posttoday

ศาลรธน.รับวินิจฉัยร่างพรบ.งบ63โมฆะหรือไม่ หลังสส.เสียบบัตรแทนกัน

29 มกราคม 2563

ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณ2563เป็นโมฆะหรือไม่ หลังส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณ2563เป็นโมฆะหรือไม่ หลังส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

ศาลรัฐธรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) จำนวน 3 คำร้องว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องทราบและให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส. นางสาวภริม พูลเจริญ ส.ส. และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 4 ก.พ.

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งความเห็นของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.และคณะ จำนวน 109 คน, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. และคณะ จำนวน 84 คน และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.และคณะ จำนวน 77 คน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องทั้ง 3 เรื่องแล้ว เห็นว่า 2 เรื่องแรก มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นประเด็นเดียวกัน จึงให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งสองคำร้องเป็นกรณีที่ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งความเห็นนั้นมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (1) จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ส่วนคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้วินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องของนายสมพงษ์ ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้เสนอความเห็นซ้ำกันจำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีไม่ถึง 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

สำหรับคำร้องของนายวิรัช และนายสมพงศ์ สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงว่าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 31 ถึงมาตรา 55 และการพิจารณาในวาระที่ 3 ขั้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ปรากฏชื่อ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ลงมติเห็นด้วย ทั้งที่ในระหว่างเวลาดังกล่าว นายฉลองอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง แสดงว่ามี ส.ส.ผู้อื่นนำบัตรของนายฉลองไปลงคะแนนแทน

นอกจากนี้ ในการลงคะแนนในวาระที่ 2 ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มี ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ ส่อให้เห็นพฤติกรรมว่ามีการลงคะแนนแทนบุคคลอื่นด้วย