posttoday

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่ (จบ)

21 พฤศจิกายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*************

พระมหากษัตริย์จะมั่นคงอยู่ในโลกยุคดิจิตอลนี้ได้อย่างไร?

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 9 สังคมไทยล้วนกังวลว่า “เราจะมีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เยี่ยงนี้อีกหรือไม่” อย่างไรก็ตามความกังวลที่มากยิ่งกว่านั้นก็คือ “การเป็นพระมหากษัตริย์ในโลกสมัยใหม่ให้ยิ่งใหญ่ตามแบบเดิมนั้น น่าจะยิ่งยากกว่าในสมัยก่อนๆ เสียแล้ว” ทั้งนี้เหตุผลสำคัญก็คือ คนที่ได้เห็นและเติบโตร่วมสมัยกันมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ทำให้ “ความฝังใจ” ในภาพที่ยิ่งใหญ่ของรัชสมัยก่อน ถูกนำมาเทียบหรือ “คาดหวัง” ต่อความคงอยู่ของรัชสมัยปัจจุบัน ด้วยสายตาของคนที่มีมุมมอง “ไปคนละโลก” ในโลกสมัยก่อน

การสื่อสารที่เป็นส่วนตัวจะอยู่ในแวดวงของคนที่มีความใกล้ชิดกัน เช่น ในครอบครัว หมู่เพื่อน หรือกลุ่มสังคมต่างๆ ซึ่งจะต้องมีพื้นฐานของความสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน เช่น เป็นเครือญาติ ได้ร่วมเรียน หรือมีกิจกรรมร่วมกัน การสื่อสารจะเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง ตรงไปตรงมา และหากมีการสื่อสารผิดพลาดก็ไม่ได้ถือสาหรือเอาเรื่องเอาความกัน ดังจะเห็นได้ว่าเราสามารถใช้คำด่าหรือคำแรงๆ ในการสนทนาระหว่างคนที่ใกล้ชิดกันเหล่านี้ รวมถึงถ้าหากจะมีการนินทาว่าร้ายคนอื่น ก็จะอยู่ในเพียงวงจำกัดของกลุ่มที่สนิทสนมกันเหล่านี้เท่านั้น

แต่ในโลกสมัยสมัย การสื่อสารที่เรียกว่า “ส่วนตัว” กลับถูกเผยแพร่ในทางสาธารณะ คือมีการแพร่กระจายข่าวสารออกไปจากคนที่ไม่ได้มีความใกล้ชิดกัน เพียงแต่เข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกันหรืออยากเป็นพวกกับใคร ก็เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างไม่ตะขิดตะขวง ทั้งยังมีการนินทาว่าผู้อื่นโดยความเห็นที่รับฟังต่อๆ กันมา ทั้งยังขาดความรับผิดชอบหากผิดพลาด แม้ว่าจะมีกฎหมายมาควบคุม แต่เนื่องจากสังคมมีความกว้างใหญ่ ประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่ม แม้คนๆ เดียวก็อาจจะสังกัดกลุ่มได้หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะ “ลับเฉพาะ” และปิดกั้นการล่วงรู้ของคนอื่นๆ (เว้นแต่จะเข้าไปร่วมกลุ่มหรือได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมกลุ่ม) นั่นก็คือการสื่อสารในโลกโซเชียล ที่แตกต่างจากการสื่อสารในโลกใบเดิมอย่างลิบลับ ในทำนองเดียวกันกับการสื่อสารระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงสื่อสารถึง “ความเป็นพระองค์” (คือ “ความเป็นตัวตน” ในความหมายทั่วไป) ด้วยการถ่ายทอดแบบ “ปากสู่ปาก” จากการที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชนบ้าง การทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศบ้าง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในสมัยรัชกาลที่ ๙ ทำให้ประชาชนได้เห็นพระอัจฉริยภาพ ความทุ่มเทและเสียสละ ตลอดพระบุคลิกภาพที่ติดตราตรึงใจ อันเป็นพระบารมีที่เพิ่มพูนด้วยความรู้สึกของประชาชนอย่างแท้จริง และทำให้ความสัมพันธ์กับประชาชนที่แนบแน่นนั้นคงอยู่ตลอดมา

ในโลกสมัยใหม่ จากการที่สังคมบางส่วนมีอคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้แสดงออกความรู้สึกเหล่านั้นผ่านสื่อโซเชียลเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการแสดงออกที่ขาดทั้งความสัมพันธ์เชื่อมโยงและความรับผิดชอบ กล่าวคือคนที่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะถูกกล่อมเกลาด้วยการสื่อสารจากกลุ่มพวกตนเพียงด้านเดียว หรือไม่ก็คนเหล่านั้นเลือกรับสื่อเฉพาะที่ตนเองต้องการอยากรู้ แน่นอนว่าหลายคนไม่ได้ “ดื่มด่ำ” หรือร่วมประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณ อาจเป็นเพราะเกิดมาในยุคที่บ้านเมืองเริ่มเรียบร้อยดีแล้ว จึงไม่ได้เห็นว่าบ้านเมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาเพราะใคร หรืออาจจะเป็นเพราะระบบการเมืองไทยที่มีการเชื่อมความสัมพันธ์เผด็จการทหารเข้ากับบทบาทของสถาบัน ทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อไปว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นี่เองที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ไปตรงกับเป้าประสงค์ของผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ที่จะใช้กรณีของความเกลียดชังทหารเข้ากับการเกื้อกูลโดยสถาบัน ให้เห็นว่าทั้งสองส่วนนี้เป็นปัญหาที่ร้ายแรงของประเทศ จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ดังที่เป็นข้อเรียกร้องของม็อบเยาวชนที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ก็มีภาพสื่อออกมาผ่านสื่อต่างๆ ถึงการปรับตัวของสถาบัน แต่นี่ก็คงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ แต่หลักสำคัญของการสื่อสารสมัยใหม่ยังคงอยู่ที่ “การเลือกเสพสื่อและสร้างสื่อที่กลุ่มตนเองชอบ” สังคมที่มีการต่อต้านสถาบันจึงไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนรวมไปด้วย จึงมีความยากลำบากที่จะคงความศักดิ์สิทธิ์และพระเกียรติยศของสถาบันไว้ในรูปแบบเก่าๆ ด้วยสังคมที่มีการสื่อสารกันนั้นถูกปิดกั้นและกักความเชื่อความคิดไว้แต่เฉพาะในแต่ละพวกนั้น จนอาจจะยิ่งทำให้สังคมมีการขยายตัวของ “ความห่าง” ที่แบ่งเป็น “พวกใคร – พวกเขา” ดังกล่าว

กล่าวโดยสรุปก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ยากที่จะปรับตัวได้ในสังคมสมัยใหม่ด้วยรูปแบบของการสื่อสารที่เปลี่ยนแปรไป อีกทั้งหนทางที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่รอดก็ไม่ได้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ เพราะถ้ายังมีกลุ่มคนที่ปฏิเสธกฎหมายหรือพยายามสร้างกฎหมายใหม่ ก็ไม่มีใครที่จะ “เอาอยู่” หรือขัดขวางห้ามปรามได้ รวมถึงการสื่อสารแบบเดิมๆ ที่จะเสด็จออกไปสัมผัสประชาชนทุกผู้ทุกคนเช่นในอดีตก็ทำได้ยากยิ่งกว่า เพราะประชาชนถูก “แบ่งขั้ว” ออกจากกันเสียแล้ว ซึ่งในภาษารัฐศาสตร์เรียกว่าเป็นปัญหาของ “ความเป็นเทพกับความเป็นมนุษย์” ซึ่งคนสมัยใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจ

ปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงอนาคตต่อไป ก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์เองจะคงความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่เช่นในอดีตไว้ได้อย่างไร แน่นอนว่ายังมีหนทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ ดังที่มีตัวอย่างอยู่ในหลายๆ ประเทศ เพียงแต่ว่าเวลานี้สังคมไทยค่อนข้างจะมีความยากลำบากที่จะ “ปรับตัว” ไปสู่อนาคตดังกล่าว ด้วยสังคมเก่าก็ยังอยากที่จะให้คงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบเดิมๆ นี้ไว้ และหลายๆ กลุ่มก็ยังได้ประโยชน์กับสังคมเก่าในสภาพนี้ ในขณะที่สังคมใหม่ก็ถูกปิดหูปิดตาให้ไม่ยอมรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง และคิดเอาแต่ใจที่จะให้สถาบันเกิดการเปลี่ยนแปลงตามใจตัวนั้นให้ได้

แต่ทางออกนั้นก็มีอยู่ คือ “ความเป็นอิสระของสถาบัน” ที่จะต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง รวมถึงการร่วมคงอยู่ในโลกสมัยใหม่ด้วย “บุคลิกภาพใหม่” ที่ทุกคนทุกกลุ่ม “เข้าถึงและเข้าใจ” ได้