posttoday

"วราวุธ” รุกตั้ง “คณะทำงานพิเศษ” แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แบบเบ็ดเสร็จ

05 ตุลาคม 2562

รมว.ทส.อาสารับเป็นเจ้าภาพ แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แบบเบ็ดเสร็จ เสนอตั้ง “คณะทำงานพิเศษ” มีหน้าที่กำกับ และ ประสานความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

รมว.ทส.อาสารับเป็นเจ้าภาพ แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แบบเบ็ดเสร็จ เสนอตั้ง “คณะทำงานพิเศษ” มีหน้าที่กำกับ และ ประสานความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ในรายการ Government Weekly จัดขึ้นทุกวันศุกร์ เวลา 15.00 น. ผ่านทาง เพจ “ไทยคู่ฟ้า” ในช่วง “ไทยคู่ฟ้า โฟกัส” รายการใหม่ที่จะเชิญรัฐมนตรี หรือ ผู้บริหารระดับสูง มาร่วมพูดคุยในประเด็นร้อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน สัปดาห์นี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช สุพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หรือ PM2.5 กับ ปัญหาขยะทะเล

นายวราวุธ กล่าวว่าปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สถานการณ์ดีขึ้น เนื่องจาก 3 - 4 วันที่ผ่านมาเกิดฝนตกลงมาในพื้นที่ กทม.อย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณฝุ่นละอองที่เคยลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศลดลง แต่ยังไม่น่าไว้วางใ เพราะต้องเฝ้าติดตามสภาพความกดอากาศที่ลักษณะเป็นฝาชีครอบปกคลุมพื้นที่ กทม.ซึ่งอาจจะพาดผ่านเข้ามาอีกหรือไม่ เพราะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. ส่วนใหญ่เกิดจาก “ควันจากท่อไอเสียรถยนต์” และ “ฝุ่นละอองจากพื้นที่ก่อสร้าง” เป็นหลัก จึงต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชม.

นายวราวุธ กล่าวว่าปัญหาฝุ่นละอองในประเทศไทย เกิดใน 3 พื้นที่หลักๆ คือ 1.ภาคเหนือเกิดจากการลักลอบเผาไหม้ทางการเกษตร 2.ภาคกลางเกิดจากการปล่อยควันไอเสียรถยนต์และฝุ่นละอองที่เป็นเศษหินดินทรายจากการก่อสร้าง และ 3.ภาคใต้เกิดจากหมอกควันที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขและควบคุมได้ยากมาก สำหรับพื้นที่ กทม. ถือว่ามีการตื่นตัวในการป้องกันสูง เพราะประชาชนใส่ใจสุขภาพ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดปัญหา PM2.5 ที่มาเร็วในช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เดิมคาดการณ์ว่าปัญหา PM2.5 จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ในฐานะดูแลมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดตั้ง “คณะทำงานพิเศษ” ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อมาบริหารจัดการ ดูแล ควบคุม และ ป้องกัน ฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเป็นระบบและบูรณาการด้วยการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะเข้าไปดำเนินการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แตกต่างจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ให้อำนาจด้านการปกป้องปัญหาสิ่งแวดล้อม ถึงขั้นสั่งปิด หรือ สั่งหยุดกิจการที่เป็นต้นตอปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นคณะทำงานชุดนี้ จะเป็นหน่วยงานพิเศษที่มีหน้าที่กำกับ และ ประสานความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ ระดับครัวเรือน ควรหยุดการจุดไฟเผา ปิ้งย่าง หรือ จุดธูปเทียน ภาคเอกชนควรมีมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างที่เกิดการฟุ้งของฝุ่นละอองจากการขนอิฐหินปูนทราย ภาคขนส่งทั้งรถยนต์สาธารณะ หรือ รถยนต์ส่วนตัว ควรหันมาใช้ “ค่ามาตรฐานไอเสียยูโร“ จากยูโร 4 เป็น ยูโร 5 หรือ 6 รวมถึงรณรงค์ให้หันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ ไฮบริค โดยเฉพาะรถยนต์ในส่วนภาคราชการควรเป็นตัวอย่างในการนำร่อง รวมถึงต้องพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการตรวจสอบควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เนื่องจากปัจจุบันอุปกรณ์ยังไม่เพียงพอ หรือที่มีศักยภาพที่ไม่ทันสมัย แต่สิ่งสำคัญ คือ การปรับปรุงกฎหมายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน

“คณะกรรมชุดนี้ที่จะเกิดขึ้น ทาง คพ.ได้ประชุมกันเรียบร้อยแล้วจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อออกมาเป็นมติ โดยจะมีตัวแทนจากทุกหน่วย มาทำงานร่วมกัน เพราะ ทส.ไม่มีอำนาจ แต่จะทำหน้าที่ประสานงานเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหา PM2.5เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายวราวุธ กล่าว

รมว. ทส. กล่าวอีกว่า เบื้องต้นวางมาตรการรับมือฝุ่นละออง PM2.5 ไว้ 4 ระดับ ระดับแรก ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าปกติ ระดับสอง เกิน 50-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเฝ้าระวัง ระดับสาม หาก 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องมีมาตรการป้องกันสุขภาพประชาชน เช่น ปิดโรงเรียน หรือ ห้ารถยนต์วิ่ง และ ระดับสี่ หากเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าวิกฤต ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชุมหารือร่วมกันโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานบัญชาการแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน

นายวราวุธ กล่าวว่า อีกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ ขยะพลาสติก โดยในวันที่ 1 ม.ค.2563 จะเริ่มงดใช้ถุงพลาสติก นำร่องใน 43 เครือบริษัทค้าปลีกของภาคเอกชน ร่วมกับห้างสะดวกซื้อจะหยุดแจกถุงหิ้วพลาสติก หรือ “ถุงก๊อบแก๊บ” เพราะเป็นขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single Use เพราะหากมีการคัดแยกขยะ หรือ ทิ้งลงถังอย่างถูกต้องย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล แต่ปรากฎว่าขยะพลาสติกโดยเฉพาะ “ถุงก๊อบแก๊บ” ส่วนใหญ่ตกหล่นลงไปในแม่น้ำลำคลองจากนั้นไหลออกไปสู่ทะล คิดเป็น 80% ของขยะบกที่อยู่ในทะเล เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน โลมา เต่า วาฬ ฯลฯ ที่กินถุงก๊อบแก๊บ เข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร เพราะ แมงกะพรุนกับถุงก็อบแก็บแทบจะแยกกันไม่ออก ในที่สุดทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ล้มตาย ดังนั้นในปี 2564 จะ “แบนถุงก๊อบแก๊บ” ทั่วประเทศ เพราะถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการ พกถุงผ้า หรือ หิ้วปิ่นโต แทนหิ้วถุงก๊อบแก๊บ เพราะปัญหาใหญ่ของขยะพลาติก คือ “รักความสะดวกสบาย” จากการใช้ถุงพลาสติกโดยไม่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา

“ไม่ว่ารัฐบาล หรือ กระทรวงจะออกมาตรการดีเพียงใด แต่เป็นเพียงแค่การตบมือข้างเดียว แต่ถ้าประชาชนทั้งประเทศ 70กว่าล้านคน ไม่ให้ควาร่วมมือ ย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จ ทั้งปัญหา PM2.5 และ ปัญหาขยะทะเล เป็นปัญหาที่ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งจะแก้ได้ แต่เป็นปัญหาของคนไทยทั้งประเทศถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมมือกันทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น“ รมว.ทส. กล่าว