posttoday

"มาดามเดียร์" หนุน"รัฐบาล"ทุ่มงบช่วย SMEs กู้รากฝอยเศรษฐกิจ

30 พฤษภาคม 2563

น.ส. วทันยา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. หนุน"รัฐบาล"ทุ่มงบช่วย SMEs กู้รากฝอยเศรษฐกิจ ห่วงเงื่อนไข พ.ร.ก.สินเชื่อซอฟท์โลน ทำแบงก์หนักใจไม่อยากปล่อยสินเชื่อ หวั่นเป็น NPL แนะนโยบายไหนได้ผลดันสานต่อในงบประจำปี

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. น.ส. วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอภิปรายอภิปราย ถึงพ.ร.ก. กู้เงิน 3 ฉบับว่า ธุรกิจ SME s เปรียบเสมือนรากฝอยของเศรษฐกิจที่ยึดโยงจนเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เพราะ ช่วยสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นหัวใจในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม และยังเป็นจุดเชื่อมโยงของช่องว่างระหว่างชนชั้นของสังคม และเป็นจุดเริ่มต้นของคนตัวเล็กทุกๆ คนที่ต้องเรียนรู้เพื่อเติบใหญ่ ดังนั้นมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนที่รัฐบาลและ ธปท. ได้ดำเนินการนั้นจึงนับเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตนเข้าใจถึงข้อจำกัดของรัฐบาลและ ธปท. ที่ต้องใช้เงินซึ่งถือเป็นเงินของงบประมาณแผ่นดินด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด จึงทำให้การออกกฎระเบียบจึงทำให้มีข้อจำกัดในการปฏิบัติหลายประการ ทำให้ SME ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวในปริมาณน้อย ไม่มากเท่าที่ควร

น.ส.วทันยา กล่าวว่าสาระสำคัญของพ.ร.ก. แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆด้วยกัน นั่นคือ 1. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลน 0.01% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กู้แล้วปล่อยสินเชื่อต่อไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ระยะเวลา 2 ปี เพื่อเป็นเงินทุนฉุกเฉินให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และช่วยบรรเทาภาระโดยให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบดอกเบี้ย 6 เดือนแรกแทนผู้ประกอบการ และธนาคารพาณิชย์งดเก็บค่าธรรมเนียมทุกประเภทในการขอสินเชื่อ และ2. มาตรการชะลอการชำระหนี้โดยให้อำนาจ ธปท. สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจชะลอการชำระหนี้และดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนโดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ หรือให้พูดง่ายๆ คือ ไม่ติดแบล็คลิสต์ในเครดิตบูโร

“จากที่สอบถามผู้ประกอบการหลายรายได้รับแจ้งจากธนาคารพาณิชย์ว่าวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลนของ ธปท. นั้น ปิดรับเพราะวงเงินสินเชื่อนั้นเต็มแล้ว แต่ทางธปท.ยืนยันว่ายังคงมีวงเงินเหลือสามารถกู้ได้อยู่ ก็คงต้องรอติดตามความคืบหน้าในการขอสินเชื่อนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่? แต่ในส่วนของผู้ที่ขอสินเชื่อแล้วได้รับการอนุมัติเรียบร้อย พบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ มีผลประกอบการดี ในอดีตธุรกิจมีสภาพคล่องจึงพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินน้อย เมื่อธุรกิจประสบปัญหาไวรัสโควิดต้องการกู้เงินจากโครงการ แต่ด้วยข้อกำหนดของ พรก. ในมาตรา 9 ที่กำหนดให้ปล่อยสินเชื่อได้ ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน ณ วันที่ ?31 ธันวาคม 2563 ?นั้น หลายรายจึงได้รับเงินกู้ไม่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ทดิฉันก็เข้าใจถึงเจตนาของ ธปท ที่ต้องการกำหนดเพดานวงเงินเพื่อให้เงินดังกล่าวถูกนำไปกระจายให้ผู้ประกอบการได้มากที่สุด ซึ่งข้อระมัดระวังเหล่านี้ หลายครั้งเรามักพบว่าในแง่ของการปฏิบัติจริงทำให้เกิดข้อติดขัดที่ทำให้การช่วยเหลือไม่สามารถไปถึงยังมือผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ”

อย่างไรก็ตามตนมีข้อกังวลในการปฏิบัติ คือธนาคารพาณิชย์ อาจยังมีแรงจูงใจไม่เพียงพอ หรือรายรับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงในอนาคตและในมาตรา 11 ของพ.ร.ก.ยังกำหนดให้กระทรวงการคลังช่วยชดเชยเงินกู้ส่วนหนึ่งหากเกิดหนี้เสีย หรือNPL ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ แต่มาตรา 10 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ ธปท. โดยมีเงื่อนไขต้องชำระคืนเงินกู้ภายใน 2 ปีพร้อมดอกเบี้ย หนี้เสียที่เกิดขึ้นเมื่อเลยวันครบกำหนดชำระจะตกเป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศและทั่วโลกต้องหยุดชะงักเช่นนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายประเภทธุรกิจนั้นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยอีก 1-2 ปีจึงจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้ การให้รัฐเป็นผู้ร่วมชดเชยหนี้เสียจึงไม่อาจคลายความกังวลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ SME ได้ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มประเภทที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ปกติถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้สำคัญของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการเห็นถึงประโยชน์ในการแบ่งเบาภาระต้นทุนทางการเงิน แต่ในมุมของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นองค์กรประกอบธุรกิจเพื่อแสวงผลกำไรนั้น อาจแตกต่างออกไป เพราะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของรายได้ต่อความเสี่ยงของภาระที่อาจตามมาในอนาคต ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ SME เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ในเวลาที่ต้องการ

ทั้งนี้ น.ส.วทันยา ได้ฝากข้อเสนอแนะคือในอีก 6 เดือนข้างหน้าเมื่อสินเชื่อต่างๆที่ได้รับการผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยและการชำระหนี้แล้ว ธปท. รัฐบาลควรหารือกับธนาคารพาณิชย์ และสอบถามความเห็นไปยังผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป เพื่อกำหนดมาตรการที่ชัดเจน รัดกุม ไร้ช่องว่างในการปฏิบัติหรือให้มีช่องว่างน้อยที่สุดในการเตรียมรับมือ หากยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะชำระดอกเบี้ยและสินเชื่อที่มีอยู่ แม้ในปัจจุบันได้มีข้อกำหนดเบื้องต้นจาก ธปท. ห้ามเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ในคราวเดียวกันทีเดียว แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวคงยังไม่เพียงพอในการรองรับปัญหาทั้งหมด

ตนเห็นด้วยกับเจตนารมย์ที่ดีของรัฐบาลและ ธปท. ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ก็ต้องพึงระวังถึงการใช้งบประมาณของประเทศ ซึ่งจากระเบียบดังกล่าวจะเห็นได้ว่า SME นั้นยังคงได้รับประโยชน์อยู่น้อย หวังว่าผู้ให้และผู้ปฏิบัติจะพยายามหามาตรการหรือทางช่วยเหลืออื่นๆเพิ่มเติม และในส่วนของเงินกู้จาก พ.ร.ก.“เราไม่ทิ้งกัน”ฉบับแรก วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ หากถูกนำมาว่าจ้าง SME เพื่อให้ สามารถดูแลลูกจ้างของตนเองให้เกิดการจ้างงานต่อไป ก็จะเป็นประโยชน์ในการใช้เงินอย่างยิ่ง หากนโยบายไหนที่ถูกนำไปใช้แล้วเป็นประโยชน์ก็ควรได้รับการสานต่อในการวางกรอบงบประมาณประจำปีต่อๆไปเพื่อให้เงิน 4 แสนล้านบาทที่เปรียบเหมือนหัวเชื้อนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด

“วันนี้ก็เป็นวันที่ 30 พ.ค. แล้ว ทุกคนในที่นี้ รวมถึงข้าราชการและลูกจ้างบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เมื่อวานคงจะได้รับเงินเดือนเพื่อไปชำระค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคล แต่ในทางกลับกัน เมื่อวาน(29 พ.ค.) คือวันที่ SME ที่ได้รับผลกระทบร้อนใจมากที่สุดอีกวันหนึ่ง ว่าเขาจะเอาเงินที่ไหนจ่ายเงินเดือนพนักงาน และภาระหนี้ต่างๆ ซึ่งพนักงานเหล่านั้นก็อาจจะเป็นพ่อ เป็นแม่ของเด็กสักคนหนึ่งที่กำลังรอค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งค่าอาหารสักมื้อ ทุกอย่างล้วนแต่เกี่ยวข้องอยู่ในสังคมไทยอย่างแยกไม่ออก และถ้าพวกเราที่อยู่ที่นี้มองเห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนเหมือนกัน ตนเชื่อว่าเราทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุน SME รวมถึงชีวิตเหล่านั้น”น.ส.วทันยากล่าว