posttoday

รัฐบาลยืนยันเร่งช่วยน้ำท่วมอุบลฯเต็มที่ ย้ำใช้เงินบริจาคโปร่งใส

21 กันยายน 2562

รัฐบาลการันตีทุกภาคส่วนผนึกกำลังช่วยเหลือน้ำท่วม "อุบลราชธานี"เต็มที่ สั่งระดมสรรพกำลังผลักดันน้ำลงลำน้ำโขงให้เร็วที่สุด ย้ำ "เงินบริจาค" ทั้งหมดดำเนินการด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส

รัฐบาลการันตีทุกภาคส่วนผนึกกำลังช่วยเหลือน้ำท่วม "อุบลราชธานี"เต็มที่ สั่งระดมสรรพกำลังผลักดันน้ำลงลำน้ำโขงให้เร็วที่สุด ย้ำ "เงินบริจาค" ทั้งหมดดำเนินการด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เปิดเผยในรายการ Government Weekly จัดโดยสำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นทุกวันศุกร์ในเวลา 15.00 น.ผ่านทาง "เพจ" ไทยคู่ฟ้า ว่า แผนการทำงานเพื่อบรรเทาทุกข์แก่พี่น้องประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี มีแผนและขั้นตอนในการบูรณาการร่วมกันตั้งแต่ "ก่อน" เกิดเหตุการณ์ "ระหว่าง" เกิดเหตุการณ์ หรือ "หลัง" เกิดเหตุการณ์ มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก "ก่อน" เกิดเหตุการณ์ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร "เตือนภัย" จากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อเฝ้าระวังตั้งแต่ "พายุโพดุล" และ "พายุคาจิกิ" พร้อมกับประสานงานกับกรมชลประทาน เพื่อแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาจจะประสบภัยรุนแรง ต้องรีบแจ้งเตือนโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้า และ เตรียมตัวได้ทันท่วงที และพอ "เกิด" เหตุการณ์ จะระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือ และ ป้องกันเพื่อลดผลกระทบโดยเร็ว อาทิ การจัดเตรียมกระสอบทราย ปิดทางกั้นน้ำท่วม หรือ เปิดทางน้ำ และ ขุดลอกคูคลองเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้จัดเตรียมกำลังประจำ "จุดเสี่ยง" เพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยระดมกำลังจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และ ภาคเอกชน แต่สำหรับกรณีที่จังหวัดอุบลราชธานี ต้องยอมรับว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็น "จุดรับน้ำ" ทั้งแม่น้ำชี และ แม่น้ำมูล หลั่งไหลมาร่วมกัน ซึ่งทางภาครัฐได้สั่งเพิ่มกำลังเข้าช่วยเหลือสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2562 จนถึงวันนี้ประมาณ 3 สัปดาห์ และยังเติมกำลังเข้าไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัด "มวลน้ำ" ที่ไหลไปรวมที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหลัก อาจมีบางพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และ จังหวัดยโสธรน้ำท่วมอยู่บ้าง แต่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญจังหวัดอุบลราชธานีมากที่สุด เพราะเป็นจุดรวมน้ำ ชี มูล และ นำสาขาย่อยที่ไหลมารวมกัน ซึ่งต้องเร่งระบายลงล้ำน้ำโขงให้เร็วที่สุด

รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่าในการทำงานของ ปภ.กับหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ ได้มีการ "แบ่งพื้นที่" เพื่อดูแล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผนึกกำลังกับทางกองทัพ ตำรวจ อาสาสมัคร จิตอาสา และพลเรือน โดยมีการวางแผนร่วมกัน สำหรับแนวทางการทำงาน คือ กระจายกำลัง บันทึกข้อมูลว่าพื้นที่ใดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หรือ พื้นที่ใดยังไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยจะมีระบบสั่งการเป็นขั้นเป็นตอน จากนั้นจะร้องขอให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือด้านกำลังคนและเครื่องมือโดยเฉพาะอาสาสมัคร โดยจะมารายงานตัวที่ศูนย์บัญชาการฯถือเป็นหัวใจสำคัญในการประสานงาน แจ้งข่าว หรือ รายงานความคืบหน้าให้รัฐบาลรับทราบ

สำหรับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนสิ่งสำคัญอันดับแรก คือ 1.การบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่พักพิงหรือที่อยู่อาศัยต้องอำนวยความสะดวกสบาย และ 2.การ "บรรเทามวลน้ำ" เพราะจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจุดรับน้ำ จึงต้องเร่งพร่องน้ำลงลำน้ำโขงให้เร็วที่สุด โดยทุกหน่วยงานทั้งกรมชลประทานและกองทัพเรือเร่งระดมเครื่องผลักดันน้ำยิ่งขณะนี้ลำน้ำโขงลดลงต่ำกว่าตลิ่งจึงต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ วิกฤติ มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการโดยเร่งด่วน แต่ด้วยข้อจำกัด "ปริมาณพื้นที่" อันกว้างขวาง ทางภาครัฐจึงต้องตั้งศูนย์บัญชาการ ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ พร้อมกับเร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเชิงรุกโดยส่งเจ้าหน้าที่ไปตามพื้นที่ต่างๆ ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนจงมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกคนตั้งใจไปทำหน้าที่ ตลอดช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ระดมสรรพกำลังลงไป เป้าหมายเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง แม้จะยอมรับว่าอาจมี "บางจุด" ที่ยังให้ความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง ทางหน่วยงานภาครัฐจึงสั่งเพิ่มกำลังเข้าไปเสริม ดังนั้นทุกขั้นตอนทางหน่วยงานภาครัฐพยายามปิดช่องโหว่อยู่ตลอดเวลาด้วยการบูรณาการการทำงานกันทุกภาคส่วนตามบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

นายเชษฐา กล่าวว่าสิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ การให้ความช่วยเหลือเยียวยา ผู้ประสบภัย ภารกิจแรก คือ ต้อง "ช่วยชีวิต" พี่น้องประชาชนต้องมีปัจจัย 4 ครบถ้วนหน้า และ ต้องได้รับความปลอดภัยจากสถานที่พักพิง 40 จุด มีประชาชนเข้าพักพิง 2 หมื่นกว่าคน อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนที่ยังติดค้างอยู่ตามบ้านเรือนของตัวเอง แต่ทางภาครัฐไม่ได้ทอดทิ้ง พยายามเชื่อมต่อไฟส่องสว่าง ส่งอาหารเครื่องดื่มและยารักษาโรคเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน พร้อมกับเตรียมเพิ่มจุดพักพิง หากสถานการณ์ล่วงเลยไปถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้

อีกประเด็นสำคัญที่อยากแจ้งให้พี่น้องประชาชนรับทราบ ว่า ไม่ต้องเป็นห่วง หรือ กังวล คือ เงินบริจาค หรือ การช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ จะเป็นไปตามระเบียบราชการ ตั้งแต่กรณีมีผู้เสียชีวิต เครื่องมือประกอบอาชีพชำรุดเสียหาย บ้านเรือนพังเสียหาย พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ หรือ ปศุสัตว์ รวมถึงจะครอบคลุมไปถึงการดูแลต่างๆที่จะเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เช่น การช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายเพื่อลงพื้นที่สำรวจ อย่างไรก็ตามขณะนี้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ดังนั้นพื้นที่ใดที่ประชาชนเห็นว่าความช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึงของให้แจ้งมายังปภ.โดยเร็ว

นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าหลักการใช้เงินของ "กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี" กำเนิดจากแนวคิดที่ต้องการให้หน่วยงนภาครัฐเป็นหน่วยงานกลาง ในการ "รับบริจาค" และ "บริหารจัดการ" เงินกองทุนไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ผู้บริจาค กองทุนดังกล่าวได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกภาคของประเทศอย่างทั่วหน้าและทั่วถึง หลักการช่วยเหลือ ดังนี้ กรณีเสียชีวิต จะจ่ายทายาทให้เป็นการเร่งด่วนเพื่อเป็นค่าจัดทำศพ รายละ 5หมื่นบาท ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีบ้านเสียหายพังทั้งหลังช่วยเหลือ 2.3 แสนบาท หรือ เสียหายหนัก 7หมื่นบาทต่อหลัง หรือเสียหายเล็กน้อยช่วยเหลือ 1.5 หมื่นบาท โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะไป "ร่วมสมทบ" กับเงินภาครัฐที่ได้ช่วยเหลือปกติ เสริมจากงบประมาณแผ่นดินเดิม นอกจากนี้ยังเตรียมช่วยเหลือเป็นค่าอุปโภคบริโภค ค่ายารักษาโรค หรือ เงินทุนเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีการพิจารณาอนุมัติต่อไป ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่มีจิตศรัทธาอยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ บริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา เลขที่บัญชี 067-0-06895-0 โดยผู้บริจาคสามารถนำหลักฐานไปใช้แสดงหารลดหย่อนภาษีได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2283 4318 24 เงินดังกล่าวรัฐบาลยืนยันว่า เงินบริจาคทั้งหมดดำเนินการด้วยความเป็นธรรมและโปร่ใส ตามเจตนารมณ์ผู้บริจาคทุกประการ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ผู้ตรวจการพิเศษ ประจำสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวว่า จิตอาสา ของศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ได้เข้ามาทำหน้าที่ช่วยประสานงานกับภาครัฐ และ เอกชน โดยจัดตั้ง "โรงครัวพระราชทาน" ในจุดที่ประชาชนมีความเดือดร้อนด้วยการปรุงอาหารสดแจกจ่ายพี่น้องประชาชน 3 มื้อตลอดทั้งวัน พร้อมช่วยดูแลประสานงานและเตรียมการในด้านต่างๆเสริม เช่น ด้านสุขภาพ ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงของพี่น้องเกษตรกร เช่น ยารักษาโรค หรือ หญ้าแห้ง เป็นการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างครบวงจร ทั้งอาหาร ยารักษาโรคทั้งคนและสัตว์ พร้อมกับติดตามข่าวสารต่างๆที่เป็นความเดือดร้อนและความช่วยเหลือของพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด