posttoday

ชังชาติไม่ใช่ชังกันและกัน

21 ธันวาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

************************************

ถ้าจะต่อต้านการชังชาติก็อย่าทำให้คนไทยชังกันและกัน

“ชังชาติ” มาจากแนวคิด Anti-patriotism หรือ “ต่อต้านความรักชาติ” มีกำเนิดขึ้นในยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยถูกผนวกเข้ากับแนวคิด “การเกลียดชังทหารและต่อต้านสงคราม” รวมถึงต่อต้านชาติที่ “บ้าสงคราม” หรือต่อต้านระบอบการปกครองที่ปกครองโดยทหารนั้นด้วย

ในกรณีของประเทศไทย แนวคิดนี้ได้กลายมาเป็น “วาทกรรม” หรือการโต้ตอบกันทางคำพูดในทางการเมือง ภายหลังจากที่มีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งออกมากล่าวถึง “การสานต่อภารกิจ 2475 ” ในช่วงของการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ต้นปีที่ผ่านมา โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้ประกาศแนวคิดดังกล่าวนี้ จากนั้นเมื่อพรรคการเมืองพรรคนี้ได้รับชัยชนะเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 81 เสียง ก็ได้มีความเคลื่อนไหวในการที่จะดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าว เช่น การรณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร(ทราบว่ามีการเสนอร่างกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยแล้ว) การเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการที่จะตรวจสอบคำสั่งของ คสช.(ซึ่งแพ้คะแนนในการขอนับคะแนนใหม่นั้นไปแล้ว) และการขุดคุ้ยข้อพิรุธงบประมาณของทหาร เป็นต้น จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลได้ออกมา “ติดเบรค” โดยประกาศว่าจะจัดการกับพวกที่เผยแพร่ “ลัทธิชังชาติ” นี้อย่างเด็ดขาด

คำว่า “ชาติ” ในตำรารัฐศาสตร์มีความหมายถึง “ประชากรที่รวมกันอยู่ในดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน มีคณะผู้ปกครองที่มีอำนาจตามกฎหมาย และมีอำนาจอธิปไตยในดินแดนของตน คือเป็นอิสระจากการครอบงำของชาติอื่น” จึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่คณะผู้ปกครอง หรือกลุ่มประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่ “ชาติ” คือภาพรวมของความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ระบอบการปกครองอันเดียวกันนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้นโดยนัยของความหมายนี้ การชังชาติก็จะหมายถึง การเกลียดชังคนทั้งชาติ เกลียดชังทั้งรัฐบาล และระบอบการปกครองนั้นด้วย ซึ่งก็เป็นแนวความคิดอันเดียวกันกับ “ลัทธิอนาธิปไตย” (Anarchism) คือลัทธิที่ไม่ยอมรับระบอบการปกครองใดๆ รวมถึงการปกครองที่ปราศจากรัฐหรือรัฐบาล อันเป็นแนวคิดที่สุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบ “คลั่งชาติ” คือ “Nationalism” ที่เป็นปลายสุดของพวกรักชาตินิยม หรือ Patriotism

ในกรณีของประเทศไทย ที่ผู้มีอำนาจของรัฐบาลได้มองการรณรงค์ทางการเมืองในบางเรื่องของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น “แนวคิดชังชาติ” โดยเหมารวมว่า การเกลียดชังทหารคือการชังชาติ รวมถึงการต่อต้านคิดโค่นล้มรัฐบาลก็คือการ “โค่นล้มชาติ” ถ้าเป็นดังนั้นแล้วก็จะเป็นแนวคิดในแนว “คลั่งชาติ” นั้นมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแนวคิดที่ “ตีค่า-ตีความ” ที่ผิดๆ ด้วยอาจจะเป็นการมองของฝ่ายรัฐบาลที่ “ลึกซึ้ง” จนเกินไป หรือด้วยความหวาดระแวงจนถึงขั้น “หวาดกลัว” นั้นจนเกินไป

แน่นอนว่า ทหารเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของชาติ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลหรือผู้ปกครอง ก็ไม่ใช่ “ทั้งหมด” ของชาติ ดังนั้นเมื่อมีคนเบื่อหรือเกลียดชังทหารและรัฐบาล ก็เป็นแค่การเบื่อหรือเกลียดชังทหารและรัฐบาล หาใช่การเกลียดชังชาติในความหมาย “ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน” นั้นแต่อย่างใดไม่ ในทำนองเดียวกันกับ “ความรักชาติ” ก็อาจจะมีการแสดงออกได้หลายๆ รูปแบบ ที่อาจจะแสดงความเบื่อหน่ายในการใช้อำนาจรัฐ เมื่อเห็นว่าอำนาจรัฐนั้นไม่ได้สนองตอบต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง หรืออาจจะมองเห็นอันตรายของการอยู่ในอำนาจนานๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่ม อย่างในกรณีนี้ก็คือทหาร ที่อาจจะมีคนไม่ค่อยชอบใจ และหวั่นเกรงว่าจะนำมาสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือการคงอยู่ของเผด็จการต่อไปนานๆ อย่างไม่รู้วันสิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านคนรุ่นเก่า ก็มีหลายๆ สิ่งที่น่าเป็นกังวล เพราะถ้าคนรุ่นใหม่มีแนวคิดที่จะสร้างชาติใหม่ ก็ไม่ควรที่จะเริ่มจาก “การแบ่งแยกคนในชาติ” (เหมือนกับที่ผู้ที่มีอำนาจทำกับคนรุ่นใหม่) และยิ่งเป็นแนวคิดของนักประชาธิปไตย ก็ไม่ควรที่จะ “แบ่งแยกทางความคิด” เพราะความคิดอันหลากหลายนั้นน่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย เว้นแต่ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่คิดที่จะสร้างชาติโดยไม่ต้องมีคนรุ่นเก่าร่วมอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียใจที่สังคมไทยอาจจะสูญสิ้นหรือถึงกาลอวสานต์ ด้วยระบบที่ “แบ่งเขาแบ่งเรา” นี่เอง

ประเทศจีนคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ.2509 เคยมี “ขบวนการปฏิวัติวัฒนธรรม” หรือขบวนการ “แก๊งค์ออฟโฟร์” โดยคนรุ่นใหม่ของจีน(ว่ากันว่าก็คือกลุ่มคนที่เหมาเจ๋อตุง “ฟูมฟัก” ที่จะให้มาเป็นผู้นำในรุ่นต่อไป)ก่อกระแสต่อต้านคนรุ่นเก่าและ “วัฒนธรรมเก่าๆ” ทำให้ประเทศจีนเกิดความวุ่นวายเป็นจลาจลอยู่หลายปี จนถึง พ.ศ. 2514 ขบวนการนี้ก็หมดพลังไป และผู้นำของกลุ่มได้ถูกจับกุม เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงแก่จีนในทางที่ดีขึ้น พอดีกับที่เหมาเจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรม เติ้งเสี่ยวผิงได้ขึ้นมามีอำนาจสืบต่อ ได้นำแนวคิดการประสมประสาน ทั้งในทางวัฒนธรรมที่ไม่ไปทำลายล้างวัฒนธรรมเก่าๆ ของจีน และในทางเศรษฐกิจที่ใช้ทฤษฎี “แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นดีทั้งนั้น” ซึ่งได้ทำให้จีนมีความเจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญคือ “ความแข็งแกร่งทางสังคม” ที่คนทั้งชาติผนึกกำลังช่วยกันในการสร้างชาติ

ถ้าหากจะมองกันให้รอบด้าน สังคมไทยยังมีปัจจัยทางสังคมที่ดีอยู่มาก โดยเฉพาะระบบครอบครัว การนับถือผู้ใหญ่ และความกตัญญูรู้คุณ เพียงแต่ว่าผู้ใหญ่หรือคนรุ่นเก่าจะต้องเปิดใจกว้าง มองคนรุ่นใหม่อย่างให้เกียรติและให้โอกาส ให้พื้นที่ในการแสดงออกและเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางการเมือง ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็จะต้องไม่ “มุทะลุ” หรือเอาอารมณ์อันเร่งร้อนนั้นมาเป็นแรงขับในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องเป็นไปอย่างการประสานความคิด และความร่วมมือกันอย่างสมดุล

ที่สำคัญอย่าให้ “การชังชาติ” กลายเป็น “การชังกันและกัน”

*******************************