posttoday

คนหนุ่มสาว vs คนสูงวัย

30 กรกฎาคม 2563

โดย...ภุมิรัตน ทักษาดิพงศ์

**********************

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะเห็นหนุ่มสาวบางคนแสดงออกในการชุมนุมที่เรียกว่า “แฟลช ม็อบ” แบบ “ดาวกระจาย” ไปใน กทม.และจังหวัดต่าง ๆ ที่โยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น มีหนุ่มสาวหลายคนที่ชุมนุมตามถายภาพที่เขียนข้อความดูหมิ่น จาบจ้วง สถาบันพระมหากษัตริย์เสมอ อย่างที่พวกเราคนที่เคยเป็นหนุ่มสาวมาก่อน ไม่เคยเห็น

ก่อนหน้านี้ที่ขอนแก่น หนุ่มคนหนึ่งใส่เสื้อที่เขียนข้อความว่า เขาไม่ศรัทธาในพระมหากษัติย์ ไม่ว่าเขาจะป่วยด้วยโรคจิตหรือไม่ก็ตาม แต่ก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดในใจของเขาออกมา

ความศรัทธา ความเชื่อ ความคิด ความรัก ความชอบ ความโกรธเกลียด บังคับกันไม่ได้ จะเขียนกฎหมายบังคับให้คนต้องเชื่อ ต้องศรัทธาในสิ่งที่คนไม่ยอมรับคงไม่ได้ แต่ถ้าทำผิดในสิ่งที่กฎหมายห้าม ก็ถูกลงโทษ โดยทั่วไปคนคิดอย่างไรก็มักทำอย่างที่คิด

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเห็นด้วยกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ลองคิดดูว่า ทำไมรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 จนถึงฉบับปี 2560 จึงกำหนดรูปแบบการปกครองในมาตรา 2 ของทุกฉบับไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

คนที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์น่าจะสะกิดใจสักนิดว่า ทำไมรัฐธรรมนูญทุกฉบับถึงกำหนดรูปแบบการปกครองไว้เช่นนั้น บางคนอาจตั้งแง่ว่า คนเขียนรัฐธรรมนูญอยากจะเขียนอะไรก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นต้นมา ได้ผ่านประชามติด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เห็นด้วย แสดงว่า เจ้าของอำนาจอธิปไตยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เสียงที่ไม่เห็นด้วย อาจมีส่วนน้อยมากที่ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่หลายส่วนคัดค้านอาจเพราะไม่พอใจประเด็นอื่น ไม่ใช่ประเด็นรูปแบบของการปกครอง

คนรุ่นหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย จะมีบางคน บางกลุ่มที่ต้องการให้ไทยมีการปกครองระบอบ ” ประชาธิปไตยแบบสาธารณะรัฐ” สอดแทรกเข้ามาตั้งแต่การปฏิวัติปี 2475 แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

คนสูงวัยรุ่นพ่อ แม่ ป้า น้า อา ลุง ปู่ในปัจจุบัน ก็ผ่านการเป็นคนหนุ่มสาวมาก่อน เคยมีเพื่อนบางคนสมัยหนุ่มสาวต้องการให้ไทยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข แต่พอมีความรู้ความคิด ประสบการณ์มากข้น ความคิดนั้นก็เปลี่ยนไป พออายุมากขึ้น เขาได้รู้เห็นอะไรมากมาย กลับจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มากอย่างคาดไม่ถึง

คนที่เลยวัยหนุ่มสาวมาแล้ว มีเหตุผลที่ต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เพราะเขาหลงเชื่ออย่างงมงาย และคนเหล่านี้จำนวนมากที่เป็นปัญญาชน มีการศึกษาระดับสูง ส่วนใหญ่ผ่านการศึกษาในประเทศที่เป็นสาธารณะรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข

“คนรุ่นเก่า” มี “เหตุผล”ที่สามารถชี้แจงได้ว่า ทำไมเราถึงมีความเชื่อมั่น ศรัทธา ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เป็นการเชื่ออย่างงมงาย แต่เชื่อด้วยเหตุและผล เพราะเราศึกษาจากประวัติศาสตร์และบางส่วนได้ประสบพบเห็นด้วยตนเอง โดยเฉพาะคนที่เกิดและมีชีวิตอยู่ทันรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เราจึงสรุปได้ว่า กษัตริย์ตั้งแต่สมัยก่อนเป็นผู้สร้างบ้าน สร้างเมือง ปกครองบ้านเมือง หาที่ดินที่สมบูรณ์ให้พสกนิกรทำมาหากิน อยู่ดีกินดี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ และปัจจุบัน

เราไม่ต้องศึกษารายละเอียดแบบนักประวัติศาสตร์ แค่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยใน 10 นาที ก็จะเห็นสิ่งที่กษัตริย์ไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันได้ทำอะไรไว้บ้างให้กับบ้านนี้เมืองนี้ เช่น พ่อขุนรามคำแห่ง แห่งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มีพ่อค้าต่างชาติทำมาหากินในกรุง

