posttoday

รับครม.สัญจรนราธิวาส 16 ปีไฟใต้ยังรอเจรจาสันติสุข

19 มกราคม 2563

16 ปีไฟใต้ เกิดความสูญเสียมากมาย ทั้งการก่อเหตุรุนแรงรายวันรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสิ้น 20,512 เหตุการณ์มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิต 7,085 ราย

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

20-21 ม.ค.นี้ รัฐบาลประเดิมประชุมครม.สัญจร ครั้งแรกประจำปี 2563 ที่จ.นราธิวาส พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และความสงบสุข

ตามกำหนดการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปพบตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้ง สมาคมชาวไทยเชื้อสายจีน 4 สมาคม รวมถึง ผู้นำทางศาสนา และประชาชนชาวไทยมุสลิมที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ทั้งในเขตเมือง และ เทศบาลเมืองสุไหงโกลก

เป็นหนึ่งในแผนสร้างความเข้าใจให้รู้ว่า ผู้นำรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเพิ่งครบรอบ 16 ปีเหตุการณ์ไฟใต้เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังเกิดการปล้นปืน 416 กระบอก ที่กองพันพัฒนาที่ 4 หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง วันที่ 4 ม.ค.2547 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นทางออกว่า จะยุติปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

16 ปีไฟใต้ เกิดความสูญเสียมากมาย ทั้งการก่อเหตุรุนแรงรายวันรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสิ้น 20,512 เหตุการณ์มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิต 7,085 ราย บาดเจ็บ 13,223 ราย  (ข้อมูลเดือนธ.ค.2562 จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้)   ขณะที่รัฐใช้งบประมาณแก้ปัญหาไปแล้วรวมกว่า 3 แสนล้านบาท

แม้แนวโน้มของจำนวนเหตุการณ์ในแต่ละปีจะลดลง แต่ความรุนแรงก็พัฒนาเป็นขนาดใหญ่ เช่น เหตุการณ์สะเทือนขวัญช่วงท้ายปี 2562ที่ผ่านมา  ที่กลุ่มผู้ปฏิบัติการโจมตีป้อม ชรบ.ที่ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา มีผู้เสียชีวิตถึง 15 คน

การเจรจาสันติภาพกับกลุ่ม มาร่า ปัตตานี และ บีอาร์เอ็น ยังเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปี 2556 แต่ก็ไม่คืบหน้า และหยุดชะงักไปเมื่อต้นปี 2562

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ เป็น พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562

พล.อ.วัลลภ เปิดตัวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยประกาศว่า ยังคงเดินหน้าเจรจาสันติสุข และเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นทางการจาก พล.อ.วัลลภ ว่าการเจรจาครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ฝ่ายความมั่นคงของไทยได้ประสานงานในทางลับกับรัฐบาลมาเลเซีย ให้ดึงกลุ่มบีอาร์เอ็น มาร่วมโต๊ะพูดคุยตลอด

มุมมองจากผู้ปฏิบัติงานและนักวิชการ ภาคประชาสังคม มองตรงกันว่า สถานการณ์ความรุนแรงลดลง แต่อยากให้รัฐเร่งเดินหน้าการพูดคุยเจรจาให้สำเร็จ

แม่ทัพภาค 4 มั่นใจคุมสถานการณ์ได้ ผู้ก่อการ หน้าซ้ำไม่เกิน 90 คนใน 3 จังหวัด

พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ซึ่งรับผิดชอบสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า จนถึงวันนี้มั่นใจว่า ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้ เพราะที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ แจ้งเบาะแสคนร้ายให้ทราบ อย่างล่าสุด การที่เจ้าหน้าที่สามารถตัวผู้ต้องหา 2 คน ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณยิงป้อมจุดตรวจชุดคุ้มครองตำบล3 ตลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ได้ ก็มาจากเบาะแสจากภาคประชาชน

แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในการทำงานของเจ้าหน้าที่เชื่อมั่นว่า จะไม่มีทางแพ้กลุ่มผู้ก่อการ เพราะวันนี้ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการความรุนแรง เราเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยเยอะมาก ไม่พอใจคนพวกนี้กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ หรือ กระทำต่อญาติพี่น้องเขา แต่เขาไม่มีทางออกเพราะเขากลัว

"ตอนนี้ผมให้เบอร์โทรของแม่ทัพภาค 4 แจกทั่วทุกหมู่บ้าน ตำบล มัสยิด โรงน้ำชา เพื่อต้องการให้คนที่ถูกข่มขู่จากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้มีทางออกอย่างปลอดภัยด้วยการโทรหาแม่ทัพ ผมมีความหวัง ขอแค่จังหวัดละ 10 คน ช่วยเป็นหูเป็นตาโทรแจ้งเบาะแส ขณะที่เราก็ตรวจสอบในพื้นที่อีกแรง รับรองปัญหาสงบแน่ ผมมั่นใจ"

ที่สำคัญ การทำงานในพื้นที่ เราได้ตั้ง “สภาสันติสุขระดับตำบล” รวมทั้งหมด 290 แห่งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอของจ.สงขลา ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาสังคมทุกกลุ่มเข้าร่วมเพื่อถามคนในพื้นที่ถึงแนวทางสร้างสันติภาพว่า ต้องการความสงบเหมือน 16 ปีที่แล้วที่ไทยพุทธมุสลิมมีความสุขอยู่ด้วยกันหรือไม่ หากจะพัฒนาจะทำอย่างไร ขาดแคลนเรื่องอะไร ปัจจุบันการสอบถามความเห็นผ่านไปแล้ว 40% พบว่า ทุกคนต้องการความสงบ โดยประมาณปลายเดือน ม.ค.หรือ ต้นก.พ. จะรับฟังความเห็นหมด เมื่อผลออกมา จะเปิดแถลง ถ่ายทอดไลฟ์สดทั่วโลกไปถึงสหประชาชาติเพื่อให้คนทั่วโลกรู้ว่า คน 2 ล้านคน แยกเป็น มุสลิม 1.8 ล้านคน ไทยพุทธ 2 แสนคน  ใน 3 จังหวัดภาคใต้ต้องการความสันติสุข ถือเป็นการปฏิเสธกลุ่มนอกประเทศได้  ลดความรุนแรง ไม่ต้องการให้เข่นฆ่ากัน

การคลี่คลายสถานการณ์ แม่ทัพภาค 4 บอกว่า ปัจจุบันเราพบว่า มีผู้ก่อเหตุจังหวัดละ 20-30 คน เป็นกลุ่มคนเดิมๆ ยังอยู่ในพื้นที่อยู่  และทำเหตุการณ์ซ้ำๆ  เช่น ปล้นปืน ปล้นทอง ปล้นตู้เอทีเอ็ม ยิงอส.  ส่วนใหญ่ 90% จะหลบซ่อนในหมู่บ้านกับเครือญาติ เราจึงให้ชุดจรยุทธ์เข้าไปกินนอนในหมู่บ้านเพื่อไล่เขาออกจากหมู่บ้าน ยกเว้นแถวนราธิวาสจะอยู่บนเขา บางส่วนอยู่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หนีข้ามฝั่งมาเลเซีย ตนก็ตามไปเข้มงวดที่ด่านเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อเหตุหนีข้ามพื้นที่

“ผมต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยขอการมีส่วนร่วมจากประชาชน ชผมให้เบอร์โทรทุกคน ถ้ากลุ่มไหน ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ผมก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย เกาะติด ไม่ให้เขากลับหลังหันมาก่อเหตุรวมกันได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมา ที่เราจับกุม มีเกือบ 2 หมื่นคนที่เข้าไปบำบัดยาเสพติด บางส่วนจับกุมแล้วได้ลูกหลานคืนมาแล้ว ศอ.บต.ก็เอาไปทำงาน

แม่ทัพภาค 4 ย้ำว่า การพูดคุยเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะการใช้อาวุธนำไปสู่ความรุนแรง  ตนเองในเป็นคณะพื้นที่ก็ทิศทางดีเราดูแลสร้างบรรยากาศเกื้อกูลให้เกิดการพูดคุยสันติภาพ ต้องไม่ฆ่า ไม่ยิงผู้บริสุทธิ์

นักวิชาการมีความหวัง จับตาเจรจาสันติสุขปี 63

 ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ ทิศทางการแก้ปัญหา ยังต้องจับตาที่การพูดคุยสันติภาพ ที่ดำเนินมาต่อเนื่อง ซึ่งถ้ากลุ่มบีอาร์เอ็นยอมพูดคุยด้วยก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามหาทางออกร่วมกัน แต่ถ้าไม่มีการพูดคุย ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งก็อาจเหมือนปี 2561-2562 ที่แม้เหตุการณ์จะลดลง แต่ก็มีเหตุใหญ่ๆเฉพาะเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า การเจรจาหาข้อยุติยังตกลงกันไม่ได้ ขณะเดียวกัน ที่ยังท้าทายคือ ภาครัฐต้องลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดจากความผิดพลาดในการเข้าแก้ปัญหาด้วย

ทั้งนี้ เห็นว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมา มันมีลักษณะควบคุมไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงอย่างเดียว ยังไม่คำนึงถึงปัจจัยสร้างสันติภาพ การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเท่าไร มิฉะนั้น ก็จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นช่วงๆ อย่างนี้อีก

ศรีสมภพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาที่เป็นด้านบวก คือ ปัญหาพื้นฐาน เชิงโครงสร้างในพื้นที่ การพัฒนา การกระจายได้ใน 3 จังหวัดได้รับการพัฒนาขึ้น รวมถึง ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้น เรื่องนี้ต้องทำต่อไป ต้องให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหา เพราะจะเป็นปัจจัยไปสู่การสร้างบรรยากาศสันติภาพ ได้

“การพูดคุยอย่างเป็นทางการแม้เริ่มในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็มีการพูดคุยแบบปิดลับ ไม่เป็นทางการ และเป็นทางการด้วยรวมเกือบ 20 ครั้ง กับกลุ่ม มารา ปัตตานีทั้งที่ประเทศมาเลเซีย และประเทศอื่นในแถบยุโรป แต่ผมอยากเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นการตกลงกับทุกฝ่าย ยิ่งตอนนี้เรามีปัจจัยใหม่ มีพรรคการเมือง นักการเมืองฝ่ายค้านรัฐบาล ที่จะมาช่วยจัดการจุดอ่อนของรัฐบาล ดังนั้นจึงอยู่ที่หัวหน้าคณะพูดคุยเจรจาคนใหม่ และการแสดงความเชื่อมั่น จริงใจต่อกันในการพูดคุยหาทางออก”

เขาบอกว่า 60-70% ของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มผู้ก่อเหตุโดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีพลังมากที่สุดและเกิดมายาวนานกว่า 50 ปี ยังเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยต่อรองกับรัฐบาลอยู่ ก็อยู่ที่ฝ่ายรัฐจะยอมรับเงื่อนไขในการร่วมกันในประเทศไทยได้หรือไม่

นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า แม้ปี 2562 สถิติการก่อเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่เหตุที่เกิดขึ้นล้วนรุนแรงทั้ง ยิงชรบ. 15 ศพ ทั้งนี้สถานการณ์ในปี 2563 น่าจะมีประเด็นเรื่องการต่อสู้ทางศาสนามากขึ้น เพราะช่วงปี 2562 มีเหยื่อภาคใต้เสียชีวิตที่มัสยิด ซึ่งถ้าจุดติดในพื้นที่ก็น่ากังวล  และที่น่าเป็นห่วงปัญหา ที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณียิงชาวบ้าน 3 ศพบนเทือกเขาตะเว จ.นราธิวาส ดังนั้น รัฐควรหามาตรการบางอย่างเพื่อทำให้ความรู้สึกเหล่านี้ลดลงในปีนี้เพราะอาจเกิดการตอบโต้กลับจากกลุ่มผู้ก่อการได้ ที่สำคัญ รัฐต้องเร่งเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะล่าช้า เพราะปัญหาทางการเมืองของไทย ที่ไม่มีเสถียรถภาพ และ ปัญหาทางการเมืองของมาเลเซีย

“หัวหน้าพูดคุยเจรจาจะต้องทำงานเต็มที่ และถ้ามีสัญญาณทางบวก เจ้าหน้าที่ก็นำสอดรับนำไปปฏิบัติให้ชัดเจน แน่นอนอาจมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้พรก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น แต่เราเห็นว่า กม.ฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลสถานการณ์ให้ได้ขึ้นได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องลดความแข็งกร้าว ถ้าไม่ลดก็จะมีปัญหาขึ้นอีก”

มีความหวังในสันติสุข ไม่เอาแบ่งแยกดินแดน

นายตายูดิน ออสมัน อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สถาบันราชภัฎยะลา ในฐานะที่ปรึกษาภาคประชาสังคม 3 จังหวัดภาคใต้หลายองค์กร กล่าวว่า สถานการณ์ภาคใต้ปี 2563 น่าจะดีขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพของสองฝ่ายระหว่างไทยกับแกนนำผู้ปฏิบัติการ ที่มีการพูดคุยไม่เป็นทางการหลายครั้ง โดยให้ทางมาเลเซียเป็นฝ่ายประสานงานช่วย จนทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดน้อยลง

