posttoday

"สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" เสียชีวิตอย่างสงบ

27 กันยายน 2560

อดีตอาจารย์คณะอักษร จุฬาฯ "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" วัย 61 ปี คนเดือนตุลา นักวิชาการเสื้อแดง เสียชีวิต ที่ รพ. จุฬาฯ

อดีตอาจารย์คณะอักษร จุฬาฯ "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" วัย 61 ปี คนเดือนตุลา  นักวิชาการเสื้อแดง เสียชีวิต ที่ รพ. จุฬาฯ

เมื่อเวลา 27 ก.ย. มีรายงานว่า ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อายุ 61 ปี  อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อเวลา 08.33 น.ที่ผ่านมา ด้วยอาการติดเชื้อในปอดจากโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยจะมีพิธีรดน้ำศพวันนี้ เวลา 14.00 น. ตึกพยาธิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งศพสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.  – 1 ต.ค. 2560 ที่วัดหัวลำโพง ศาลา 2

ผศ.ดร.สุธาชัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จบปริญญาโท อักษรศาตรมหาบัณฑิต เอกประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาเอก ด้วยทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกประวัติศาสตร์โปรตุเกส จากมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร

ผศ.ดร.สุธาชัย มีชื่อเรียกในหมู่คนเดือนตุลา และฝ่ายซ้ายว่า “สหายสมพร” หรือรู้จักในหมู่เพื่อนฝูงกลุ่มหนึ่งว่า “ยิ้ม” หรือ “เจตน์” ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2554 ผศ.ดร.สุธาชัย เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. พ.ศ. 2549 และมีความเห็นตรงกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) รวมทั้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวและขึ้นเวทีปราศรัย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ขอประกันตัว น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องหาถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2551 ต่อมา ผศ.ดร.สุธาชัยก็ได้กลายเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่รณรงค์ให้ยกเลิก มาตรา 112

และหลังการยุติการชุมนุมของ นปช. พ.ศ. 2553 ผศ.ดร.สุธาชัยถูกควบคุมไปที่ค่ายอดิศร ศูนย์กลางทหารม้า จังหวัดสระบุรี พร้อมกับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงทักษิณ ด้วย ในข้อหาจัดการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผิดต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ต่อมา ได้รับการปล่อยตัว และถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

นอกจากนี้ ในเดือนพ.ค. พ.ศ. 2553 ยังได้ยื่นฟ้องต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นจำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยที่ 2 และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นจำเลยที่ 3 ในคดี ผังล้มเจ้า ซึ่ง ศอฉ.สร้างขึ้น ผลของคดีนำมาซึ่งการยอมความในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดย พ.อ.สรรเสริญยอมรับว่า ข้อหาล้มเจ้า ตั้งขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่า ขบวนการล้มเจ้ามีจริง ส่วนบุคคลที่ปรากฏชื่อในผัง ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในขบวนการล้มเจ้า เพียงแต่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น

หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถูกเรียกตัวด้วยคำสั่งที่ 44 ของ คสช.ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิ.ย. พ.ศ. 2557 แต่ไม่ได้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด