posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สอง)

08 มีนาคม 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร          

*********************

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกับไทยมีอะไรที่ร่วมกันอยู่บ้าง เช่น การขับไล่ฝรั่งออกไปจากประเทศ   ญี่ปุ่นใช้กำลังความรุนแรงต่อต้านขับไล่ฝรั่งออกไปในปี พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639) และได้ดำเนินนโยบายปิดประเทศหรือ “โดดเดี๋ยวในการต่างประเทศ (isolationism)” ต่อมาเป็นเวลาถึงสองร้อยปี โดยระหว่างนั้น ญี่ปุ่นเลือกที่จะติดต่อทำการค้ากับดัทช์และจีนเท่านั้น  ส่วนของไทยเรานั้น หลังจากสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ซึ่งนอกจากพระองค์จะได้กำลังจากพวกขุนนางแล้ว ยังได้ฝูงชนใหญ่เข้าร่วมโจมตีทำร้ายจนทหารฝรั่งเศสกองเล็กไม่สามารถต้านทานได้ (ข้อมูลเกี่ยวกับฝูงชนใช้ความรุนแรงกับกองทหารฝรั่งเศสนี้ ผู้เขียนได้จาก ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ ของ คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร)

ฝรั่งเดินทางมาญี่ปุ่นในช่วงที่ออกเดินทางสำรวจดินแดนที่พวกเขายังไม่เคยไปมาก่อน  อันเป็นช่วงที่ถูกขนานนามต่อมาว่าเป็น “ยุคแห่งการสำรวจค้นพบ”  โปรตุเกสพบอาฟริกาในปี พ.ศ.2031 โคลัมบัสพบอเมริกาปี พ.ศ.2035 และต่อจากอาฟริกา โปรตุเกสก็พบเอเชียปี พ.ศ. 2042 จากการค้นพบดังกล่าว ทำให้ความเชื่อเรื่องโลกกลมเป็นจริงมากขึ้น และกลายเป็นความจริงที่จริงจริงๆในปี พ.ศ.2062 เมื่อเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ชาวโปรตุเกสเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกถึงฟิลิปปินส์  และเขาก็ถูกฆ่าตายที่นั่น !

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สอง)

ก่อนที่มาเจลลันจะพบฟิลิปปินส์ โปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เดินทางมาอยุธยาในปี พ.ศ.2054  และก็เป็นชาติแรกที่พบเกาะญี่ปุ่นด้วยในปี พ.ศ.2086  ส่วนฝรั่งเศสตามหลังมาติดๆ ฝรั่งเศสมาญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2092 และมาอยุธยาปี พ.ศ. 2205 (สมัยพระนารายณ์นั่นเอง)  เป็นที่รู้กันว่า นอกจากมาค้าขายแล้ว โปรตุเกสและฝรั่งเศสก็ยังต้องการเผยแผ่ศาสนาด้วย คณะมิชชันนารีฝรั่งเศสที่มาญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2092 นั้นมาจากสำนักเยซูอิด ส่วนมิชชันนารีสำนักเยซูอิดที่เข้าอยุธยา มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอกาทศรถแล้ว  แต่เป็นเยซูอิดที่มาจากโปรตุเกส ในช่วงนี้ แรกๆญี่ปุ่นก็พยายามกีดกันการเผยแพร่ศาสนา แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องเปิดประเทศ และหลังจากนั้น คริสต์ศาสนาก็เริ่มมีบทบาทควบคู่กับกระแสแห่งความเป็นสมัยใหม่ตะวันตกที่เริ่มเข้าสู่สังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่สิบหกมองคริสต์ศาสนาในฐานะที่เป็นอะไรคล้ายกับนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา อาจจะไม่ต่างจากการที่คนไทยบ้านเรามักจะเห็นว่า คำอธิบายในพุทธศาสนานั้นมีความสมบูรณ์ที่สุด คำสอนในศาสนาอื่นๆ ก็ล้วนแต่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพุทธศาสนาทั้งสิ้น  จะว่าไปแล้ว พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้ผู้ที่นับถือสามารถเปิดรับความคิดความเชื่อของศาสนาที่แตกต่างไปจากตัวเองได้ง่ายกว่าศาสนาอื่น ในแง่นี้ ญี่ปุ่นก็ดูจะไม่ต่างจากไทยที่มีพื้นฐานพุทธศาสนาเช่นกัน

มีการประมาณการไว้ว่า ในปี พ.ศ.2123 มีคนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ถึง1500,000 คน และน่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าตัวในศตวรรษที่สิบเจ็ด และถ้าเทียบเป็นร้อยละของจำนวนประชากรทั้งหมด จะพบว่า จำนวนคนญี่ปุ่นที่นับถือคริสต์ในสมัยนั้นมีมากกว่าในปัจจุบันมาก แต่จากการที่คริสต์ศาสนานิกายคาธอลิกมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดอันยากที่จะยอมรับศาสนาอื่นที่แตกต่างได้ จึงเกิดกระแสต่อต้านขึ้นมา ชนชั้นปกครองญี่ปุ่นเริ่มเห็นว่าคริสต์ศาสนาเป็นปัญหาสำหรับสังคมญี่ปุ่นและตระหนักถึงปัญหาการครอบงำทางการเมืองของพวกสเปนที่มาพร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ การเคารพและขึ้นตรงต่อศาสนาจักรยุโรปย่อมเป็นปัญหาทางการปกครองในระบบศักดินาของญี่ปุ่น

ในที่สุดในปี พ.ศ.2130 ญี่ปุ่นก็ประกาศต่อต้านคริสต์ศาสนา (ตรงกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ก่อนพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ 69 ปี)  และในปี พ.ศ. 2135  โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ  ผู้เป็นไดเมียวได้มีบัญชาให้ขับนางอิกเนซ มาร์แตงซ์ ผู้เป็นสะใภ้คนหนึ่งของไดเมียวตระกูลโอโตะโมะไปเมืองไฮโฟในเวียดนาม ภายหลังครอบครัวของนางได้หอบผ้าหอบผ่อนอพยพมาลงหลักปักฐานในกรุงศรีอยุธยา  และนางก็คือย่า (บ้างว่ายาย) ของท้าวทองกีบม้าของเรานั่นเอง 

     

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สอง)

ต่อจากนั้น ผู้ปกครองญี่ปุ่นได้เพิ่มมาตรการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งปี พ.ศ. 2155 (ตรงกับสมัยพระเจ้าทรงธรรม) มีการกำจัดพวกคริสเตียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยถึงขั้นกวาดล้างในปี พ.ศ.2157  และในที่สุด ญี่ปุ่นก็ตัดสินใจปิดประเทศ  ยกเลิกการติดต่อกับโลกภายนอก และในปี พ.ศ. 2179 (ตรงกับสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ญี่ปุ่นห้ามคนเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนคนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างประเทศก็ห้ามกลับเข้าประเทศโดยเด็ดขาด ญี่ปุ่นปิดตัวเองในครั้งนั้นเพื่อให้ต้องการปลอดจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของศาสนาและการเมืองของชาติตะวันตก และแน่นอนว่าปลอดปัญหา แต่ก็กลายเป็นการปิดโอกาสตัวเองจากการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ตะวันตกด้วย

หลังจากปิดประเทศไปเกือบสองร้อยห้าสิบปี ในปี พ.ศ.2396 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่สี่)  เรือรบของอเมริกาก็ได้เข้าไปบริเวณอ่าวโตเกียวเพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ  และคราวนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดฉากสู่ความเป็นสมัยใหม่ของญี่ปุ่น  และมันเป็นความเป็นสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับความรู้สึกถูกคุกคามจากตะวันตกและจักรวรรดินิยม  เรือรบของอเมริกาทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปิดประเทศ  จริงๆแล้ว ไม่เพียงแต่เรือรบของอเมริกาที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปิดใจและกายรับอิทธิพลตะวันตก เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ฝรั่งได้แสดงความยิ่งใหญ่เหนือกว่าในด้านวิทยาการความรู้และประดิษฐกรรมต่างๆให้คนญี่ปุ่นตระหนักรับรู้ว่า ตนนั้นสู้ฝรั่งไม่ได้ในเรื่องดังกล่าว

ที่จริง รายละเอียดประวัติศาสตร์ช่วงนี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะมีแหล่งข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่า ในการเปิดประเทศรับตะวันตกครั้งนี้  มีกระแสต้านตะวันตกอย่างรุนแรงจนเกิดกบฏที่เรียกว่า “กบฏซะทสึมะ” (Satsuma Rebellion) ในปี พ.ศ.2430  อันเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai         

     

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สอง)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สอง)

แต่รองศาสตราจารย์ ดร.ไดอิจิ นักวิชาการลูกครึ่งไทยญี่ปุ่นยืนยันว่า ข้อมูลนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเดิมทีกบฏซะทสึมะไม่ได้ต่อต้านกระแสตะวันตก  โดยอาจารย์ไดฯให้การว่า หลังเรือรบอเมริกันเข้ามา แคว้นซะทสึมะและพวกแคว้นทางใต้ได้ก่อกบฏต่อโชกุนและไปตั้งจักรพรรดิเมจิให้กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง หลังจากที่เป็นแค่ เจว็ดให้โชกุนโตะกูกะวะอยู่ถึงสองร้อยห้าสิบปี  กบฏซะทสึมะไม่เห็นด้วยที่โชกุนเอาแต่ปิดประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นสู้อเมริกาไม่ได้ พวกซามูไรชั้นกลางและล่างที่ก่อกบฎนี้เห็นว่า ญี่ปุ่นควรปฏิรูปประเทศและยกเลิกโชกุนโดยโอนอำนาจมาไว้ที่จักรพรรดิแทน แต่พวกซามูไรที่โตเกียวหรือเอโดะถือหางฝั่งโชกุนเพราะพวกเขาได้สาบานมาตั้งแต่มีโชกุนว่าจะรบให้โชกุน และเมื่อไม่ยอมก็ต้องสู้กัน  ผลคือพวกโชกุนตลอดจนพวกแคว้นทางเหนือแพ้ ก็เลยมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาหรือที่เรียกว่ารัฐบาลเมจิ โดยมีแคว้นซะทสึมะเป็นกำลังหลักที่ช่วยก่อตั้ง

แต่ทำไปทำมารัฐบาลที่ช่วยตั้งขึ้นมากลับจะยกเลิกระบบซามูไรเสีย เพราะรัฐบาลใหม่ต้องการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ด้วยเหตุนี้ บรรดาซามูไรทั้งหมดก็เลยลุกฮือโดยมีแคว้นซะทสึมะเป็นแกน แต่สุดท้ายก็แพ้ และผู้นำแคว้นซะทสึมะก็คือไซโก ทากาโมริ ที่ถูกเรียกขานว่า “ซามูไรคนสุดท้าย” เพราะหลังจากนั้นถือว่าอวสานระบบซามูไรของญีปุ่น มีการห้ามไม่ให้พกดาบสองเล่มและยกเลิกเบี้ยหวัดเป็นข้าวประจำปีที่เคยให้บรรดาซามูไรทั้งหลาย ดังนั้นความจริงก็คือ กบฏซะทสึมะไม่ได้ต่อต้านตะวันตก แต่ต่อต้านรัฐบาลใหม่ที่จะมายกเลิกระบบซามูไรต่างหาก

สรุปความได้ว่า ถ้าไม่มีความพยายามพิสูจน์ว่าโลกกลม ฝรั่งก็คงไม่ไปญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ไม่มีคริสต์ศาสนาให้ต่อต้าน เราก็จะไม่มี “ท้าวทองกีบม้า” อย่างที่เราได้เห็นเธอเป็นๆในละคร “บุพเพสันนิวาส” ไม่นานมานี้  และถ้ากระแสสมัยใหม่ตะวันตกไม่เข้าไปญี่ปุ่นอีกที  ญี่ปุ่นก็จะไม่เลิกระบบซามูไร โลกก็จะไม่ได้รู้จักกับ  “ไซโก ทากาโมริ” ที่ชีวิตของเขาได้ถูกนำไปดัดแปลงและสร้างเป็นหนัง  “The Last Samurai”

ส่วนของไทยเรานั้น ฝรั่งเข้ามามีอิทธิพลอีกครั้งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สาม ทั้งในด้านการค้าและเผยแพร่ศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2394 ว่า “...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...”

มาคราวนี้ เราก็คงไม่ต่างจากญี่ปุ่น นั่นคือ จะใช้กำลังขับไล่ไปเหมือนสองร้อยกว่าปีที่แล้วคงไม่ได้ และฝรั่งก็เปลี่ยนจากยุคสำรวจมาเป็นยุคล่าอาณานิคมอย่างเต็มตัว การเผยแพร่ศาสนาคริสต์คราวนี้มีทั้งจากยุโรปและอเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีชาวอเมริกันที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไทยขณะนั้น

ในการรับมือกับอิทธิพลของฝรั่งในการเผยแพร่ศาสนาต่อชาวสยาม  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เหตุผลและปัญญาแทนการใช้กำลัง  ดังจะเห็นจากพระราชหัตถเลขา พ.ศ.2391 ในครั้งที่ยังทรงผนวชเป็นวชิรญาณภิกขุ  ที่พระองค์ทรงสามารถวิจารณ์ความไร้เหตุผลและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ในพระคัมภีร์ไบเบิล พระองค์ทรงกล้าที่จะวิจารณ์และชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งในพระคัมภีร์ไบเบิล โดยมีพระราชหัตถเลขาไปยังมิสเตอ และมิสซิซ เอ็ดดีผู้มีความประสงค์จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์แก่ราษฎรชาวสยามว่า

“ท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพูดจริงปราศจากข้อความใด ๆ ซึ่งใกล้กับความเท็จ หรือเคลือบคลุมเป็นต้น เพราะความสัตย์ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในศาสนาทั้งสิ้นในโลก .....เพราะฉนั้นข้าพเจ้าขอกล่าวตามความจริงที่อยู่ในใจข้าพเจ้า ข้อความในจดหมายของท่านมักกล่าวถึงความน่าพิศวง แลน่าชมแห่งคุณสมบัติของมิสเตอร์แมตตูนแลมิสเตอร์ เอส. อาร์. เฮาส์  เพื่อให้เป็นเครื่องนำความอัศจรรย์ใจให้เกิดแก่ข้าพเจ้า ซึ่งอาจเป็นทางเบื้องต้นชักจูงให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปถือคริสตศาสนาโดยง่าย แต่คำพูดเช่นนั้นมิชชันนารีทุกคนได้พูด แลบรรยาย ณ ที่มามากแล้วกว่าที่ท่านกล่าวพูดซ้ำเล่าจนกลายเป็นของชินหูเพราะไทยเรารู้แน่แล้วว่า การเผยแพร่ของชาวเมืองคริสเตียนนั้นได้กระทำโดยประการที่เคยนำคริสตศานาไปสั่งสอนชาวป่า แลชาวประเทศมิลักขะได้ง่ายดายตามวิธีของโคลัมบัสเป็นต้น อนึ่งพวกมิชชันนารีผู้มีความรู้ทางศาสนาดังกล่าวแล้ว ไม่มีตำแหน่งที่จะหาเลี้ยงชีพในเมืองมารดาของตนโดยวิชาที่มีอยู่ เพราะว่าทีนักเทศน์แลครูสอนศาสนาวิธีเดียวกันมากเกินกว่าจำนวนวัดที่มีในประเทศคริสเตียนทั้งหมด จึงต้องดำเนินการหาเลี้ยงชีพด้วยอาศัยรับเงินของผู้มีใจกอปร์ด้วยปราณียอมสละง่าย ซึ่งผู้จ้างบันดาลให้มีความยินดี ยอมเสียเงิน เพื่อให้มีผู้นำศาสนาที่นับถือของตนไปเทศน์สั่งสอนในเมืองอื่น ๆ ซึ่งตนเห็นว่าราษฎรอยู่ในความมืดมนไร้ปัญญาคือความสว่าง แต่คนมีปัญญาเช่นข้าพเจ้า แลคนอื่นที่มีความรู้ทราบดีแล้วว่า คริสตศาสนาเป็นแต่การงมงายเชื่อลัทธิโบราณของพวกยิวผู้ใกล้จะเป็นมิลักขะ แต่ว่าได้มีผู้นำเข้าไปแพร่หลายในยุโรป ก่อนแสงสว่างแห่งความรู้อันไม่มีข้อสงสัยคือวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นในยุโรป.....

เราติดต่อกับมิตรชาวยุโรป แลอเมริกันกฏเพื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์แลศิลปศาสตร์.....เราทราบแล้ว่ามีคนเป็นอันมากซึ่งรอบรู้วิชาแลเป็นอาจารย์ในวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ..... พวกนี้ติฉินแลปฏิเสธทุกข้อที่กล่าวไว้ในไบเบอล แลแสดงว่าไม่เชื่อถือเลย ขอท่านอย่ามัวกังวลเขียนแนะนำมาในเรื่องเช่นนั้น ถ้าข้าพเจ้าเชื่อลัทธินั้น ข้าพเจ้าก็คงอยู่ในศาสนาคริสเตียนเสียก่อนที่ท่านได้ยินนามข้าพเจ้าแล้วกระมัง .....ข้าพเจ้ากล่าวโดยจริงใจว่า  ข้าพเจ้าขอบใจท่านมาก ในการที่ท่านปรารถนาให้ข้าพเจ้ามีความสุขทั้งภายในและภายนอก ..... แต่ข้าพเจ้ารับทำตามคำแนะนำของท่านไม่ได้ เพราะความเชื่อของข้าพเจ้ามีว่า ธรรมะแลคุณความดีโดยกิริยาแลใจ อันเป็นน้ำเนื้อของศาสนาทั้งปวงทั่วโลกนั้น เป็นทางถูกต้องที่จะได้รับสุขนิรันดร.....

ที่นี่มีผู้ดีหลายคนซึ่งแต่ก่อนได้เชื่อในเรื่องสร้างโลก แลโลกสัณฐานตามตำราของพราหมณ์ ซึ่งคนแต่งหนังสือพุทธศาสนาครั้งโบราณได้นำเข้ามาไว้เป็นลัทธิในพุทธศาสนา โดยไม่รั้งรอผู้รู้อย่างเก่าของเรานั้น ..... การทำนายในเรื่องเยซูตามคำกล่าวของผู้ทายทั้งสิ้น ผู้มีความรู้เหล่านี้ไม่มีใครเชื่อเลย โปรดอย่าต้องลำบากเพื่อชักจูงเราให้เชื่อในลัทธินั้น เราไปฟังคำบรรยายเป็นอันมากจากพวกมิชชันนารีซึ่งอยู่ที่นี่ ..... คัมภีร์ไบเบอลแลอรรถกถาต่างๆ ก็ได้เคยอ่านมามากแล้ว.....ท่านอย่าเสียใจหรือโกรธข้าพเจ้าในเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วถึงข้อความในเรื่องศาสนา ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้าไม่เต็มใจให้ท่านลำบากในการพยายามชักชวน ซึ่งคงจะไม่เป็นผลสำเร็จได้เลย .... (ที่เน้นทั้งหมด เป็นของโดยผู้เขียน)”

นอกจากนี้ ยังทรงแสดงทัศนะเกี่ยวกับความเชื่อที่ไร้เหตุผลในทางศาสนาในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ทรงคัดค้านข้อความบางข้อในพระคัมภีร์ไบเบอล” ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ของพระองค์ ดังที่ทรงวิจารณ์เนื้อหาบางตอนในพระคัมภีร์ไบเบิลทำนองประชดประชันออกขำๆว่า

“แลคนลางคนเขาก็ว่าอยู่ว่า เมื่อพระเจ้าโปรดโนอาแลครอบครัวของโนอาให้ทำเรือกำปั่นหนีน้ำวินาศ ถ้าครั้งนั้นจะโปรดให้ทำจักรกลไฟแลหางเสือถือท้าย และวิชาวัดลองชิตูดลัดติตูดได้ก็จะดี   โนอาจะได้ใช้จักรไปเที่ยวดูค่างโน้นดูค่างนี้ แลเรือตกอยู่ที่ไหนจะได้รู้  น้ำลดแล้วฤา ยังจะได้รู้ จะไม่ต้องปล่อยกาปล่อยพิราบ อย่างว่าในหนังสือไบเบอลนั้นเลย...

“ลางคนว่าอีกว่าผู้ที่มีความเชื่อมั่น ด้วยน้ำใจบริสุทธิ์ในสาศนาพระเยซูคฤสต์ ได้โปรดคนง่อยให้หายก็ไม่รู้ว่ากี่คน ได้โปรดคนเสียจักษุได้ลืมตาขึ้นเปนปรกติก็ไม่รู้ว่าเท่าไร ได้โปรดคนโรคเรื้อนให้หายก็มาก จนคนตายก็ว่าให้เปนคืนขึ้นได้ก็มี ก็ความอัศจรรย์อย่างนี้ มีในหนังสือใบเบอลทอดท้ายเปนหลายแห่ง ก็ผู้ที่เชื่อในสาศนามั่นคง เปนผู้ถวายตัวถวายชีวิตรแก่สาศนา ในทุกวันนี้ที่เปนโรคเรื้อนเองก็มี เปนลมอำมพาธเป็นง่อยก็มี ไม่อยากให้กันตายเสียดายกันนักก็มีเห็นอยู่ชัดๆ เถียงไม่ได้ ก็เมื่อตัวเองยอมรับว่าตามแต่น้ำพระไทยพระเปนเจ้าแล้วก็ยกไว้ คนอื่นที่เขาเข้ารีตเข้าเชื่อถือใหม่ๆ ผู้เปนครูสอนถ้าโปรดให้พ้นโรคเรื้อนโรคง่อย แลพ้นความตายให้เห็นจริงได้สัก 2-3 รายแล้วป่านนี้มิมีคนเข้าสาศนาด้วยหมดทั้งโลกย์แล้วฤา ก็การหาเปนได้ดังนั้นไม่ คนซื่อๆ ซึ่งไม่ได้พึ่งพาอาไศรยสาศนานั้น จึงไม่สงไสยในหนังสือใบเบอลว่าจะเปนเช่นท่านว่านั้นเลย”                      

                                  

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สอง)

จากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพากเพียรอุตสาหะศึกษาภาษาตะวันตกเพื่อเข้าถึงวิทยาการความรู้ ความเชื่อและความคิดสมัยใหม่ของชาวตะวันตกตลอดเวลาที่ทรงผนวชอยู่ถึง 27 ปี  ทำให้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่รับรู้และเข้าใจภูมิปัญญาสมัยใหม่ของตะวันตก และสามารถรับมือตอบโต้ด้วยสติปัญญาและเหตุผลที่ยากที่พวกฝรั่งจะปฏิเสธได้

จะคิดว่า พระองค์ทำเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ ก็ไม่เถียง นั่นคือ พระองค์ต้องการรักษาอำนาจของพระองค์ไว้ แต่การรักษาอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยก็เท่ากับรักษาเอกราชบ้านเมืองในเวลาเดียวกัน และพระองค์ก็ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์เป็นวาระๆละสี่ปีเหมือนตำแหน่งประธานาธิบดีที่มาแล้วก็ไป แต่พระมหากษัตริย์ต้องเป็นตลอดชีวิต และต้องรับภาระเป็น “พระราชารักษาเมือง” ตลอดพระชนม์ชีพ