posttoday

สิ่งที่นายกรัฐมนตรี “ควรทำ” ในวินาทีนี้

25 มกราคม 2563

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************************************

นายกรัฐมนตรี “ควรใส่ใจ” ในงานสภาให้มากกว่านี้

ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยที่มีรัฐสภาเป็น “แกนอำนาจหลัก” ประกอบด้วยวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร เพราะทั้งสองสภานี้ต้องร่วมกันรับผิดชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐบาล การออกกฎหมาย และการตรวจสอบควบคุมการบริหาราชการแผ่นดิน

แต่สภาพการณ์ที่เป็นมานับตั้งแต่มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่24 มีนาคม 2562 กลับปรากฏภาพที่นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับ “งานสภา” เท่าใดนัก ทั้งนี้หากจะพิจารณาจาก “โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจ” ก็จะเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรจะให้ความสำคัญกับงานสภามากกว่านี้ หรืออันที่จริงต้อง “ให้มากที่สุด” ด้วยเหตุผลดังนี้

1. รัฐสภาคือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 114ได้เขียนไว้ว่า ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรนั้นคือ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” นั่นก็คือที่รวมแห่งอำนาจรัฐ เพราะอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย การให้ความสำคัญต่อรัฐสภาก็คือการให้ความสำคัญกับเจ้าของอำนาจ ซึ่งก็คือประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง

2. นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภา เริ่มจากการที่บุคคลใดจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภา และเมื่อจะปฏิบัติงานก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีไม่ได้ “ยิ่งใหญ่เหนือสภา” เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้นำเหล่าทัพ ที่คนทั้งกองทัพต้องให้ความเคารพยำเกรง แต่เป็นผู้นำของปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่ให้อำนาจและมอบหมายบทบาทหน้าที่ให้นายกรัฐมนตรีนั้นไปทำ นายกรัฐมนตรีเสียอีกที่ต้องเคารพนบนอบต่อประชาชน ด้วยการเคารพต่อสมาชิกรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเสียอีกที่ต้องทำตามที่ประชาชนต้องการ ด้วยการยอมตัวอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมโดยสภานั้นอย่างเคร่งครัด

3. นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งบริหาร คือเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เหมือนกับเป็น CEO ของประเทศ โดยกระบวนการทางการบริหารนั้น CEO ก็จะถูกแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหาร ซึ่งในทางการเมืองก็คือรัฐสภา นายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบต่อสภา ถูกกำกับควบคุมโดยสภา ทั้งนี้ CEO ที่เป็นมืออาชีพจะต้องทุ่มเทและเอาใจใส่ในการงานที่ต้องรับผิดชอบ จะต้องรายงานต่อสภาอย่างสม่ำเสมอ และจะต้องปรับปรุงแก้ไขการงานตามที่สภาแนะนำตลอดเวลา ถ้าในรูปแบบบริษัท CEO ต้องคำนึงอยู่ทุกเมื่อว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” แต่ถ้าเป็นรูปแบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีก็ต้องท่องให้จำติดใจว่า “ประชาชนคือพระเจ้า” ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจะละเว้นความรับผิดชอบต่อสภาอันเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศนั้นไม่ได้

ในมุมมองทางด้านวิชาการรัฐศาสตร์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีความบกพร่องในความรับผิดชอบต่อประชาชนนั้นอยู่มาก ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ต่อเนื่องกัน ดังนี้

เริ่มต้น พลเอกประยุทธ์ ปฏิเสธว่า ท่านไม่ใช่นักการเมือง ไม่เล่นการเมือง แต่มาทำงานการเมือง และเสียสละเพื่อประเทศชาติ ซึ่งความจริงท่านคือนักการเมือง โดยมีตำแหน่งสูงสุดในทางการบริหาร และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็คือตำแหน่งทางการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ก็ระบุไว้

