posttoday

สภาถกงบปี63 "อุตตม" แจงปรับลดลง 16,231 ล้านบาท

08 มกราคม 2563

สภาถกงบประมาณ ปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน ด้าน "อุตตม" แถลงหลักการงบปี 63 ปรับลด 16,231 ล้านบาท อ้างอิงความจำเป็น และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ "ชวน"ย้ำห้ามเซลฟี่ นำอาหารเข้ามาในห้องประชุม

สภาถกงบประมาณ ปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน  ด้าน "อุตตม" แถลงหลักการงบปี 63 ปรับลด 16,231 ล้านบาท อ้างอิงความจำเป็น และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  "ชวน"ย้ำห้ามเซลฟี่ นำอาหารเข้ามาในห้องประชุม

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 ม.ค.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระสองและวาระสาม ตามที่กมธ.วิสามัญฯ ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายชวน ได้ย้ำเรื่องข้อปฏิบัติเรื่องขอความร่วมมือ ส.ส.การเดินตัดหน้าและเดินผ่านข้างหลังผู้ที่กำลังอภิปราย เนื่องจากดูไม่มีระเบียบวินัย รวมทั้งไม่ให้ถ่ายภาพเซลฟี่ตัวเองในระหว่างมีการอภิปราย และไม่นำเครื่องดื่มและนำอาหารเข้ามาในห้องประชุมสภา

ทั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน ได้ชี้แจงถึงข้อตกลงระหว่างวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านว่า หากจำเป็นใช้เวลาเพิ่มเติม เกินกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 2 วัน ระหว่างวันที่ 8 -9 ม.ค.ให้ไปต่อในวันที่ 10 ม.ค. ไม่เกินเวลา 12.00 น. ส่วนระยะการอภิปรายที่กำหนดไว้คนละ 7 นาทีนั้น อาจไม่เพียงพอ จึงขอให้ประธานสภา ใช้ดุลพินิจเพิ่มเวลาอภิปรายหาก ส.ส. อภิปรายในสาระที่เป็นประโยชน์ ด้าน นายชวนชี้แจงว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ส.ส.มีสิทธิอภิปรายได้ทุกคน ไม่สามารถห้ามได้ ที่ผ่านมาเคยกำหนดเวลา 5 นาที หรือไม่ได้กำหนดเวลาเลย แต่รอบนี้กำหนดไว้คนละ 5 นาที ซึ่งมีผู้เสนอคำแปรญัตติร่วม 4,000 คำแปรญัตติ หากคิดเวลา 24 ชั่วโมง หาก ส.ส.อภิปรายทุกคน จะใช้เวลารวม 16 วัน ดังนั้น ควรกำหนดกรอบเวลาอภิปรายไม่เกินคนละ 7 นาที ทั้งนี้ขอให้วิปแต่ละฝ่ายควบคุมเวลา เพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 ม.ค.นี้

เมื่อเข้าสู่วาระการประชุม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 แถลงชี้แจงสาระสำคัญ ในการพิจารณารายมาตราวาระที่ 2 ว่า ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปพิจารณาความจำเป็นในการใช้งบประมาณทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และส่งข้อมูลมาให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการมีมติปรับลดงบประมาณจำนวน 16,231 ล้านบาท โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ตลอดจนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยพิจารณาจากแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2562 ทั้งรายการที่มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ไม่ชัดเจน การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้เกิดการประหยัด เช่น การประชุมสัมมนา การจ้างเหมาบริการ การประชาสัมพันธ์ การเดินทางไปราชการต่างประเทศ และโครงการที่ดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และไม่สามารถใช้จ่ายได้ทัน ในปี 2563 หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่รายการจัดซื้อจัดจ้าง ต่ำกว่างบประมาณที่เสนอไว้ และรายการงบประมาณต่างๆ ที่สามารถปรับลดได้เช่น ค่าก่อสร้างตามค่าวัสดุก่อสร้าง ที่มีแนวโน้มลดลง โครงการรายการที่สามารถใช้งบจากแหล่งอื่น ทั้งเงินนอกงบประมาณ หรืองบประมาณที่สามารถจัดเก็บเองได้ รวมถึงเงินทุนหมุนเวียน

โดยเพิ่มงบประมาณให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานประกันสังคม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้หน่วยงานรับงบประมาณเหล่านี้ มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป และมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจำนวน 27 ล้านบาท ไปเป็นงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ย้ำว่าการปรับลดรายการเพิ่มงบประมาณได้ให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงานความซ้ำซ้อนของเป้าหมายการดำเนินงานผลการบริหารงานที่ผ่านมารายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญเพื่อให้สามารถดำเนินการตามกรอบงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท

สำหรับการแปรญัตติ มีการสงวนคำแปรญัตติตั้งแต่มาตรา 1 โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย แปรญัตติว่าควรบัญญัติถ้อยคำว่า (ฉบับออกไม่ทันปีงบประมาณ) ต่อท้ายชื่อร่างกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไม่ทันปีงบประมาณ 2563

โดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการชี้แจงว่า โดยปกติชื่อว่า พ.ร.บ.จะไม่มีการวงเล็บหรือขยายความต่อท้ายว่าออกทันหรือไม่ทันตามปีงบประมาณ ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ได้บัญญัติไว้ในหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายแล้ว โดยงบประมาณสำรองจ่ายที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมปี 2562 ให้ถือเป็นงบประมาณของปี 2563 แล้ว

จากนั้นที่ประชุมมีมติ 223 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 175 ไม่ออกเสียง 2 เสียงเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก