posttoday

เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (2)

30 พฤษภาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**********************

ตำแหน่ง ผบ.ทหารคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี?

สัปดาห์ก่อนผู้เขียนทิ้งท้ายในบทความนี้ไว้ว่า ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีทหารค้ำจุน “จะเป็นไปได้หรือไม่” บางท่านบอกว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้” โดยให้เหตุผลว่าทหารคือ “เสาหลัก” ในการค้ำจุนอำนาจขององค์อธิปัตย์มาแต่โบราณ ซึ่งในสมัยก่อนก็คือพระมหากษัตริย์ และในสมัยใหม่ก็คือรัฐบาล (โปรดสังเกตว่าค้ำจุนเฉพาะรัฐบาล ทั้งที่การปกครองที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นระบอบรัฐสภา ที่ทหารควรจะต้องคุ้มครองสภาหรือเชื่อฟังสภาเป็นสำคัญ)

แต่ก็มีผู้ถามว่าแล้วในหลายๆ ประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตย ทำไมทหารจึงไม่เห็นจะเข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรในทางการเมืองเลย ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องอธิบายด้วยกรอบคิดทาง ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครอง ซึ่งของประเทศไทยมีความแตกต่างจากชาติอื่นๆ

เป็นที่ทราบกันว่าตั้งแต่อดีตทหารคือสถาบันหลักในการค้ำจุนชาติและราชบัลลังก์ รวมทั้งที่พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงเป็นทหารหรือนักรบนั้นด้วย ทั้งยังต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับทหารและกองทัพจึงจะทำให้เกิดเสถียรภาพมั่นคง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ก็มีสัญญาณถึงความสัมพันธ์ที่สั่นคลอนนั้น เช่น การก่อกบฏของทหารชั้นผู้น้อยใน พ.ศ. 2455 ที่เรียกว่า “กบฏ ร.ศ. 130” ที่แม้จะไม่มีความเชื่อมโยงกันกับการสมคบคิดกันของกลุ่มข้าราชการรุ่นใหม่ในการวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในอีก 20 ปีต่อมา

แต่ก็ทำให้เห็นว่าทหารคือกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นได้ ดังที่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า คณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ตอนแรกมีแต่ข้าราชการพลเรือนเป็นส่วนใหญ่ ต้องไปหาแนวร่วมที่เป็นทหารมาเพิ่ม โดยได้ ร.ท.แปลก ขีตะสังคะ (ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) นายทหารหนุ่มที่ได้ทุนมาเรียนที่ฝรั่งเศสมาเป็นผู้วางแผนด้านการใช้กำลังทหาร

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่แสนง่ายดายในครั้งนั้นน่าจะเป็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ทรงไม่อยากเห็นการนองเลือด รวมทั้งที่พระองค์ท่านก็มีพระประสงค์จะให้มีการปกครองโดยใช้ระฐธรรมนูญอยู่ก่อนนั้นแล้ว แต่ก็มีข้อมูลจากนักวิชาการบางท่านเสริมว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่ง นั่นก็คือ “สภาพความสัมพันธ์อันเปราะบางภายในกองทัพ” โดยได้อธิบายไว้อย่างน่าคิดว่า จริงๆ แล้วทหารกับพระมหากษัตริย์นั้นต้องมีความเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” บ้านเมืองรวมทั้งสถานะของพระมหากษัตริย์จึงจะมีความมั่นคง

แต่ตั้งแต่มีการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5ทหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกปฏิรูป ส่วนหนึ่งก็คือการ “กระชับ” พระราชอำนาจ ด้วยการให้พระบรมวงศานุวงศ์เข้าควบคุมกรมทหารต่างๆ ที่กระจายไปในภูมิภาคภายใต้ระบบสมุหเทศาภิบาล แทนที่จะให้บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ควบคุม พร้อมกับการจัดรูปแบบของทหารรักษาพระองค์ในส่วนกลางที่จัดตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ให้ “แนบแน่น” กับพระมหากษัตริย์มากขึ้น พร้อมกับให้บรรดาเจ้านายและขุนนางส่งลูกหลานไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปศึกษาในวิชาการทหาร ดังที่ได้มีพระราชโอรสและพระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์ได้สำเร็จการศึกษามาจากหลายๆ ประเทศในยุโรป

นักวิชาการท่านนี้ยังอธิบายต่อไปว่า เนื่องจากไม่ได้มีศึกสงครามในการไปรบทัพจับศึกตามแบบโบราณ กำลังพลส่วนใหญ่จึงเพียงแค่ “ฝึกทหาร” ให้มีความเข้มแข็งและอยู่ในวินัยทหาร ส่วนที่เป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องไปคอยถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิด กรมกองทหารได้กลายเป็น “หมู่บ้าน” หรือชุมชนของบรรดากำลังพลที่รับใช้นายทหารเหล่านั้น ที่จะแยกชนชั้นกันเป็นสัดส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหน่วยทหารนั้นมีผู้บังคับบัญชาเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง ความรู้สึก “แบ่งแยกชนชั้นของทหาร” มีสูงมากในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นมาถวายการอารักขาเฉพาะพระองค์

โดยนัยว่าให้เป็นกำลังเสริมของทหารในการฝึกฝนยุวชนให้ช่วยรักษาและป้องกันประเทศ (บางตำราก็ว่าเป็นต้นกำเนิดของการฝึกนักเรียนนักศึกษาให้เป็น “รักษาดินแดน” หรื่อ “ร.ด.” ในปัจจุบัน) ความรู้สึกแบ่งแยกนี้ได้เป็นสาเหตุหนึ่งของการก่อการกบฏของทหารบางกลุ่ม คือ กบฏ ร.ศ. 130 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว รวมถึงเป็นเชื้อไฟให้กับการรัฐประหารวันที่ 24มิถุนายน 2475 นั้นด้วย (นักวิชาการท่านนี้อ้างถึงบทสัมภาษณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ได้สัมภาษณ์พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตหุ่นเชิดของคณะทหารในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น)

โดย “ฟางเส้นสุดท้าย” นั้นก็คือการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของประเทศในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกที่หนึ่งในช่วงต้นรัชกาลที่7 ซึ่งข้าราชการจำนวนมากต้องถูกให้ออกจากราชการ อย่างที่เรียกว่า “ถูกดุล” เพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว แต่ปรากฏว่าข้าราชการที่ถูกดุลเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการที่ “ห่างพระเนตรพระกรรณ” ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และนำมาซึ่งการสมคบคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด

เราคงรู้มาแล้วว่านายกรัฐมนตรีคนแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นไม่ใช่ทหาร แต่เป็นพลเรือนชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นามเดิมก้อน หุตะสิงห์ อดีตอาจารย์กฎหมาย อธิบดีศาลฏีกา และองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลสำคัญที่คณะราษฎรได้เลือกให้พระยามโนฯเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่อยู่ในสภาพเป็น “โซ่ข้อกลาง” ที่จะเชื่อมข้าราชการหรือข้าราชบริพารในระบบเก่าเข้าด้วยกันได้กับข้าราชการในระบบใหม่ที่ปฏิเสธความเป็นข้าราชบริพารนั้น อย่างที่สะแลงทางการเมืองในยุคนี้บอกว่าเพื่อป้องกัน “แรงกระเพื่อม” ไม่ให้ “กลุ่มอำนาจเก่า” กับ “กลุ่มอำนาจใหม่” ประหัตประหารกันและกัน ซึ่งนักวิชาการผู้นี้บอกว่าเป็น “มโนคติ” ที่ “คิดมากเกินไป” ของคณะราษฎร

คือคณะราษฎรยังคงกลัวและไม่ไว้วางใจ “พวกเจ้า”

*******************************