posttoday

สมชัย - กษิต - โคทม ร่วมแจม"อนาคตใหม่"ไม่เอารธน.ฉบับคสช.

04 สิงหาคม 2562

"อดีตกกต." ชี้อยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน

"อดีตกกต."ชี้อยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 62  ที่พุทธสถานเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายกษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมเสวนา”จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหน ที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” ทั้งนี้การจัดเสวนาดังกล่าวเป็นไปตามแคมเปญรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่พรรคอนาคตใหม่ได้แสดงความตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง

นายกษิต กล่าวว่า ปัญหาของการเมืองไทย ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2475 ที่ต้องการเป็นสังคมประชาธิไตย แบบเสรีนิยม คือ ทัศนคติ และค่านิยมของสังคมไทย ในเรื่องอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์ ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งคนไทยมีสถานะเป็นราษฎร เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา จึงมีความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ วาสนา บารมี และเงินทอง ทำให้มีระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองเป็นลักษณะส่วนตัว ความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย จึงถูกทำให้อ่อนลงไป 

“ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะกรณีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองโดยที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับการให้ผู้นำเหล่าทัพมีตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่ให้ข้าราชการประจำ มีตำแหน่งในสภา” นายกษิต กล่าว 

นายกษิต กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นระบุเหมือนกันในรัฐธรรมนูญ คือ 1.ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย เป็นอื่นไม่ได้ 2.ฉีกรัฐธรรมนูญไม่ได้ 3.เน้นที่ สิทธิ และความรับผิดชอบของทุกชนชั้น 4.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐอย่างโปร่งใส 5.เป็นรัฐเดียวโดยแบ่งแยกไม่ได้ หรืออย่างในสวิตเซอร์แลนด์ จะมีการทำประชามติปีละ 3-4 ครั้งในประเด็นใหญ่ๆ โดยรัฐบาลจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อน 3 เดือน พร้อทั้งมีการนำเสนออย่างกว้างขวาง และมีการดีเบตออกสื่อ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ช่วยประกอบการตัดสินใจของประชาชน

“ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ต้องมีประเด็นเหล่านี้ใส่ไปให้ครบ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่คู่มือในการบริหารราชการ อย่างรัฐธรรมนูญปี 60 นั้น เป็นคู่มือการบริหารราชการทำเหมือนว่า คนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องปัญญาทึบ อย่างยิ่ง ถึงมีการกำหนดว่า จะต้องทำอะไรต่อไปในอนาคต แต่ต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน การจะดึงดันไม่ว่าจะใช้รถถังหรือ เสียงข้างมากในรัฐสภานั้นก็เป็นเผด็จการพอๆกัน” นายกษิต กล่าว 

นายสมชัย กล่าวว่า ความขัดแย้งในประเทศไทย เกิดมาจากประการแรกคือ นักการเมืองชี้นำประชาชน ประการต่อมาคือ ชนชั้นนำในสังคม ใช้ข้ออ้าง ในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ที่นำไปสู่ความขัดแย้ง จนทำให้ประชาชนเข้าสู่ความขัดแย้งด้วย ขณะที่ประชาชนเอง ก็มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องรู้ทันการเมืองด้วย ประการต่อมา คือ เทคโนโลยี การแพร่กระจายของข่าวสาร รวมทั้งระบบอัลกอริธึ่มในการกลั่นกรองข้อมูลให้กับเรา โดยเฉพาะข้อมูลซ้ำๆ สิ่งสำคัญคือ นักการเมืองต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายตรงข้าม ในส่วนของชนชั้นนำนั้นคงเปลี่ยนแปลงยาก แต่ในส่วนของประชาชน นั้นต้องมีการกลั่นกรองข้อมูล รับฟังฝ่ายอื่น ในมุมที่กว้างขึ้น เพื่อให้รู้ว่าข้อมูลข่าวสารไม่ได้มีซีกเดียว ในส่วนของเทคโนโลยีนั้น เราไม่สามารถไปแตะต้องได้ แต่เราสามารถรู้ทันมันได้

"เมื่อมีการพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่เห็นตรงข้ามก็จะบอกว่า ต้องแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ผมบอกเลยว่า หากจะแก้ปัญหาปากท้อง ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพื่อให้ระบบการเมืองอยู่บนฐานประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำให้คนกลุ่มนึงอยู่ในอำนาจต่อไป" อดีต กกต. กล่าว  

นายโคทม กล่าวว่า ในสถานการณ์แบบนี้ประเทศไทยมีแต่บอบช้ำ ซึ่งในช่วงที่ คสช.บอกว่าเราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งยังทำได้ไม่ไกลนักแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเราจะโตที่ 3% แต่เราก็เป็นที่สุดท้ายของอาเซียน

ขณะที่ช่องว่างระหว่างรายได้ และการถือครองทรัพย์สินของคนจนและคนรวยก็ยังมากอยู่ดี หากเราไม่รวบรสวมทรัพยากรจากคนทุกชนชั้น มาร่วมขับเคลื่อน เราก็ยังคงติดขัดอยู่อย่างนี้ นอกจากนี้ยังมีกับดักทางการเมือง อย่างการตั้ง ส.ว. ที่ต้องทำหน้าที่ตัดสินใจแทนปวงชนชาวไทย แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่การตัดสินจะมีคุณภาพ โดยไม่ติดกับชุดความคิดแบบราชการ ซึ่งการแบ่งขั้ว ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนจะเสียประโยชน์ และผุู้ที่ได้ประโยชน์คือ ผู้ที่อยากจะคงสถานะอำนาจของตนไว้ ทั้งอำนาจการเมือง อำนาจการประกอบธุรกิจ และการควบคุมประชาชนผ่านระบบราชการ

นายโคทม กล่าวต่อว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีความงดงาม ตั้งแต่การเริ่มต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ก่อนอื่นต้องคิดกว้างๆก่อน นั่นคือ ตนอยากเห็นอำนาจจรัฐมาจากมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพเจ้า เพราะผมเชื่อว่า มนุษย์มีความดีเป็นพื้นฐาน และผมคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญจะช่วยปลูกฝังประชาธิปไตยที่มีปัญญาญาณ ช่วยสร้างสังคมเกื้อกูลกัน ส่งเสริมความคิดใหม่ๆ การแข่งขันเสรี ที่ไม่เอาเปรียบกัน

โดยในช่วงเริ่มนั้นขอให้เป็นไปอย่างช้าๆ โดยมีอนุกรรมการสื่อสารกับสังคม ว่าชอบหรือไม่ชอบ ส่วนไหนในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่าง ขณะเดียวกันทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านต้องมีการหารือร่วมกันถึงประเด็นดังกล่าว ขณะที่ฝ่ายธุรกิจและภาคประชาสังคม นั้นต้องมีส่วนร่วมที่พอดี ไม่ใช่การลากจูงไปในทางหนึ่งทางใด