นายตายูดิน กล่าวว่า วันนี้ทุกคนในสามจังหวัดภาคใต้ทั้งมุสลิม ไทยพุทธ ต่างอยากให้เหตุการณ์สงบเร็วๆ เพราะเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบมากมายหลายส่วน ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยว ไม่มีใครอยากมา ห่วงความปลอดภัย วันนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่เดินไปด้วยดี และประชาชนก็ต้องการทราบความคืบหน้าเรื่องการเจรจาสันติภาพว่าถึงไหน ทั้งที่ความจริงการเจรจาคืบหน้าไปมาก แต่รัฐไม่ประชาสัมพันธ์ คนในพื้นที่จึงไม่รู้ว่า รัฐจริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน เดินหน้า หรือ หยุดเจรจา ส่วนตัวคิดว่า รัฐอย่างเดียวทำคงไม่ได้ นักวิชาการ นักการศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ต้องช่วยกันสร้างสันติภาพ เพราะที่ผ่านมาเราเสียงบประมาณแก้ปัญหาภาคใต้เป็นจำนวนมากแล้ว

“เหตุการณ์รุนแรงลดลง แต่เหตุใหญ่ๆก็จะมีนานๆ ครั้ง ก็ต้องระวังเพราะถ้าเขา (ผู้ก่อเหตุ) สร้างผลงาน ก็ต้องทำให้ใหญ่ ทำเล็กๆทำไม่เป็น เรื่องนี้ประชาชนต้องช่วยกันสอดส่อง ต้องแจ้งผู้นำ เจ้าหน้าที่เป็นเบาะแสเพื่อให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลง” อาจารย์ประจำราชภัฎยะลา กล่าว

เช่นเดียวกับ นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลินิธิวัฒนธรรมอิสลาม ภาคใต้ กล่าวว่า เชื่อว่า สถานการณ์ในปี 2563 จะดีขึ้น น่าจะเห็นความหวังในการแก้ปัญหา ยอมรับว่า ภาคประชาสังคมในพื้นที่ไม่ค่อยเข้มแข็งเท่าไร บางคนก็มองว่าเป็นทหารเข้ามาคุม บ้างก็มองว่า ถูกชี้นำโดยคนรุ่นหนุ่มสาวที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมาทหารก็ปรับบทบาทและรับฟังคนในพื้นที่มาก มีกลไกให้คนในพื้นที่ได้ส่งเสียง เช่น  คณะกรรมการประสานงานพื้นที่เพื่อสร้างบรรยากาศการพูดคุย 

“วันนี้คนรุ่นผม อายุ 40 ขึ้น ไม่อยากเห็นความรุนแรง ไม่เอาเรื่องการปักธงเอกราช เราอยากเห็นการพัฒนาในพื้นที่ ถ้าสถานการณ์ไม่สงบก็กระทบกับหมด และปัญหาเศรษฐกิจ ทุกคนก็ต้องจ่ายเงินให้ลูกหลานเราไปเรียนหนังสืออยู่”

นายมันโซร์ ยังเห็นด้วยปัจจัยที่จะทำให้การแก้ปัญหาคือ การเจรจาสันติภาพซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องใช้เวลา ฝ่ายบีอาร์เอ็น บอกว่าไม่ไว้ใจรัฐ ฝ่ายรัฐก็ต้องสร้างความจริงใจให้กับบีอาร์เอ็น

นายวรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีต ส.ว.ปัตตานี กล่าวว่า เท่าที่สัมผัสประชาชน นักวิชาการ ยังมองไม่เห็นอนาคตของการสร้างสันติภาพ การเจรจาก็ไม่มีความคืบหน้ามีแต่ปกปิด งุบงิบ ถ้าสังเกตตั้งแต่แม่ทัพภาค 4 คนใหม่เข้ามา ก็มีแต่เหตุการณ์ความรุนแรงใหญ่ เกิดขึ้น ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอยู่ในมือของฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และ ข้าราชการประจำฝ่ายเดียว โดยที่ภาคประชาสังคมเหมือนจะไม่ค่อยมีส่วนร่วม ยังทำให้ภาคประชาชนในพื้นที่ไม่มีพลัง ขวัญกำลังใจที่จะก่อให้เกิดการสร้างสันติภาพ