสานรากเหง้า เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ความเป็นไทย

3.ลดอำนาจ ควบคุม ตรวจสอบทุนผูกขาด เนื่องจากกลุ่มไทยภักดี เชื่อว่า กลุ่มทุนผูกขาด เป็นปัญหาสำคัญต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน

4.เสริมสร้างความเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในการประกอบอาชีพของทุกชนชั้น

5.สร้างรากฐานความมั่งคั่งของชาติ อย่างมั่นคงด้วยระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง

ขณะที่ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อประกอบด้วย

1. ต้องไม่ยุบสภา เพราะวิกฤติโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกและการแก้ปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังไม่ลุล่วง ความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำรอบสองในไทยยังมีขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติการระบาดอย่างหนัก ขณะที่ผลกระทบจากการหดตัวและล่มสลายทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวยังถือเป็นเรื่องใหญ่ แนวทางแก้ปัญหาที่ต้องปรับเปลี่ยนมากระบวนทัศน์มาเน้นความเข้มแข็งของการแบบพึ่งพาตนเองตั้งแต่ระดับฐานราก จนถึงความมั่นคงของโลกาภิวัตน์แบบภูมิภาค สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องของรัฐบาลและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้มีผลงานบริหารจัดการวิกฤติโควิดในประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ของประเทศที่ฟื้นตัวดีที่สุดในโลก

2. ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม กับกลุ่มบุคคลทุกอายุ ทุกกลุ่มที่เสนอการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์อันไม่ชอบด้วยหลักการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งแกนนำ ผู้ปราศรัย กลุ่มอาจารย์ กลุ่มการเมือง เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและการใช้เสรีภาพที่ไม่ก้าวล่วงขอบเขตใด ๆ ตามอำเภอใจ

3. ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยปราศจากฉันทามติของประชาชนที่ลงประชามติไปแล้ว เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยมากที่สุด ด้วยเหตุผลคือ ระบบ ไพรมารีในการเลือก ส.ส.เขตจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยในพื้นที่ สลายวัฒนธรรมผูกขาดของพรรคการเมืองเดิมและ ส.ส.เดิมที่มีอิทธิพลในพื้นที่ที่สืบอำนาจจากผัวสู่เมีย จากพ่อสู่ลูก เพราะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครใหม่ที่ทำงานในพื้นที่สามารถเสนอตัวเป็นคู่แข่ง

ขณะที่ระบบ primary vote ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะกระจายอำนาจสู่สมาชิกพรรคทุกคนเพื่อร่วมเสนอชื่อและลงคะแนนเลือก ซึ่งเป็นการลดอำนาจรวมศูนย์ของเจ้าของพรรค นายทุนพรรค และผู้บริหารพรรคการเมือง สอดรับกับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะลดทอนอำนาจของระบบธนกิจการเมืองของนายทุนเลือกตั้ง นักเลือกตั้งอาชีพของพรรคการเมืองใหญ่ โดยทำให้พรรคเล็กที่มีอุดมการณ์ ความรู้ ความมุ่งมั่นเสนอตัวเป็นตัวเลือกที่มีโอกาสชนะได้ อีกทั้งยังเป็นการคัดกรองให้พรรคการเมืองเฟ้นหาตัวผู้สมัครด้วยอุดมการณ์ที่ตรงกัน ไม่ใช่ระบบมุ้ง ระบบสายที่พรรคไปทาง คนไปทาง รวมถึงทำให้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับทุกเขตเลือกตั้งทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะเขตที่เป็นฐานเสียงเดิมของตนเท่านั้น

หมอวรงค์เปิดตัว "กลุ่มไทยภักดี" ชู 5อุดมการณ์ 3ข้อเรียกร้อง