posttoday

สุนทรียภาพแห่งความปวดร้าว

02 มกราคม 2565

.

โดย...ประสาร มฤคพิทักษ์

**************************

ไม่นานมานี้  มีการจับกุมสารวัตรตำรวจคนหนึ่งที่ร่วมกับลูกน้อง เอาถุงคลุมหัวผู้ต้องหา  ยาเสพติด แล้วรุมกันทุบตีเตะต่อยจนเหยื่อเสียชีวิต ที่ จ. นครสวรรค์ ยังเป็นภาพติดตาคนไทยทั้งประเทศ

นั่นคือ หนึ่งในเหตุการณ์ทรมานผู้ต้องหา ที่รับรู้กันทั่วไป เพราะบังเอิญมีคลิพแพร่ในสื่อออนไลน์

ความมีอยู่จริงของการทรมานผู้ต้องหา ทำให้ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้เป็นบุคคลสูญหาย เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ  ไม่ว่าเพื่อให้ได้คำสารภาพ ไม่ว่าเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ว่าเพื่อขู่เข็ญ หรือไม่ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ  ก็เป็นสิ่งที่กระทำมิได้ ใครกระทำคนนั้น มีความผิดฐานกระทำทรมาน

การเดินทาง เมื่อ 2-3 ธันวาคม ไปยะลาและปัตตานี ของ กมธ.และอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพ วุฒิสภา นำโดยคุณสมชาย แสวงการ คุณสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ ลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อศึกษาเข้าใจกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ได้ไปเยือนศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี ได้พบว่า มีการจัดการพื้นที่และห้องพักของผู้ต้องสงสัยสะอาดเป็นระเบียบ มีวิธีปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัย อย่างมีไมตรีจิตไม่ใช่ด้วยความเป็นอริ การประชุมร่วมกับภาคราชการในจังหวัด และศอ.บต. เห็นความพยายามของภาครัฐที่ใช้ท่าที  เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาและปรารถนาจะคลี่คลายให้เกิดสันติสุข ทำให้ความรุนแรงลดลงไปมากพอสมควร

สิ่งที่น่าสนใจมาก คือการได้ไปดู  หอศิลป์ Patani Artspace  ณ บ้านดอนรัก  อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นหอศิลป์กลางทุ่งนา ของเอกชนเพียงแห่งเดียวในจังหวัดภาคใต้ ที่สร้างขึ้นมาเหมือนท้าทายอำนาจรัฐ อย่างอาจหาญ

พอเข้าไปได้เห็นภาพแรกเป็นภาพโทนสีเลือด ชายคนหนึ่งหันหลังให้ มีถุงพลาสติกสีดำคลุมหัว ใส่กางเกงขาสั้นสีทึบ มือสองข้างถูกมัดไพล่หลัง เปลือยท่อนล่างตั้งแต่ต้นขาลงมา ท่อนบนไม่มีเสื้อสวม ภาพในกรอบเป็นคลิพภาพเคลื่อนไหวของคนที่ถูกทรมานบิดตัวไปมาให้เห็นแต่ร่างกายด้านหลัง มีสีแดงเป็นสีเลือดสาดใส่ร่างแล้วกระจายไปทั่ว สลับด้วยสีดำที่สาดใส่ซ้อนทับสีแดง รู้สึกได้ทันทีถึงความทรมานอันเจ็บปวดรวดร้าว

อีกภาพหนึ่งเป็นหุ่นคนทำด้วยผ้าสีครีมปนขาว ยืนอยู่ในกรงที่มีเหล็กเส้นแนวตรงหลายเส้นทิ่มแทงทะลุร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า หน้าไปถึงหลังยังมีอีกหลายภาพที่สะท้อนอารมณ์ดุจเดียวกัน ภาพทั้งหมด เรียกว่า ชุด STOP TORTURE ยุติการทรมาน

เห็นภาพชุดนี้แล้ว รู้สึกประหลาดใจ จึงสอบถาม ผศ.เจ๊ะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี  ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและดูแลหอศิลป์ แห่งนี้ว่า “จัดแสดงภาพ ที่บาดใจราชการอย่างนี้  เจ้าหน้าที่ทางการไม่เล่นงานเอาหรือ”

อาจารย์ เจ๊ะอับดุลเลาะ บอกว่า “ตอนแรกที่เริ่มทำ เมื่อปี 2557  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทักท้วงว่า ‘ทำไมใช้ภาพแบบนี้ มันหวาดเสียวน่ากลัว ไม่น่าดู ทำไมไม่วาดภาพดอกไม้สวยๆ งามๆ’

ผมต้องชี้แจงไปว่า เราไม่ได้มุ่งหมายจะประจานภาครัฐว่าโหดร้ายทารุณ  แต่มันเป็นภาพสะท้อนความคิดของประชาชนผ่านงานศิลป์ของศิลปิน การทรมานผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับกุมเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ใครๆ ก็รู้แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก งานศิลป์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดทั้งหมด แต่เป็นงานบอกความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้  การเปิดพื้นที่ให้ศิลปินแสดงออกอย่างอิสระเป็นความงดงามของสังคม  การปิดกั้นต่างหาก  จะถูกสั่งสมและเป็นอันตรายมากกว่า”

ภาพและวัตถุแสดงมีการเปลี่ยนไปตามโอกาสและเหตุการณ์ แต่เป็นที่รับรู้กันว่าหอศิลป์แห่งนี้สะท้อนถ่ายความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผ่านงานศิลป์ ที่นำเสนออย่างเป็นอิสระ และพ้นไปจากทุนหรืออิทธิพลใดๆ ของภาคราชการ

น่าสนใจว่าบรรดาทูตานุทูตต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา คานาดา เยอรมันนี อินโดนีเซีย ได้เดินทางมาดูงานศิลป์ที่นี่ ด้วยความรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้เห็น ชาวต่างประเทศมากมายที่เดินทางมาชมหอศิลป์นี้

เป็นปรากฏการณ์ความใจกว้างของภาคราชการที่ควรบันทึกไว้ว่า การเปิดพื้นที่แห่งการแสดงออกไม่พียงแค่การพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยน แต่การแสดงออกผ่านงานศิลป์ที่แม้ว่าไม่เป็นที่สบอารมณ์ก็ต้องยอมให้แสดง ไม่ใช่เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ปลดปล่อยทางอารมณ์ แต่เป็นการเคารพในความแตกต่าง ใช้ไมตรีจิตนำทาง

เมื่อปี 2553  ผู้เขียนได้เดินทางไปกับกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ วุฒิสภา ไปทางตอนใต้ของประเทศโปแลนด์ ได้ไปดูค่ายกักกัน เอาชวิทซ์ (AUSCHWITZ) ที่รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็นทุ่งสังหารชาวยิวราว 1.3 ล้านคน ที่นั่นเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่ มีเสื้อผ้า รองเท้า ข้าวของเครื่องใช้ของเหยื่อ มีตู้รถไฟขนคน  มีโรงรมแก๊สพิษ  ทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์แห่งความโหดร้าย เป็นรอยแผลและความทรงจำอันปวดร้าว  โดยชาวโปแลนด์ยืนหยัดที่จะให้ค่ายกักกันแห่งนี้เป็นสื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ต่อชาวโลก  ในวันนี้ ค่ายกักกันนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ของโปแลนด์แล้ว

จะพอใจหรือไม่พอใจก็ไม่อาจหลีกหนีความเป็นจริงไปได้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้เป็นบุคคลสูญหาย คือประจักษ์การมีอยู่จริงของการทรมาน ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. นี้ อยู่ในขั้นแปรญัตติในวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุกรรมาธิการ  สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ของวุฒิสภา กำลังทบทวนศึกษาและเสนอแนะคู่ขนานไปพร้อมกัน

เราอาจมีข้อคิดได้ว่า การเปิดพื้นที่อย่างอิสระให้ความจริงได้แสดงออกผ่านงานศิลป์ทุกแขนง เป็นสุนทรียภาพแห่งความปวดร้าวที่ควรเคารพ ควรต้อนรับ และน้อมใจศึกษามากกว่าที่จะตั้งข้อรังเกียจ

"ภาพและวัตถุแสดงมีการเปลี่ยนไปตามโอกาสและเหตุการณ์ แต่เป็นที่รับรู้กันว่าหอศิลป์แห่งนี้สะท้อนถ่ายความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผ่านงานศิลป์ ที่นำเสนออย่างเป็นอิสระ และพ้นไปจากทุนหรืออิทธิพลใดๆ ของภาคราชการ"