เมื่อท่านไม่ยอมรับว่าท่านเป็นนักการเมือง ท่านก็เลยแสดงบทบาทว่าไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับอะไรๆ ที่เป็นเรื่องของนักการเมือง เริ่มตั้งแต่ไม่รับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และตลอดเวลาท่านก็วางตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองใดๆ แต่ก็เดือดร้อนมากเวลาที่มีนักการเมืองสร้างความเดือดร้อนให้ท่าน และมักจะรู้สึกยินดีหากมีนักการเมืองออกมาช่วยเหลือหรือปกป้องท่าน จนกระทั่งท่านได้รับฉายาจากสื่อว่า “อิเหนาเมาหมัด” เพราะเคยว่านักการเมืองทำไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่พอท่านมายุ่งเกี่ยวกับนักการเมืองเข้า หลายๆ อย่างท่านก็ทำอย่างที่นักการเมืองเขาทำกันนั่นแหละ

ดังนั้น ความวุ่นวายในสภาที่เป็นอยู่ ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจาก “ความไม่ใส่ใจ” ของผู้นำรัฐบาลเองนั่นแหละ เพราะความจริงท่านคือ “หัวหน้าประเทศ” ที่สภาได้มอบหมายให้ท่านดูแล อีกทั้งเป็น “หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล” ที่ท่านจะต้องคอยควบคุมเอาใจใส่ แต่ที่ผ่านมาเมื่อสภามีปัญหา ท่านก็ไม่มีความเห็นใดๆ ได้แต่บอกว่าให้สภาและพรรคต่างๆ ไปจัดการกันเอง ทั้งๆ ที่ส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของท่าน(ดังที่ได้อธิบายเป็นข้อๆ มา3ข้อข้างต้น) ที่สำคัญนั้นก็คือ “สปิริตผู้นำ” ที่เราเรียกในทางวิชาการว่า “ภาวะผู้นำ” ซึ่งก็คือ การแสดงตัวตนให้คนอื่นเห็นอย่างชัดเจนว่า ตนเองเป็นหัวหน้า เป็นผู้ชี้นำและอำนวยการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งองค์ประกอบของความเป็นผู้นำในตำราทางด้านการบริหารก็คือ “ความรับผิดชอบ ความกล้าหาญ การตัดสินใจ ความยุติธรรม ความเฉลียวฉลาด และความเอาใจใส่”

หลายคนไม่แน่ใจว่าพลเอกประยุทธ์มีองค์ประกอบของความเป็นผู้นำครบทั้ง 6 ประการนั้นหรือไม่ แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการเน้นย้ำเพียงแค่ในองค์ประกอบสุดท้าย คือ “ความเอาใจใส่” เพราะนี่เป็นปัจจัยที่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ได้มากที่สุด ในบรรยากาศทางการเมืองที่เราเรียกว่า “การเมืองเชิงอารมณ์” ที่กำลังดำเนินอยู่ในกระบวนการการสื่อสารทางการเมืองในยุคปัจจุบันนี้

“ความเอาใจใส่” หมายถึง การให้ความสำคัญกับผู้คน ซึ่งในทางการเมืองก็คือการให้ความสำคัญกับประชาชน ตอนนี้ปัญหาร้ายแรงอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายมากๆ ก็คือ ความวุ่นวายในสภา ที่สมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำลังแสดงบทบาทกันอย่างเละเทะเน่าเหม็น ทั้งนี้ท่านก็อย่าลืมว่า เหตุผลหนึ่งในการยึดอำนาจของท่านเมื่อวันที่22 พฤษภาคม 2557 ก็คือความเละเทะของระบอบรัฐสภานี่เอง วิธีแก้ปัญหาในเบื้องต้นก็ไม่ยาก เพียงแต่ท่านแสดงภาวะผู้นำ “ตวาด” ออกไปสักหน่อยไปยังคนที่สร้างความวุ่นวายเหล่านั้น จากนั้นท่านก็ออกรับที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาในส่วนที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงที่มีรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลของท่านเข้าไปเกี่ยวข้อง ท่านก็ต้องเข้าปรามด้วยเช่นกัน

ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ “ปรับทัศนคติ" แต่อาจจะต้องถึงขั้น “ปรับพฤติกรรม” นั้นเลย

*******************************