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กู้ชาติกู้แผ่นดินครั้งแรก ถ้าสมัยใหม่ก็เรียกว่าทำให้ไทยเป็นรัฐอธิปไตย สมด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้นโยบาย “ถ่วงดุลอำนาจ” เป็นครั้งแรก เจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เพื่อถ่วงดุล ฮอลันดา พระเจ้าตากสิน แห่งกรุงธนบุรี กู้ชาติกู้แผ่นดินครั้งที่สอง ความเจริญรุ่งเรืองของไทยสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยามีร่องรอยของประวัติสาสตร์ที่คนไทยรุ่นหลังสามารถเรียนรู้ได้

หากขี้เกียจไม่อยากย้อนหลังไปมาก ศึกษาแค่กรุงรัตนโกสินทร์ หรือย้อนหลังไปแค่ 250 กว่าปีที่ผ่านมาก็ได้ ซึ่งสามารถสรุปสั้น ๆ ได้ว่า

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นระยะสร้างบ้านสร้างเมือง รักษาเอกราช สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้บ้านเมือง สร้างกรุงเทพ เป็นเมืองหลวง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 บ้านเองเริ่มสงบมรดกที่พระองค์ท่านมอบไว้ให้คนไทยรุ่นหลังคือเรื่องศิลปวัฒนธรรม

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เก่งในเรื่องค้าต่างประเทศ นำเงินมากมายเข้าประเทศ จนเงินที่สะสมไว้สามารถนำมาใช้รักษาเอกราชของชาติได้ในสมัยรัชกาลที่ 5 และทรงเตือนในหลวงองค์ต่อมาให้ระวังภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่ง แสดงว่าท่านอ่านสถานการณ์ข้างหน้าได้แม่นยำมาก

ช่วงการต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม ที่ไทยแทบเอาตัวไม่รอด แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย ทำให้ไทยรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้ ด้วยการบริหารประเทศต่อเนื่องของสามพระองค์คือ ในหลวงรัชกาลที่ 4 5 และ 6

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 วิเคราะห์ได้อย่างเด็ดขาดว่า ฝรั่งที่จะเอาประเทศไหนเป็นเมืองขึ้นมักอ้างว่า ประเทศนั้นด้อยพัฒนา ไม่ทันสมัย พวกเขานำความทันสมัยมาให้ พระองค์ท่านจะวางแผนทำให้ไทยเป็นประเทศที่ทันสมัย (modernization) เสียก่อน โดยให้ลูกหลานทุกพระองค์เรียนรู้ภาษาอังกฤษ แต่งกายแบบสากล ในหลวงรัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่อ่านเขียนพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดี เตรียมตัวรักษาเอกราชจากฝรั่งที่เตรียมเอาไทยเป็นอาณานิคม ศึกษาภาษา อก. เป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์แรกที่อ่าน ฟัง พูด ภาษา อก.ได้ ให้พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอทุกองค์เรียนภาษาอังกฤษ วิทยาการสมัยใหม่เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะพระองค์ท่านมีความรู้ด้านดาราศาสตร์ระดับสากลทีเดียว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผลงานเด่นที่สุดของพระองค์ท่านคือ “การปฏิรูปประเทศ” ในทุกด้านรวมทั้งการปฏิรูปกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยนำผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศสาขาต่าง ๆ มาช่วย และส่งลูกหลาน ข้าราชการผู้ใหญ่ ไปศึกษาต่อในยุโรปเพื่อนำมาพัฒนา ปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องหลังรัชสมัยของพระองค์

