posttoday

กิจสังคมตายแล้ว !

11 มกราคม 2563

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************************

กิจสังคมใหม่ไม่มีเพราะกิจสังคมตายแล้ว

พรรคกิจสังคมถูกยุบไปโดยประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561หลังจากที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2517 รวมระยะเวลาได้ 53ปี11เดือน15วัน

กรณีที่มีข่าวว่านักการเมืองกลุ่มหนึ่งคิดที่จะก่อตั้งพรรคกิจสังคมขึ้นใหม่ ได้กลายเป็นประเด็นให้ผู้คนสงสัยกันมากว่า “มันคืออะไร” เพราะตามที่เกิดเป็นข่าวนั้นดูเหมือนว่าจะตั้งขึ้นมาเพื่อ “ต่อรอง” หรือรวมพลังเพื่อเรียกร้องเอาผลประโยชน์บางอย่างทางการเมือง เช่น ตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนให้รัฐบาล “มองเห็นหัว” กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้บ้าง ซึ่งก็คือการยกระดับความสำคัญของนักการเมืองกลุ่มนี้ ที่เคยดูเหมือนว่าเป็นแค่ “ไม้ประดับ” ให้กลายเป็น “ไม้เด่น” ให้อยู่ในสายตาของผู้มีอำนาจนั้นบ้าง

ผู้เขียนมีความผูกพันกับพรรคกิจสังคมมากพอสมควร เริ่มต้นผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมคนแรกและเป็นผู้ก่อตั้งพรรคกิจสังคมมากับมือ ได้เคยติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ของพรรคอยู่หลายปี ตั้งแต่สมัยที่พรรคกิจสังคมยังรุ่งรืองมากๆ มี ส.ส.ในสภา80-90 กว่าคน ยิ่งเวลาที่ไปหาเสียงทั้งเลือกตั้งใหญ่และเลือกตั้งซ่อม ก็ได้เห็นบรรยากาศว่า ประชาชนให้ความนิยมชมชอบแก่พรรคกิจสังคมนี้มากเพียงไร โดยเฉพาะ “คึกฤทธิ์ฟีเว่อร์” หรือความคลั่งไคล้ของประชาชนที่มีต่อผู้นำทางการเมืองท่านนี้ จนมีการพูดกันติดปากว่า “พรรคคึกฤทธิ์กิจสังคม” และมีเพลงหาเสียงของพรรคนี้ว่า “รักคึกฤทธิ์เลือกกิจสังคม”

พรรคกิจสังคมใน พ.ศ.2518-2531 เรียกว่าได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองของไทย” ตั้งแต่ที่เริ่มเปิดตัวการจัดตั้งพรรค ที่มีการประกาศว่าเป็น “พรรคการเมืองแนวใหม่” ด้วยการรวมตัวกันของผู้มีอุดมการณ์ที่จะใช้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนำการเมือง คือการเพิ่มรายได้ สร้างงาน กระจายรายได้ และสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม ร่วมกับการหาเสียงแนวใหม่ที่เน้นนโยบายเหล่านั้น มีการใช้เพลงและสื่อต่างๆ ในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างเข้มข้น โดยใช้สโลแกนในการหาเสียงว่า “เราทำได้” พร้อมโปสเตอร์ที่แปลกใหม่ติดตา คือเป็นรูปการชูกำปั้นสีดำโดดเด่น แทนที่จะเป็นรูปผู้สมัครอย่างที่เคยทำกันมา แม้ว่าจะได้ ส.ส.มาเพียง 18 คน แต่ก็ได้สร้างปาฎิหารย์ให้เกิดขึ้นได้ คือได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรคที่มีเสียงเพียงเท่านี้ คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่สิ่งที่ทำให้พรรคกิจสังคมและท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กลายเป็นที่จดจำ และเกิดเป็น “ตำนานทางการเมืองของไทย” ก็คือ “นโยบายเงินผัน” ที่รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพียงแค่จะสร้างงานในชนบทในฤดูแล้ง แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมากลับมากมายมหาศาล ไม่เฉพาะแต่การระงับปัญหาการแย่งกันหางานทำในเมืองในทุกฤดูแล้งที่เป็นปัญหามาเป็นสิบๆ ปีอย่างได้ผลแล้ว แต่ยังได้ทำให้คนในชนบทรู้สึกตัวว่า “เป็นคนสำคัญ” ที่รัฐบาลได้หันมาให้ความสนใจและทุ่มเทงบประมาณมาให้ประชาชนได้สร้างสิ่งที่ปรชาชนต้องการ “ด้วยมือของพวกเขาเอง” และด้วยนโยบายนี้ได้ทำให้คำว่า “คึกฤทธิ์กิจสังคม” ติดปากผู้คน จนกระทั่งการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ มามีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ คือ 45คนในปี 2519 จำนวน 82 คนในปี 2522 และ 96 คนในปี2526

นโยบายเงินผันนี่เองคือ “ต้นตำหรับ” ของการใช้แนวคิดประชานิยมเพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้นำมาใช้ในปี 2544นั่นก็คือนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านยังโจษขานถึงอยู่เช่นกัน นอกเหนือจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่เป็น “แบรนด์” ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ไปแล้วนั้น ซึ่งในสมัยที่พรรคกิจสังคมเป็นรัฐบาลก็ได้ทำไว้เป็นต้นแบบ อย่างนโยบายที่พรรคกิจสังคมใช้หาเสียงในการเลือกตั้งทุกครั้งว่า "เงินผัน ประกันราคาพืชผล ส่งเสริมสภาตำบล คนจนรักษาฟรี”

ผู้เขียนได้เขียนวิทยานิพนธ์ตอนที่จะจบปริญญาโท จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2528 เรื่อง “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคกิจสังคม” ว่าด้วยความสำเร็จและความล้มเหลวของพรรคการเมืองพรรคนี้ พบว่าปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองพรรคนี้ประสบความสำเร็จทางการเมือง ด้วยการเอาชนะเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลนั้น อันดับหนึ่งคือ “บารมีของหัวหน้าพรรค” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อันดับสองคือ “ความสามัคคีของ ส.ส.ในพรรค” และอันดับสาม “ผลงานของพรรค”

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ล้มเหลว อันดับหนึ่งคือ “การแย่งชิงผลประโยชน์ภายในพรรคและในรัฐบาล” อันดับสองคือ “การแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจภายนอกพรรค” (สมัยนั้นคือทหารที่เข้ามายุงแยงตะแคงรั่วให้ ส.ส.ทะเลาะกัน) และอันดับสามคือ “การเกิดขึ้นของคู่แข่งใหม่ๆ ทางการเมือง” (ตอนที่พรรคกิจสังคมจะเสื่อมนั้น ได้มีพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในแนวใหม่ๆ หลายพรรค ที่โดดเด่นคือพรรคพลังธรรม ซึ่งต่อมาในช่วงตั้งแต่ปี 2529 จนถึง 2538 ได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และมีบทบาททางการเมืองมากมาย โดย ดร.ทักษิณก็เคยเป็นหัวหน้าพรรคนี้ในช่วงท้ายๆ นั้นด้วย)

ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้วเสร็จ และมีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งตามมา ผู้บริหารของพรรคได้มาขอให้ผู้เขียนหาคนมาเป็นหัวหน้าพรรค “โดยไม่คิดมูลค่า” เพื่อที่จะรักษาพรรคนี้ให้คงอยู่ต่อไป และหวังที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.เข้ามาบ้าง ผู้เขียนก็ได้ไปคุยกับ “คนมีตัง” ที่เขาสนใจการเมืองอยู่ 3-4 คน โดยเฉพาะคนที่รักและเคารพในตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่คำตอบจากทุกคนนั้นออกมาคล้ายๆ กัน คือ “พรรคกิจสังคมตายแล้ว ตายไปพร้อมๆ กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั่นแหละ”

ท่านทั้งหลายที่อยู่ในแวดวงของการเมืองไทย น่าจะมองเห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า พรรคการเมืองของไทยผูกพันอยู่กับ “เจ้าของพรรค” อย่างแยกกันไม่ได้ เมื่อเจ้าของพรรคตายไป พรรคการเมืองนั้นก็ต้องตายตามเขาไปเป็นธรรมดา อนึ่งคนไทยนั้นมีนิสัย “ชอบของใหม่” ชอบพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ๆ (หรือชื่ออะไรที่มีคำว่า “ใหม่ๆ”) จงอย่าได้ไปยึดติดอะไรที่เป็นอดีตเลย

อดีตนั้นเหมือนกระจกเงา ยิ่งเพ่งมองยิ่งเห็นแต่ความเศร้าหมอง

*******************************