posttoday

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่หก)

30 กรกฎาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************************

พระมหากษัตริย์สวีเดนที่ครองราชย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ค.ศ. 1718 คือ สมเด็จพระราชินี Urika Eleonora แต่พระองค์ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับกฎหมายใหม่ นั่นคือ“บทบัญญัติแห่งสภาฐานันดรแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ค.ศ. 1719” (ต่อจากนี้ จะใช้คำว่ารัฐสภาแทนสภาฐานันดร) ที่ลดทอนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง

ที่ว่าปรับตัวไม่ได้กับรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดรูปแบบการปกครองของสวีเดนให้เป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดย “บทบัญญัติแห่งสภาฐานันดรแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ค.ศ. 1719” กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามเสียงข้างมากของสภาบริหารและสภาบริหารต้องปฏิบัติตามเจตจำนงของรัฐสภา

Urika Eleonora ทรงประสบกับความลำบากในการปรับพระองค์และยังทรงพยายามที่จะใช้พระราชอำนาจในแบบเดิมโดยไม่รับฟังสภาบริหาร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พระองค์ยังทรงเห็นว่า สภาบริหารเป็นสภาบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (the King’s Council) ตามที่เคยเป็นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ภายใต้กฎหมายใหม่ สภาบริหารได้เปลี่ยนจากสภาบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นสภาบริหารแห่งแผ่นดิน (the Council of the Realm)

โลกทัศน์ทางการปกครองเดิมของ Urika Eleonora จึงขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของ “บทบัญญัติแห่งสภาฐานันดรแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ค.ศ. 1719” ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับสภาบริหารจนเป็นเหตุให้ Arvid Horn ประธานสภาบริหารตัดสินใจลาออกเนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกับสมเด็จพระราชินี

ซึ่งการใช้วิธีการลาออกของ Arid Horn นี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในเวลานั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีพระราชอำนาจมากมายอะไร แถมยังผู้ครองราชย์เป็นสตรีอีกด้วย ฝ่ายสภาบริหารเองก็ดี กองทัพก็ดี หรือรัฐสภาก็ดีน่าจะสามารถใช้อำนาจอิทธิพลกดดันให้สมเด็จพระราชินี Urika Eleonora ทรงต้องปฏิบัติตาม “บทบัญญัติฯ ค.ศ. 1719” มากกว่าที่ประธานสภาบริหารที่มีสถานะเทียบเท่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นฝ่ายลาออกไปเสียเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อภิชนที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นฝ่ายล่าถอยออกไปเสียเอง

ในการหาคำตอบในประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาประวัติภูมิหลังของ Arvid Horn อาจจะช่วยให้เราตอบคำถามข้างต้นได้

Arvid Horn (1664-1742) มาจากตระกูลอภิชนฟินนิช (Finnish) ที่ยากจน และรับราชการทหารจนได้รับตำแหน่งนายพล เป็นนายทหารคนสนิทและเป็นนายทหารรักษาพระองค์และเป็นหนึ่งในนายพลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่โปรดปรานของ Charles XII จากช่วงแรกของมหาสงครามทางเหนือ

ในปี ค.ศ. 1704 เขาได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติการทางการต่างประเทศ (diplomatic mission) เป็นครั้งแรก และภารกิจที่เขาได้รับมอบหมายนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองในแซกโซนี (Saxony) นั่นคือ การถอดถอน Augustus II และการเลือก Stanislaus ให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปแลนด์แทน Horn สามารถปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความสามารถที่โดดเด่นและเด็ดขาด

ในปี ค.ศ. 1705 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาบริหาร และในปี ค.ศ. 1708 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแล Charles Frederick Duke of Holstein-Gottorp พระราชนัดดาของ Charles XII และในปี ค.ศ. 1710 เขาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารต่อจาก Nils Gyldenstolpe

และเมื่อเขาได้มาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางอำนาจการบริหารราชการ เขาจึงมีโอกาสเต็มที่ที่จะเสนอความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศ และการทักท้วงของเขาทำให้เขาได้กลายเป็นที่ไม่โปรดของ Charles XII อย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1710 และ 1713 เขาสนับสนุนให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา แต่ในปี ค.ศ. 1714 เมื่อรัฐสภามีท่าทีต่อต้านพระมหากษัตริย์ และเกิดกระแสข่าวลือเรื่องรัฐประหาร แต่ Horn ก็มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตรยิ์และได้กล่าวตักเตือนรัฐสภาและทำให้เกิดการยุบสภาไปในที่สุด

ในช่วงปลายรัชสมัยของ Charles XII เขาไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนักในการบริหารราชการ และหลังจากการสวรรคตของ Charles XII ในปี ค.ศ. 1718 เขาเป็นผู้ที่โน้มน้าวให้เลือก Ulrika Eleonora ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนหลังจากที่พระองค์ยอมตกลงที่จะสละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ที่สถาปนาขึ้นในรัชสมัย Charles XI พระราชบิดาของพระองค์ และตัวเขาเองได้รับการลงมติจากรัฐสภาให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารอีกครั้งหนึ่ง

และการที่รัฐสภาลงมติเลือก Horn น่าจะน่าเป็นเพราะเขาเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจอิทธิพลพอสมควรจากการที่เขาดำรงตำแหน่งนายพลและเป็นบุคคลสำคัญทางการทหาร และเคยเป็นคนโปรดของ Charles XII อีกทั้งเขาน่าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือจากทุกฝ่าย นั่นคือ ทั้งฝ่ายอำนาจเก่าและอำนาจใหม่

จากการที่เขาเป็นคนตรงและกล้าที่จะเสนอความเห็นในการบริหารราชการแผ่นดินที่แตกต่างจาก Charles XII จนเป็นเหตุให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งประธานสภาบริหารในครั้งที่สภาบริหารยังเป็นสภาแห่งพระมหากษัตริย์ แต่กระนั้น ยามที่สภาฐานันดรในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีท่าที่ต่อต้านพระมหากษัตริย์ เขาก็ยังเป็นผู้ที่กล้าออกมาว่ากล่าวตักเตือนและยุบสภา

แต่เมื่อ Charles XII เสด็จสวรรคตและมีปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ เขาก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวและสนับสนุนให้ Ulrika Eleonora ขึ้นครองราชย์โดยมีเงื่อนไขที่ต้องยอมสละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์

แต่ต่อมาเมื่อ Ulrika Eleonora ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนแล้วยังทรงพยายามที่ทำให้สภาบริหารยังคงเป็นสภาแห่งพระมหากษัตริย์ เขาก็ประท้วงโดยการลาออก แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในหลักการที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงบริหารราชการตามคำแนะนำของสภาบริหารตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติฯ

จากประวัติของเขา ทำให้คาดเดาได้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ Horn จะเลือกที่จะทำคือ การลาออกมากว่าจะใช้อำนาจอิทธิพลหรือกำลังความรุนแรง ถือว่าเขายังแสดงความเคารพและให้เกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ และการลาออกของเขาย่อมจะทำให้ Ulrika Eleonora ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้อยู่ดี

ขณะเดียวกัน สภาบริหารพยายามหาทางที่จะเปลี่ยนตัวพระมหากษัตริย์ สภาบริหารจึงได้แอบให้คำแนะนำต่อ Ulrika Eleonora โดยแนะให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติให้พระสวามี Fredrik of Hesse ขึ้นครองราชย์แทน เพราะในทางปฏิบัติ Fredrik คือผู้มีอิทธิพลเบื้องหลังการครองราชย์ของ Urika Eleonora อยู่แล้ว เพราะพระนางทรงอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างให้กับพระสวามีของพระองค์ นั่นคือ ทรงรับคำแนะนำและยอมทำตามคำปรึกษาของพระสวามี แต่ไม่ยอมรับคำแนะนำของสภาบริหาร ทั้งที่บทบัญญัติฯได้กำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์จะทรงปกครองอย่างอิสระไม่ได้แต่ต้องปกครองตามคำแนะนำของสภาบริหาร

และจากการที่ Urika Eleonora ทรงมีปัญหาในการครองราชย์อย่างที่ได้กล่าวไป กอปรกับการที่พระองค์ได้รับคำแนะนำจากสภาบริหารที่มีแผนการที่จะเปลี่ยนตัวผู้ครองบัลลังก์ และด้วยความที่พระองค์ทรงอุทิศทุกอย่างให้กับพระสวามี พระองค์จึงทรงครองราชย์เพียงช่วงระยะอันสั้นนั่นคือ ค.ศ. ๑๗๑๙-๑๗๒๐ แล้วทรงสละราชสมบัติให้พระสวามีของพระนางขึ้นครองราชย์แทนตามแผนของสภาบริหารโดยมี Arvid Horn ให้สัญญาว่าจะสนับสนุนการขึ้นครองราชย์ของ Fredrik

และนอกจากสภาบริหารแล้ว ยังมีมหาอำนาจต่างชาติสนับสนุนด้วย และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1720 Urika Eleonor ทรงประกาศสละราชสมบัติต่อรัฐสภา และหลังจากที่ Urika Eleonor ทรงประกาศสละราชสมบัติต่อรัฐสภาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1720 ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1720 ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ที่เป็นเงื่อนไขที่ผู้ที่จะขึ้นมาสืบราชสันตติวงศ์จะต้องยอมรับ

โดยรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ได้ลดทอนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นไปกว่า “บทบัญญัติแห่งสภาฐานันดรแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ค.ศ. 1719” อันเป็นผลจากการต่อรองของรัฐสภาที่ทางฝ่าย Urika Eleonor และ Fredrik ต้องยอมรับหากต้องการความเห็นชอบจากรัฐสภาในการสืบราชสันตติวงศ์ และเมื่อ Fredrik ได้ทรงลงนามในคำรับรองสิทธิ์ในการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ พระองค์ก็ทรงต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ในฐานะที่เป็นข้อต่อรองที่จะลดทอนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

และในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1720 พระองค์ได้ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและให้สัตย์ปฏิญาณต่อรัฐสภาที่จะเคารพรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 และทรงปฏิญาณว่า จะทรงยินยอมในทุกเงื่อนไขต่อรัฐสภาในฐานะที่เป็นผู้ถือครองอำนาจ (อภิชนฝ่ายเปลี่ยนแปลงการปกครองหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าองค์อธิปัตย์หรือ sovereign และอำนาจอธิปไตยหรือ sovereignty เพราะคำทั้งสองมีความหมายในทางลบ เพราะสื่อถึงการมีอำนาจอันไม่จำกัดแบบเดียวกันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเลือก Fredrik of Hesse ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน ในพระนามของ พระเจ้าเฟดริกที่หนึ่ง (Frederick I: ครองราชย์ ๑๗๒๐-๑๗๕๑) แห่งราชวงศ์เฮสเซอะ-คาสเซล (Hesse-Kassel)

คำถามคือ ทำไมรัฐสภาสวีเดนจึงลงมติให้ Frederick เจ้าชายจากต่างแดนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนแทนสมเด็จพระราชินีที่เป็นชาวสวีเดนและเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆของราชวงศ์สวีเดน ?

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่หก)

         Urika Eleonor                                        Arvid Horn                                  Frederick I