posttoday

"วัฒนา"ชี้เพื่อไทยโหวตผ่านพรก.โอนอัตรากำลังพลฯไม่เกี่ยวเรื่องประชาธิปไตย

17 ตุลาคม 2562

"วัฒนา" ระบุเห็นด้วยพรรคเพื่อไทยโหวตผ่านร่างพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ชี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

"วัฒนา" ระบุเห็นด้วยพรรคเพื่อไทยโหวตผ่านร่างพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ชี้ไม่เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.62 นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความแสกงความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 โดยมีเนื้อหาดังนี้

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร. 1 ทม.รอ.) และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร. 11 ทม.รอ.) มีภารกิจในการถวายการอารักขาและถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ แต่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในการบังคับบัญชาของกองทัพบก

ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดฐานะของส่วนราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์และพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การโอน ร. 1 ทม. รอ. และ ร. 11 ทม.รอ. ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาแต่ภารกิจยังคงเป็นเช่นเดิม

ส่วนเหตุที่จะออกเป็นพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ประกอบด้วย (1) เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ (2) ความปลอดภัยสาธารณะ (3) ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ (4) เพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งผมเห็นว่าภารกิจที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยถือเป็นเรื่องของประเทศและเป็นเรื่องสาธารณะ จึงเป็นเงื่อนไขที่จะออกเป็น พรก. ได้ แต่จะเป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่นั้น กฎหมายถือเป็นดุลพินิจและอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารที่อยู่นอกเหนืออำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญผมจึงไม่ขอก้าวล่วง

ดังนั้น สาระของเรื่องนี้มีเพียง 2 ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาและวิธีการในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาของ 2 หน่วยทหารดังกล่าวจะตรงและสั้นลงทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนวิธีการนั้นจะเสนอเป็น พรก. หรือ พรบ. ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างกัน นั่นคือเหตุผลผมเห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยยกมือผ่านพระราชกำหนดดังกล่าวเพราะไม่มีอะไรเกี่ยวกับการยืนข้างประชาชนหรือมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คนละเรื่องกันครับ