posttoday

ถอดแนวคิด 3 SME กับจุดเริ่มต้นสู่ BCG โมเดล

18 พฤษภาคม 2567

ซีเอ็มดับบลิว ฟู้ด ซัพพอร์ต -จีเอฟ แมนูแฟคเจอริ่ง-คุณากิจอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ 3 SME ดาวเด่น เปิดเคล็ดลับการเริ่มต้นปรับธุรกิจสู่ BCG โมเดล รับเทรนด์ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ถาดใส่อาหารย่อยสลายเองใน 45 วัน

วิทวัส ประจันตะเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มดับบลิว ฟู้ดส์ ซัพพอร์ต จำกัด ผลิตและจำหน่าย เนื้อสัตว์ตัดแต่ง กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการ BCG โมเดล กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทมีแพ็คเกจจิ้ง ซึ่งแต่เดิมเป็นโฟม กลายเป็นแพ็คเกจที่สามารถย่อยสลายเองได้ภายใน 45 วัน ด้วยวัสดุที่ทำจากชานอ้อย 

ถอดแนวคิด 3 SME กับจุดเริ่มต้นสู่ BCG โมเดล

ตอนนี้สภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมาก เราสามารถรู้สึกได้ว่า โลกเปลี่ยนไปจริงๆ จาก global warming สู่ global boring เรียบร้อยแล้วการ ที่เราเริ่มทำอะไรสักอย่างแม้เราเป็น SME แต่เราก็ต้องการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยขอเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้บริโภคของเราได้เริ่มรณรงค์เรื่องการเลือกใช้สินค้า ที่สามารถย่อยสลายได้ ลดการใช้โฟม หรือ พลาสติกได้มาก

ธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบจากโลกร้อนอย่างมาก เพราะห่วงโซ่ในอุตสาหกรรมอาหารเริ่มมีผลผลิตน้อยลง วัวโตช้า ไก่ไข่น้อยลง และต่อไปปัญหานี้จะไม่ใช่ปัญหาแค่ระดับประเทศ แต่จะเป็นเป็นปัญหาระดับโลก ดังนั้นทุกคนต้องเริ่มเปลี่ยนความคิด และเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

เรื่องรักษ์โลก หากพูดเมื่อ 5-6 ปีก่อน อาจจะเป็นเรื่องไกลตัว และทุกคนต่างก็คิดว่าทำไมต้องซื้อราคาแพงกว่า แต่ปัจจุบันตอนแทบไม่ต้องบอกอะไรลูกค้าแล้ว เพราะลูกค้าทุกคนสัมผัสได้ถึงสภาวะโลกที่เปลี่ยนไป ทุกคนตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงการโฆษณาต่างๆ ไม่ใช่แค่ในส่วนที่ภาครัฐทำ เท่านั้น แต่ภาคเอกชนหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็รณรงค์เรื่องนี้มากขึ้น 

เราต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการคนอื่น แม้เราเป็น SME ตัวเล็กๆ เป็นแค่เม็ดทรายเล็กๆในชายหาด ผมอยากให้ทุกคนร่วมกันหลายๆคนจนเป็นอิมแพค รวมตัวกันเป็นชายหาดที่สวยงาม โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นครัวของโลก ถ้าเราสามารถทำเรื่อง food waste , food packaging ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เป็นเรื่องดีมาก 

วิทวัส เล่าว่า เรายังได้ทำโครงการ Zero Waste โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อสัตว์ของเราจะมีเรื่องกระดูกที่เกิดจากการตัดแต่ง เราก็เอาไปทำเป็น ถ่านชีวภาพ (Biochar) ไปให้ผู้ประกอบการต้นน้ำ วิสาหกิจชุมชนที่เป็นพันธมิตรกับเราใช้แทนปุ๋ยยูเรีย ทำให้เกิดการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเราก็ซื้อผลิตภัณฑ์จากพันธมิตรกลับมาทำตลาด ผลิตภัณฑ์ที่ได้จึงเป็นออแกนิก เราก็มีการจับมือกับ เซ็นทรัล ในการนำสินค้าไปขายที่ ตลาดจริงใจ เชียงใหม่ ดังนั้นการเข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอด BCG โมเดล ของเราได้หลากหลาย ซึ่งเราไม่ได้พัฒนาแค่แต่ตัวเราเอง แต่เราพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อทำให้เป็นห่วงโซ่อุปทานที่ครบสมบูรณ์

นำเศษโฟมขึ้นรูปเป็นสินค้าใหม่

วศิน โตเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟ แมนนูแฟคเจอนิ่ง จำกัด ผู้ผลิตโพลียูริเทนโฟมมานานกว่า 30 ปี เช่น เบาะรถยนต์ หมอนสุขภาพ กล่าวว่า บริษัทมีนวัตกรรมที่โดดเด่น เราเป็นผู้รับจ้างผลิตหมอนเมมโมรีโฟมให้กับแบรนด์ต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีจุดเด่นเรื่องการกระจายแรงจุดทับ จึงตอบโจทย์การนอนเพื่อสุขภาพ โดยบริษัทมีนวัตกรรมสูตรเคมีที่ผสมเอง ดังนั้นการซื้อสารเคมี ต้องมีใบรับรองและแหล่งที่มาชัดเจน 

ถอดแนวคิด 3 SME กับจุดเริ่มต้นสู่ BCG โมเดล ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ธุรกิจเราเริ่มต้นจากการทำเบาะรถยนต์ จนค่อยๆพัฒนาและมีเทคโนโลยีของเราเอง ตั้งแต่การคิดสูตรเคมี ไปจนถึงการมีออกแบบ การแม่พิมพ์ และการผลิต ทำให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ต้องบอกว่า เราได้ยิน คำว่า ความยั่งยืนมานานแล้ว ก่อนเข้าร่วมโครงการยังไม่แน่ใจว่า การดำเนินธุรกิจแบบความยั่งยืนจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว พบว่า การยึดหลัก BCG โมเดล  คือหลักที่สามารถต่อยอดธุรกิจได้ดีมาก เพราะในแต่ละตัวเป็นแนวคิดเพื่อนำมาเป็นหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้

