posttoday

วิกฤตการเมืองมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีจริงหรือ ? (ตอนจบ)

07 กันยายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                           

*******************

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งมาตลอด ไม่ว่าจะแต่งตั้งโดยคณะบุคคลที่มีอำนาจ หรือแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใครเป็นผู้แต่งตั้ง  อีกฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็จะออกมาไม่เห็นด้วย อย่างเช่น ในบางช่วง รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาแก่พระมหากษัตริย์ เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะนั้นได้ใช้อำนาจแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควร ก็ทำให้คณะรัฐมนตรีขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงครามไม่พอใจอย่างมาก เพราะไม่เห็นด้วยกับรายชื่อบุคคลที่จะเป็นวุฒิสมาชิก และถึงกับประกาศว่าจะขอเข้าไปประชุมในคณะองคมนตรี นั่นคือ ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาของพระมหากษัตริย์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้แก้ปัญหาอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาที่ขัดแย้งกันระหว่างการให้อำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์หรืออยู่ที่คณะบุคคลฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายการเมืองนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากรัฐประหาร  โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้ให้อำนาจประชาชนในการเลือกบุคคลที่เหมาะสมให้เป็นวุฒิสภา

แต่อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จะแก้ปัญหาที่มีมาตลอดได้โดยการย้ายอำนาจจากบุคคลคนเดียวหรือคณะบุคคลไปสู่มหาชน แต่ก็กลับไปสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา นั่นคือ เมื่อให้อำนาจประชาชนเลือกวุฒิสภา ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาคือการกลั่นกรองร่างกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร และทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารด้วย เพราะประชาชนส่วนใหญ่กลับใช้อำนาจทางการเมืองที่ได้จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เลือกญาติพี่น้องของ ส.ส.ด้วยเข้าใจว่า จะได้ช่วยๆกันทำงาน  อีกทั้งอีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากอิทธิพลของหัวคะแนนและการซื้อเสียงของพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ระดมคะแนนเสียงจากประชาชนให้เลือกคนที่เป็นพวกของตนเข้าไปเป็น ส.ว.

อันที่จริง การที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกญาติพี่น้องของ ส.ส.เข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพื่อจะได้ช่วย ส.ส.ที่เป็นญาติพี่น้องทำงานบ้านงานเมือง ก็ไม่น่าจะเป็นความผิดของประชาชนส่วนใหญ่เลยเสียทีเดียว เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพิ่งให้สิทธิ์อำนาจการเลือก ส.ว.แก่ประชาชนเป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี ถือเป็นการใช้สิทธิ์เลือก ส.ว. ครั้งแรกของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.คืออะไร ? ถ้าให้เลือก ส.ว.ไปอีกสักสิบยี่สิบครั้ง นั่นคือ สักสี่สิบถึงแปดสิบปี ก็น่าจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ที่ว่าสี่สิบถึงแปดสิบ ก็เพราะวุฒิสภามีอายุสี่ปีถึงจะให้มีการเลือกใหม่ ดังนั้น หากจะยืนหยัดให้ที่มาของ ส.ว.มาจาการเลือกตั้งของประชาชน ก็จะต้องทำใจเผื่อเวลาไว้สักหน่อย แต่ก็อาจไม่ต้องคอยนานขนาดสี่สิบปี เราสามารถเร่งรัดให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนได้ว่า ส.ว.มีไว้เพื่ออะไร ?

ที่จริง แม้ว่า ประชาชนจะไม่เข้าใจว่า ส.ว. มีหน้าที่อะไร ? แต่ที่แน่ๆก็คือ คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ย่อมจะรู้ว่าหน้าที่ของ ส.ว.คืออะไร  ดังนั้น ความผิดจึงไม่น่าจะอยู่ที่ประชาชนที่ไม่รู้ว่า ส.ว.ทำหน้าที่อะไร แต่คนที่ลงสมัครและได้รับเลือกเป็น ส.ว.แต่ไม่ทำหน้าที่ของ ส.ว.แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะบัญญัติห้ามไม่ให้คนที่เป็นญาติกับ ส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.แต่จะห้ามญาติได้ แต่ก็ห้าม “พวก” ไม่ได้ ดังนั้น ความพยายามที่จะแก้ปัญหา ส.ว.เป็นพวกเดียวกับ ส.ส.ของผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ล้มเหลว  ในที่สุด รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ตัดการเลือกตั้ง ส.ว.ออกไปเลย และใช้การคัดสรรแต่งตั้งแทน แต่ก็มาล้มเหลวอีกเพราะ ส.ว. 250 คนดันไปเทคะแนนสนับสนุนพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐที่มีพลเอกประวิทย์เป็นนายใหญ่

