posttoday

สปช.135เสียงโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

06 กันยายน 2558

ที่ประชุมสปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบ 135เสียง เห็นชอบ 105 เสียง งดออกเสียง 7

ที่ประชุมสปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบ 135เสียง เห็นชอบ 105 เสียง งดออกเสียง 7

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. เวลา 10.16น.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เปิดประชุมสปช.เพื่อให้สมาชิกสปช.ลงมติว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ นายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่าการประชุมในวาระนี้จะไม่มีการเปิดโอกาสให้สมาชิกสปช.อภิปราย แต่จะดำเนินการลงมติทันทีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557ว่าด้วยการกำหนดว่าเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะใช้วิธีการลงคะแนนเปิดเผยด้วยวิธีการขานชื่อทีละคน

จากนั้นได้เข้าสู่การให้สมาชิกสปช.ใช้สิทธิ์ลงมติในร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังใช้เวลาในการขานชื่อสมาชิกสปช.เป็นรายบุคคลประมาณ 45 นาที ปรากฏว่าที่ประชุมสปช.มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 135 คะแนน โดยมีเสียงเห็นชอบจำนวน 105 คะแนน และงดออกเสียงจำนวน 7 คน

นายเทียนฉาย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในเมื่อสปช.ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ สปช.จึงไม่ต้องพิจารณาคำถามประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 และสมาชิกสปช.ต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสปช.ไปโดยปริยาย

"ขอขอบคุณที่ทุกคนร่วมกันทำงานมานานกว่า 11 เดือน จากวันนี้ไปจะไม่มีการประชุมอีกแล้ว และเจ้าหน้าที่ได้จัดทำเอกสารสรุปสาระสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ขอให้ทุกคนเอากลับไปด้วย"  นายเทียนฉาย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ภายหลังสปช.ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คนภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่สปช.ลงมติไม่เห็นชอบ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีเวลาร่างรัฐธรรมนูญ 180 วัน จากนั้นต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ดำเนินการจัดให้มีการทำประชามติอีกครั้ง นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.จะตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศจำนวน 200 คนภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่สปช.สิ้นสภาพ

สำหรับสมาชิกที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มทหารและกมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ นายชัย ชิดชอบ นายดิเรก ถึงฝั่ง นายวันชัย สอนศิริ พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เป็นต้น

ด้านสมาชิกสปช.ที่เห็นชอบส่วนใหญ่มาจากกมธ.ยกร่างฯที่เป็นสปช.จำนวน 20 คน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสปช.ที่เป็นอดีตสว.และกลุ่มภาคประชาชน เช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นต้น

ขณะที่ สมาชิกสปช.ที่งดออกเสียงจำนวน 7 คน  ประกอบด้วย 1.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 2.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. 3.น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่2  4.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯ 5.นายอำพล จินดาวัฒนะ 6.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ และ7.นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี