posttoday

คนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยใหม่ (1)

07 กันยายน 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************************

คนรุ่นใหม่กำลังคิด “ข้ามหัว” คนรุ่นเก่า

“ประชาธิปไตยใหม่” คือแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่คิดจะ “ก้าวข้าม” คนรุ่นเก่า ภายใต้วาทกรรม “ไม่เอาของเก่า” ที่หมายถึงหลายๆ สถาบันที่คนรุ่นใหม่เห็นว่า “เก่าเกินไป” สำหรับ “สังคมใหม่” ของพวกเขา ที่คิดอยากจะทำอะไรเอง อยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ที่รวมถึงการสร้าง “การเมืองใหม่” ภายใต้แนวคิดเรื่อง “ ประชาธิปไตยใหม่” ดังกล่าวนั้น

เมื่อกรุงเทพฯมีอายุ 103 ปี ใน พ.ศ. 2428 มีเจ้านายกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า “กลุ่มก้าวหน้า” ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ ทรง “ปรับปรุง” การปกครองบ้านเมือง “ให้เป็นดังประเทศอารยะ” โดยมีข้อเสนอแนะที่ “กล้าหาญที่สุด” ก็คือ การเสนอให้ “จำกัดพระราชอำนาจ” โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างที่เรียกว่า Constitutional Monarchy ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่าทรงเห็นด้วย

แต่คงยังทำไม่ได้เนื่องจากคนไทยยังไม่พร้อม ทั้งนี้ได้ทรงมีพระราชดำริและทรงปรับปรุงบ้านเมืองในหลายๆ เรื่อง อันแสดงถึงความตั้งพระทัยจริงที่จะทำบ้านเมืองให้เป็น “อารยะ” แม้ที่สุดก่อนที่จะสวรรคต พระองค์ยังได้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์และผู้เข้าเฝ้าฯว่า “เราจะให้ลูกวชิราวุธ(รัชกาลที่ 6)ให้รัฐธรรมนูญกับคนไทย”

เมื่อรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชได้หนึ่งปี ใน พ.ศ. 2454 คณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า “ยังเติร์ก” เพราะส่วนใหญ่เป็น “ทหารหนุ่ม” คือเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกมาเมื่อปี 2452-2454 นั้นเป็นส่วนใหญ่ ได้คบคิดกันที่จะลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 6 พร้อมกับเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ แต่ความเกิดแตกเสียก่อนเพราะเรื่องได้ล่วงรู้ไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียก่อน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณทรงลดโทษให้ผู้ที่ถูกประหารชีวิต 3 คนให้เหลือเป็นจำคุก ตลอดชีวิต ที่ถูกตัดสินว่าให้จำคุกตลอดชีวิต 20 คนก็ลดโทษให้เหลือเพียง 20 ปี

นอกนั้นอีก 68 คน ที่มีโทษต่ำกว่า 20 ปีลงไปก็ให้ลดโทษเหลือแค่รอลงอาญาและให้รับราชการได้ต่อไป ต่อมาในคราวพระราชพิธีฉัตรมงคลที่รัชกาลที่ 6 ทรงครอง ราชมาได้ 15 ปี ใน พ.ศ. 2467 ก็ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ทุกคนพ้นมลทิน ซึ่งสังคมไทยก็คาดการณ์ว่าพระองค์กำลังมีพระราโชบายที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เกิด ขึ้นในเร็ววัน แต่ในปลายปี 2468 ก็เสด็จสวรรคต ในขณะที่ “พระราชกรณียกิจ” ยังไม่แล้วเสร็จ

เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงขึ้นครองราชต่อมา พระองค์ก็ทรงตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่ได้ให้ที่ปรึกษากฎหมายชาวอเมริกัน คือนายฟราน ซิส บี. แซร์ และพระยาศรีวิศาลวาจา ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาคนละฉบับเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัย และจะให้มีรัฐธรรมนูญใช้เพื่อเฉลิมฉลองวาระ 150 ปีกรุงเทพฯ ในวันที่ 6 เม.ย.2475 ซึ่งได้เริ่มร่างในตอนต้นปีนั้น

แต่ยังไม่เป็นที่พอพระทัยเพราะทั้งสองฉบับยังให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์มากเกินไป จนกระทั่งคณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจในวันที่ 24 มิ.ย. อันเป็นที่น่าเสียดาย ว่าประเทศไทยได้เสียโอกาสที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะภายใต้การปกครองของคณะราษฎรเองก็ไม่ได้คิดที่จะสร้าประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมา เพราะอำนาจทั้งหลายยังคงอยู่ที่คณะราษฎรอย่างเต็มที่ อันนำมาซึ่งการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในวันที่ 2 มี.ค.2478 ดังที่ทรงมีพระราชหัตถเลขากล่าวตำหนิคณะ ราษฎรอันเป็นที่รู้จักกันดีในข้อความที่ว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดย เฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร... ...บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ใน นโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป”

อนึ่ง คณะราษฎรนี้ก็คือ “คนรุ่นใหม่” ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ได้ไปศึกษายังต่างประเทศ และได้ไปซึมซับเอาแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้ามา โดยมี ความแตกต่างกับคณะเจ้านายที่ถวายคำกราบบังคมทูลใน ร.ศ. 103 ที่ว่าคณะเจ้านายนั้นมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้ายู่หัวค่อนข้างมาก เพราะบาง พระองค์ก็เป็นพระราชญาติโดยตรง และการถวายคำกราบบังคมทูลก็เป็นอย่างนอบน้อม ด้วยความจงรักภักดี

แต่คณะราษฎรนั้นประกอบด้วยข้าราชการระดับกลางที่ทีความคิดรุนแรง ไม่ต่างอะไรกับคณะกบฏใน ร.ศ. 130 ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรุนแรง รวม ถึงแนวคิดที่จะไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจใดๆ แม้ว่าในตอนที่ยึดอำนาจได้แล้วจะพยายามประนีประนอมกับพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่ก็ต้องแก้ไขไปเช่นนั้น เพราะสังคมไทยยังไม่ยอมรับ “สภาวะไร้กษัตริย์” และด้วยความกลัวที่คณะราษฎรมีต่อพระมหากษัตริย์ ที่สุดก็พยายามที่จะสร้างเกราะป้องกันเพื่อคุ้มครองและรักษา อำนาจของพวกตนไว้ไม่ให้เป็นอันตราย จนกระทั่งคณะราษฎรนั้นเองได้กลายเป็น “สิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง” อย่างที่คนในสมัยนั้นเรียกว่า “เจ้าพวกใหม่”

บทความนี้มีความประสงค์จะเล่าถึง “พัฒนาการของคนรุ่นใหม่” ในสัมพันธภาพหรือความเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เพื่ออธิบายถึงพัฒนาการที่มีความสืบ เนื่องมาอย่างยาวนาน จนถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 เพื่อไปสู่บทสรุปในท้ายที่สุดว่า คนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้แสดงบทบาททางการ เมืองอย่างไร และจะส่งผลต่ออนาคตของการเมืองไทยอย่างไร

เพราะคนเหล่านี้จะ “ปกครอง” ประเทศไทยต่อไป

**********************************