ผู้เขียนยืนยันว่า การคัดสรรแต่งตั้ง ส.ว.ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่คนที่มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว. ดันลงไปเล่นการเมืองเสียเอง ถ้าไม่เล่น แล้วปล่อยให้ ส.ว.ทำหน้าที่ไปอย่างอิสระ ก็อาจจะได้ผลในการตรวจสอบถ่วงดุลกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรและตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารก็ได้

แต่ถ้าจะกลับมาใช้การเลือกตั้ง ส.ว.นอกจากจะต้องห้ามไม่ให้ญาติพี่น้องของ ส.ส. ลงสมัครแล้ว แต่ห้าม “พวก” ของ ส.ส. ไม่ได้ ทีนี้ ถ้าพรรคการเมืองต้องการให้พวกของตนได้เป็น ส.ว.ก็คงต้องใช้การซื้อเสียง ดังนั้น ก็ต้องหาทางทำให้การซื้อเสียงไม่ได้ผล โดยอาจใช้วิธีให้ประชาชนเลือก ส.ว.เป็นจำนวนที่เกินกว่าจำนวน ส.ว. ที่พึงมีไว้ก่อน  แล้วค่อยให้มีการจับฉลากเอาออก เช่น สมมุติจังหวัดหนึ่งมี ส.ว. ได้ 1 คน ก็ให้เลือกได้ 10 คน และ 10 คนนี้ถือว่าผ่านการเลือกตั้งของประชาชนมาแล้ว ถือว่ามีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกัน หลังจากนั้น ก็ให้จับฉลาก ใครที่ถูกจับได้ ก็ได้เป็น ส.ว.ของจังหวัดนั้น วิธีการนี้ จะทำให้คนที่คิดจะซื้อเสียงเกิดความไม่แน่ใจว่า เงินที่ซื้อไปนั้นจะส่งให้ได้เป็น ส.ว.   ก็อาจจะทำให้ลดการซื้อเสียงไปได้บ้าง หรือไม่ก็ใช้ประเทศทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง  และถ้าจำนวน ส.ว. มี 200 ประชาชนก็สามารถลงคะแนนเลือกได้ 200 คน และไปคำนวณคะแนนทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็ควรจะให้มี ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งผสมเข้าไปด้วย เหมือนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยให้ผู้ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว สามารถเป็น ส.ว.ได้โดยอัตโนมัติ โดยพรรคการเมืองที่เคยมีสมาชิกพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีเสนอชื่อไป และ ส.ว.ประเภทนี้จะเป็น ส.ว. ตลอดชีวิต  แต่อดีตนายกรัฐมนตรีที่ว่านี้จะต้องไม่ติดคดี  ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามปกติของผู้สมัคร ส.ส. หรือ ส.ว.อยู่แล้ว หรือบางท่านเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้สังกัดพรรค อย่างเช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน ก็ถือว่าเป็น ส.ว.โดยอัตโนมัติได้ด้วยเช่นกัน ในกรณีดังกล่าวนี้ เราก็จะได้ คุณอานันท์ พลเอกชวลิต คุณชวน คุณอภิสิทธิ์เข้ามาทำหน้าที่ ส.ว.ซึ่งแน่นอนว่า ท่านเหล่านี้ย่อมจะเป็นที่เคารพเกรงใจและผู้คนในพรรคการเมืองและประชาชนก็จะฟังเสียงของท่าน  ส่วนพลเอกสุรยุทธ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนี้ท่านเป็นประธานองคมนตรี ท่านก็ทำหน้าที่ดังกล่าวไป

การให้อดีตนายกรัฐมนตรีเป็น ส.ว. จะทำให้วุฒิสภาเป็น “สภาสูง” สมชื่อ และเป็นสภาที่ทรงเกียรติทรงคุณวุฒิอย่างยิ่ง อีกทั้งจะทำให้นักการเมืองอาวุโสไม่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวังวันการเมืองของ ส.ส. และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆของพรรคขึ้นมามีบทบาทนำ

นอกจากอดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว เราอาจจะนึกถึงผู้นำ-ผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากในภาคส่วนต่างๆ โดยให้มีโควตาสำหรับคนกลุ่มนี้ โดยไม่ต้องให้ประชาชนเลือก แต่ให้ภาคส่วนต่างๆเขาเลือกกันเองและส่งชื่อเข้ามา คงต้องค่อยๆคิดว่าควรจะตัวแทนของภาคส่วนอะไรที่สำคัญจำเป็นที่จะเข้ามาใช้ความรู้ประสบการณ์ในการทำหน้าที่ ส.ว.

ผู้เขียนเห็นว่า วุฒิสภายังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับระบบรัฐสภาของไทย เพราะหากหน้าตาของ ส.ส.ส่วนใหญ่ยังเป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่ ก็ควรมีอีกสภาไว้ช่วยคิดช่วยอ่าน แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรของเราพัฒนาไปมาก วุฒิสภาก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้