หลังเข้าร่วมโครงการบริษัทมีการพัฒนาสูตรใหม่ จากเดิม พียู โฟม ใช้การแปรรูปจากน้ำมันอย่างเดียว ก็ปรับสูตรใหม่เป็น Biobased คือ พลาสติกที่มีส่วนผสมหลักในการผลิตคือพืช จนได้รับใบรับรองว่ามีส่วนผสม 25 % เป็น Biobased และสามารถผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งไปญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาร่วมกันกับโครงการในการนำเศษโฟมที่เหลือมาปั่นเป็นชิ้นเล็กและขึ้นรูปใหม่เพื่อนำกลับมาใช้ เป็น สินค้าทางเลือกต่างๆให้ลูกค้า

วศิน เล่าว่า การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยมากกว่า โดยปัจจุบันเทรนด์ของโลกไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกหรือญี่ปุ่น เรื่องของความยั่งยืนเขาทำจริงจังมากกว่าประเทศของเรามาก บางผลิตภัณฑ์ตอนนี้ถึงขั้นต้องมี QR code เพื่อให้ผู้บริโภคสแกนดูได้ว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์แล้วจะมี after care หรือวิธีการทิ้งหรือดูแลรักษาอย่างไรต่อไป ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะมาพัฒนาศักยภาพของตนเอง 

ชูแนวคิด Upcycling คู่งานดีไซน์

ธนะภัทร์ พูนวุฒิกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท คุณากิจอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ อลูมิเนียม กล่าวว่า เฟอร์นิเจอร์ของเราเน้นการดีไซน์ เราผลิตให้กับหลายแบรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ในร้านอาหาร โรงแรม ส่วนใหญ่ก็ใช้สินค้าของเรา เรื่องรักษ์โลก เรามองเห็นความสำคัญมานานแล้ว การทำเฟอร์นิเจอร์มีเศษเหลือจากการผลิตค่อนข้างเยอะ แต่ในขณะเวลานั้น ไม่มีคนคิดเรื่อง BCG โมเดล ปลายทางของเศษเหลือใช้จากการผลิตคือการหลอมอย่างเดียว ไม่มีวิธีการรีไซเคิลแบบอื่น ซึ่งนั่นคือวิธีสุดท้ายในการทำรีไซเคิล และเราไม่คิดว่า ผลิตภัณฑ์ของเรา จะไปถึงวิธีการสุดท้ายนั้น

เมื่อเข้าร่วมโครงการกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมได้เสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการปรับการใช้งาน ลดการใช้วัสดุบางอย่าง ต้องคิดตั้งแต่การผลิต การดีไซน์อย่างไร เพื่อให้เหลือเศษวัสดุน้อยที่สุด หรือ ถ้าต้องเสียแล้ว จะนำของเหลือไปต่อยอดอย่างไร หากทำไม่ได้จริงๆ ต้องสามารถ อัพไซคลิ่ง (Upcycling) แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ได้ ซึ่งแนวคิด Upcycling เป็นงานดีไซน์ที่ต่างประเทศชอบมาก เขาไม่ชอบสินค้าที่ปกติ มาตรฐานเหมือนๆ ทั่วไป เขาชอบงานกึ่งอาร์ต แต่ต้องใส่วิธีคิด แนวคิดในการอธิบายว่า สินค้าคืออะไร ตรงนี้ทำให้สามารถสร้างราคาขายมากกว่าสินค้าปกติ ทุกวันนี้ โครงการใหญ่ๆมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีนทั้งหมด มักมีการสอบถามถึงกระบวนการผลิตที่เป็นกรีนมากขึ้น  รวมถึงการถามถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่โลกด้วย

เราคิดว่ามีหลายผู้ประกอบการที่ยังมีปัญหาว่าจะนำเศษที่เหลือจากการผลิตมาต่อยอดอย่างไร หากได้เข้าร่วมโครงการกับกรมก็จะสามารถต่อยอดได้

สำหรับสินค้าที่เราได้จากการร่วมโครงการ เป็นการผสมผสานระหว่างเฟอร์นิเจอร์ของเรากับพันธมิตรที่ผลิตเสื่อ ที่มีเศษเหลือใช้ บริษัทจึงได้ผสมผสานกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ ซึ่งต่างประเทศ เช่น เกาหลี ได้เห็นผลงานแล้ว ชื่นชอบมาก เพราะเขาไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานมาจากแนวคิด Upcycling ที่ต่างประเทศชื่นชอบอยู่แล้ว ดังนั้นการร่วมโครงการกับกรมนอกจากได้แนวคิดแล้ว ยังได้รู้จักกับพันธมิตรและได้ต่อยอดทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย

ถอดแนวคิด 3 SME กับจุดเริ่มต้นสู่ BCG โมเดล

ทำความรู้จัก BCG โมเดล 

สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินธุรกิจ ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย แนวคิดทางเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่

1. Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (สมุนไพร ซูเปอร์ฟู้ดเส้นใย) รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพืชเศรษฐกิจ

2. Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรจนนำไปสู่ Zero Waste

3. Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) การพัฒนาที่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 10% และเชื่อมโยงสู่การขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม (CFO, CFP)

ถอดแนวคิด 3 SME กับจุดเริ่มต้นสู่ BCG โมเดล