posttoday

โชว์นวัตกรรมDustboyแก้PM2.5ครบวงจร

18 ตุลาคม 2562

“สุวิทย์”เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ “Dustboy” ตรวจจับ PM2.5 การันตีคุณภาพฝีมือสตาร์ทอัพไทย แม่นยำ เรียลไทม์ คาดการณ์ล่วงหน้าแถมราคาประหยัด เตรียมขยายติดตั้งทั่วประเทศ 8,000 จุด โยงข้อมูลด้วยระบบ“บิ๊กดาต้า”

“สุวิทย์”เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ “Dustboy” ตรวจจับ PM2.5 การันตีคุณภาพฝีมือสตาร์ทอัพไทย แม่นยำ เรียลไทม์ คาดการณ์ล่วงหน้าแถมราคาประหยัด เตรียมขยายติดตั้งทั่วประเทศ 8,000 จุด โยงข้อมูลด้วยระบบ“บิ๊กดาต้า”

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 ในรายการ Government Weekly จัดขึ้นทุกวันศุกร์ เวลา 15.00 น. ผ่านทาง เพจ “ไทยคู่ฟ้า” สัปดาห์นี้ได้เชิญ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)มาร่วมพูดคุยถึงการจัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมเปิดตัวเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ Dustboy ที่สามารถวัดค่า PM2.5ได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สำคัญเป็นนวัตกรรมสตาร์ทอัพคนไทย ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช สุพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่านวัตกรรมใหม่ในการตรวจสภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ชื่อว่า Dustboy มีคุณสมบัติพิเศษ 3 ประการ คือ 1.สามารถวัดสภาพอากาศได้ “แม่นยำ” และ “เรียลไทม์” 2.สามารถพยากรณ์ หรือคาดการณ์สภาพอากาศได้ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งสามารถประเมินได้ว่าสภาพอากาศดังกล่าวจะเกิดขึ้นชั่วคราว หรือ ระยะเวลายาวนานเพียงใดเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันตัวของพี่น้องประชาชน และ 3.เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจาก “สตาร์ทอัพ” คนไทยผลิตขึ้นด้วยราคาย่อมเยาเพียงเครื่องละ 5 พันกว่าบาท ดังนั้นทางรัฐบาลจึงพร้อมสนับสนุนในการขยายผลให้มีการติดตั้งไปทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายไว้จากเดิมที่ติดตั้งอยู่แล้ว 800 จุดจะขยายเป็น 10 เท่า หรือ 8,000 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้เป็น Big Data ด้าน PM2.5ของประเทศ

“นวัตกรรมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้การสนับสนุนเต็มที โดยเน้นย้ำต้องขยายผลไปทั่วประเทศ เพราะเป็นความต้องการเร่งด่วน และ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่านวัตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลงานของสตาร์ทอัพคนไทย ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ที่สำคัญสามารถค้นหาสาเหตุของปัญหา PM2.5ว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ถูกจุด เช่น การเผาไหม้จากภาคเกษตร ฝุ่นควันมลพิษจากรถยนต์ หรือ การก่อสร้าง รวมถึงปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้าง เบื้องต้นจะใช้ 2 วิธี คือ 1.อาจมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก หรือ กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลโรงพยาบาล หรือ ท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เน้นติดตั้งในโรงเรียน และ โรงพยาบาล และ อาจจะจัดงบประมาณโดยเฉพาะของ อว. เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวให้ได้มาตรฐานและจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการ

อว.พร้อมปั่น “คน”รองรับศตวรรษที่ 21

ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการควบรวมกระทรวงใหม่ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้ และ นวัตกรรม เพราะพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ คือ “อุดมศึกษาสร้างคน คนสร้างองค์ความรู้ และ นำองค์ความรู้มาสร้างนวัตกรรม” โดยเป็นการทำงานบูรณาการทุกหน่วยงาน ภารกิจสำคัญ คือ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อรองรับการพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอยู่เสมอ การผลิตบัณฑิต หรือ คน ต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ดังนั้นการผลิตคนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อาทิ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นวัตกร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์แม่นยำ เกษตรแม่นยำ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ธุรกิจท่องเที่ยว หรือแม้แต่องค์ความรู้ใหม่ๆด้านอวกาศ หรือ กลศาสตร์ควอนตัม ในโลกยุคใหม่ต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนนวัตกรรมฉายรังสี “มะม่วง” ที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ภาคเอกชนต้องการให้ อว.วิจัยและคิดค้น เพราะความต้องการบริโภคมะม่วงในประเทศสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 3 พันล้านบาทต่อปี ถือเป็นการขยายตลาดการส่งออกและช่วยเหลือเกษตรกร ที่สำคัญไม่เฉพาะ มะม่วง เท่านั้นที่ต้องการงานวิจัยและพัฒนา แต่ทาง อว.กำลังศึกษาวิจัยการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง หรือ ปาล์มน้ำมันด้วยแนวคิด BCG โมเดล ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B คือ bioeconomy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C คือ circular economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

และ G คือ green economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น อว.สนับสนุน นักศึกษา ให้นำผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิต “ไบโอพลาสติก” ย่อยสลายได้ ซึ่งสกัดและทำมาจากกากมันสำปะหลัง ผสมกับกากกาแฟ มาทำเป็น “ถุงปลูกต้นไม้” ที่ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินและต้นไม้ได้ในคราวเดียว นับเป็นเป้าหมายสูงสุดของแนวคิด BCG ที่นายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนเพราะต้องการให้ BCG เป็นเศรษฐกิจใหม่มาพัฒนาประเทศ

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ดังนั้น อว.ถือเป็นกระทรวงที่ตอบโจทย์ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “เอสดีจี” ของประชาคมโลก เพราะ คือ หน้าที่โดยตรงของกระทรวงในการสร้างความเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการนำงานวิจัยและพัฒนามาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะสาเหตุความเหลื่อมล้ำ คือ โอกาสทางการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจากนี้ไปงานวิจัยต้องตอบโจทย์ในระดับ “เชิงพื้นที่” มากขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับชุมชน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎ หรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต้องมาช่วยกันเสริมความเข้มแข็งให้กับ “เศรษฐกิจฐานราก” หรือ Local Economy ด้วยการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)อย่างใกล้ชิดในการผลิตบัณฑิต และ ผลิตครูพันธุ์ใหม่

รัฐบาลชวน “ยืดอกพกถุงผ้า” ลดขยะพลาสติก

นอกจากนี้ในช่วงท้ายรายการ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ถึงกิจกรรมเคาท์ดาวน์ ดีเดย์ 1 มกราคม 2563 เครือข่ายห้างร้าน 46 แห่ง จะงดแจกถุงพลาสติก หรือ "ถุงก๊อบแก๊บ" ให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า เพราะเป็นขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single-Use Plastics เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมแคมเปญ “ยืดอกพกถุงผ้าออกจากบ้าน” ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน 67 ล้านคนมาร่วมมือกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ทะเล เนื่องจากขยะพลาสติกทั่วไปและถุงก๊อบแก๊บคิดเป็น 80% ของขยะบกที่ตกหล่นลงแม่น้ำลำคลองจากนั้นไหลสู่ทะเล ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน โลมา เต่า วาฬ ฯลฯ ที่กินถุงก๊อบแก๊บเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร

โชว์นวัตกรรมDustboyแก้PM2.5ครบวงจร