posttoday

"จตุพร"ขอรอดูพรก.เงินกู้ฟื้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่

31 พฤษภาคม 2563

"จตุพร" ขอรอดู พรก.เงินกู้ ฟื้นเศรษฐกิจ สะกดความทุกข์ประชาชนได้จริงหรือไม่ และสังคมร่วมกันตรวจสอบ มองตั้งหรือไม่ตั้งกมธ.ตรวจสอบก็มีค่าเท่ากัน

เมื่อ 31 พ.ค. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ ว่า ถึงพรก.เงินกู้ที่มีการมีการปอภิปรายในสภาว่า ร่างพระราชกำหนดเงินกู้ 3 ฉบับคือ ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ 1 ฉบับ เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ฉบับ ในฉบับแรกนั้น เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้นถูกแบ่งให้กระทรวงสาธารณสุขไป 4.5 หมื่นล้านบาท ใช้เยียวยา 5.5 แสนล้านบาท และฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ส่วนอีก 2 ฉบับนั้นเป็นเรื่องของการติดตามกันว่า สุดท้ายแล้วจะเป็น พ.ร.ก.เพื่ออุ้มคนรวยให้เเข็งแรงอยู่รอด ส่วนคนที่ไม่รอด ก็ไม่รอดกันต่อไป

รายละเอียดอีก 2 ฉบับนั้น ตนเชื่อว่าระยะถัดจากนี้ไปพยานหลักฐานต่างๆ จากคนที่ไม่ได้ จะปรากฎว่าใครคือคนที่ได้บ้างในจำนวน 9 แสนล้านบาท แต่ที่นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลบางส่วนได้อภิปรายนั้น ทุกคนต่างเห็นว่างบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 4 แสนล้าน ที่เรียกว่าเงินผัน ประวัติศาสตร์เงินผันสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการเปรียบเหมือนแท่งไอติมกว่าจะไปถึงประชาชนก็เหลือแต่ไม้กับคราบความหวาน

ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลบางคนพยายามนำเสนอว่าควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อมาตรวจสอบการใช้เงินจำนวน 4 แสนล้านบาท ซึ่งหลายคนถามตนว่า มีความเห็นอย่างไรนั้น ส่วนตัวมองว่า ตั้งไม่ตั้งก็มีค่าเท่ากัน เพราะที่ตั้งขึ้นมานั้นในประวัติศาสตร์ทางการเมืองมองไว้ 2 เรื่องคือ ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา และขอแบ่งด้วย ซึ่งเป็นไปได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ตนหวังว่าเจตนาของการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบฯนั้นเพื่อการตรวจสอบ

ทั้งหมดคือการแสดง และไม่เชื่อว่าตั้ง กรรมาธิการตรวจสอบฯแล้วจะไม่มีการโกงเกิดขึ้น แต่เชื่อว่า ขบวนการตรวจสอบภาคประชาชนและโลกสื่อสารไร้พรมแดนจะมีพลานุภาพมากกว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการตรวจสอบฯ ดังนั้น จะมีหรือไม่มีกรรมาธิการตรวจสอบก็ตาม ต้องฝากความหวังไว้ที่ประชาชนและต้องเป็นหูเป็นตา เพราะเงินจำนวนนี้คือเงินของประชาชน คือหนี้ของประชาชน ที่ต้องเฝ้าติดตาม ตรวจและต้องกล้าที่จะพูด

นายจตุพร กล่าวว่า การกู้เงินรอบนี้ก็เพื่อจะรอกู้กันอีกรอบตอนพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2564 ซึ่งปีงบประมาณคือวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ก็ต้องกู้อีกหลายแสนล้าน เพราะการจัดทำงบประมาณแผ่นดินก็เป็นการจัดทำแบบงบประมาณแผ่นดินแบบขาดดุล และแน่นอนที่สุดในทางการเมืองคนที่ใช้เงิน กับคนใช้หนี้มักจะเป็นคนละคนกันเสมอ

ต่สิ่งที่กระทบต่อไปคือหากประเทศเกิดภาวะวิกฤตจากความหิวโหย และมีปรากฏการณ์การโหมโรงเป็นบางครั้ง แต่หลังจากนี้ไปเงินจำนวน 4 แสนล้าน จะไปสะกดคนหิวได้อย่างไร จะไปสะกดความทุกข์ยากของประชาชนได้อย่างไร ตนบอกได้เลยว่าเงินจำนวน 4 เเสนล้านนั้นหากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำก็ทำได้

แต่หากไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จะมาหยุดความเดือดร้อนของประชาชนเฉพาะหน้านั้น ตนไม่เชื่อว่าเงินจำนวน 4 แสนล้านที่ว่านี้จะไปสร้างอนาคตอะไรได้ เพราะภาวะการณ์ต่างๆไม่เอื้อว่า เงินจำนวน 4 แสนล้านที่ว่านี้จะไปฟื้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เเม้แต่นักธุรกิจที่ร่ำรวยมหาศาลยังบอกว่า นี่หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งหลายเท่า และทุกคนต่างก็รู้ว่าเป็นเพียงแค่ยาชาชั่วคราวเท่านั้น เพียงเพียงแต่จะฉีดกันตรงจุดได้หรือไม่ เนื่องจากปัญหารออยู่ข้างหน้าโดยเฉพาะในพรรคร่วมรัฐบาลก็รอปรับคณะรัฐมนตรี