“การเลิกทาส” โดยไม่เสียเลือดเนื้อโดยทำแบบไทยสไตล์ ในขณะที่การเลิกทาสในสหรัฐเกิดสงครามกลางเมือง คนบาดเจ็บล้มตายเป็นแสนคน สำคัญที่สุด พระองค์ท่านสามารถรักษา “อธิปไตยของชาติ” ไว้ได้จากการคุกคามของฝรั่งเศสและอังกฤษที่จะเอาไทยเป็นอาณานิคมให้ได้ แม้ว่าต้องแบ่งไทยคนละครึ่งก็ตาม อีกครั้งหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้นโยบาย “ถ่วงดุลอำนาจ” ด้วยการนำรัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลกขณะนั้นมาคานอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส พระองค์ท่านยอมเสียแขนขาเพื่อรักษาชีวิตเพื่อลูกหลานคนไทยจะได้โดยยอมเสียดินแดนบางส่วนให้อังกฤษและฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นอกจากการพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากในหลวง ร.๕ แล้ว จุดเด่นของรัชกาลนี้คือ “การสร้างความรู้สึกรักชาติ” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างเกียรติคุณของประเทศในการส่งทหารไปร่วมกับสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สามารถเลิก “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” หรือปลดแอกประเทศจากข้อผูกมัดของประเทศมหาอำนาจ ทรงเตรียมการให้คนไทยได้เรียนรู้การปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยต่อไปตามแนวทางของอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งขึ้นครองราชย์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ แต่พระองค์ท่านได้ เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก เพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่คณะราษฎรชิงปฏิวัติเสียก่อน ที่ถูกมองว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามก่อน ประชาธิปไตยไทยถึงวุ่นวายมาถึงทุกวันนี้ ในที่สุด พระองค์ท่านได้สละราชสมบัติเพราะพระราชอำนาจของพระองค์ที่สละให้กับคณะราษฎรไม่ได้ไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง แต่วนเวียนแย่งชิงกันในหมู่นักการเมืองเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แม้พระองค์ท่านไม่มีโอกาสได้บริหารประเทศเพราะสวรรคตที่ศาลตัดสินว่าถูกลอบปลงพระชนม์ แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ทรงเป็นประมุขของชาติ พระองค์ท่านสามารถป้องกันไทยไม่ให้เป็น “รัฐอารักขา” ของอังกฤษได้ และทรงนำความสงบเรียบร้อยมาสู่บ้านเมืองด้วยการเสด็จสำเพ็ง ซึ่งตอนนั้นอั้งยี่จีนกำลังอาละวาด คนจีนรักท่านมาก เป็นการถ่วงดุลระหว่างจีนกับสหรัฐ โดยสหรัฐต้องการใช้ไทยเป็นฐานต่อต้านจีน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผลงานของในหลวงพระองค์ก่อน ๆ นั้น เราต้องศึกษาจากประวัติศาสตร์ แต่สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์นี้ คนไทยได้พบได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านตลอดมา อาจกล่าวได้ว่าเป็น “การปฏิรูปประเทศครั้งที่ 2” ที่ทำให้ให้คนไทยอยู่เย็นเป็นสุข ทรงเน้นเรื่องการต่อสู้กับความยากจนเป็นสำคัญ และทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอก ผลงานของพระองค์เป็นที่ทราบกันทั่วโลกจนได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลกและจากองค์การระหว่างประเทศ จนไม่ต้องพูดอะไรกันมากอีก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ รัชกาลที่ 10 ทรงประกาศสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในขณะที่พระองค์ท่านก็มีวิธีการทำงานแบบของพระองค์แบบเงียบ ๆ ที่ทรงแก้ไขปัญหาของประเทศให้ลุล่วงไปด้วยดีโดยที่ไม่ค่อยมีคนรู้เห็น แต่กล่าวได้ว่า หากพระองค์ท่านไมลงมาช่วยแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็คงยากที่จะแก้ได้

นี่เป็นการเรียนประวัติศาสตร์ไทยในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษันตริย์ภายใน 10 นาที สรุปว่า จากสิ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงทำให้กับประเทศและประชาชนไทยทั้งปวง ทำให้ “คนรุ่นเก่า” หรือ “คนสูงวัย” เชื่อมั่น ศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยเหตุผล เพราะได้ศึกษาประวัติศาสตร์ว่าด้วยผลงานของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตมาแล้ว โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์จักรี และบางส่วนได้ประจักษ์ด้วยสายตาตนเองในช่วงสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พวกเรามีชีวิตได้เห็น

ม่ใช่เป็นความเชื่องมงาย ปราศจากเหตุผล ดังที่นักการเมืองหรือคนที่อ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่กล่าวหา

แต่ก็น่าเห็นใจที่คนรุ่นใหม่รุ่นนี้ไม่ได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างที่ควรจะเป็น เพราะหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักสูตร โดยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชาติและหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมน้อยลง

จึงไม่ต้องประหลาดใจที่ว่า 20 ปีต่อมา ลูกหลานไทยส่วนหนึ่งไม่รู้จัก “รากเหง้า”ของตัวเอง ไม่รู้ว่าเรามาจากไหน จึงไม่รู้ว่าเราจะไหน พอมีบางคนชักนำ จึงสับสน อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นช่วงความสับสนของหนุ่มสาวไทยบางกลุ่มบางพวก ที่ถูกชี้นำโดยนักการเมืองบางกลุ่ม ถูกชี้แนะให้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกชี้แนะให้ชื่นชมการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ล้มล้างสถาบันกษัตริย์

แทนที่จะสร้างบรรยากาศของ “การขัดแย้ง” ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า หรือระหว่าง “คนหนุ่มสาว” กับ “คนสูงวัย เรามาสร้างบรรยากาศของ “การผสมผสาน” ระหว่างคนสองรุ่นไม่ดีกว่าหรือ เป็นการเชื่อมตอระหว่างรุ่นสู่รุ่น เหมือนอย่างที่บรรพบุรุษได้ “ส่งต่อ” ให้คนรุ่นหลังตลอด ไม่ดีกว่าหรือ

อย่าลืมว่า เมื่อมี “แรงสง” ก็จะมี “แรงต้าน” เสมอ เหมือนกับลูกตุ้มที่แกว่งไปมา

********************