posttoday

อินเดียวันนี้ (12)

09 ธันวาคม 2562

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**************************************

เรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับยานจันทรา-2 คือ เรื่องการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่ยังใช้เทคโนโลยีของยุค “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” (Industrial Revolution) ซึ่งปัจจุบันเป็นยุค “หลังอุตสาหกรรม” (Post-industrialization) แล้ว เทคโนโลยีที่หนังสือพิมพ์ใช้มีการนำเทคโลยีสื่อสารที่ทันสมัยเข้ามาใช้มากมายแล้ว แต่สภาพโดยพื้นฐานหนังสือพิมพ์โดยมากก็ยังใช้กระดาษที่มุ่งส่งถึงผู้อ่านยามเช้าตรู่

กระบวนการทำหนังสือพิมพ์ทั่วไปยังคงต้องเริ่มตั้งแต่การหาข่าว ตรวจสอบข่าว เขียนข่าว พาดหัวข่าว พิมพ์ แล้วส่งถึงสายส่ง / ร้านค้า / หรือประตูบ้านของสมาชิก ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

โดยธรรมชาติของหนังสือพิมพ์จะต้องมีการแข่งขันสูง ทั้งเรื่องคุณภาพและความรวดเร็ว งานหนังสือพิมพ์จึงเป็น “วรรณกรรมเร่งรีบ” ที่ต้องแข่งกับเวลา และมีโอกาสผิดพลาดได้สูง หนังสือพิมพ์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบงานให้สามารถเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ และเอาชนะคู่แข่งให้ได้อยู่ตลอดเวลา

ยานวิกรมที่จะร่อนลงสู่ดวงจันทร์ เริ่มเคลื่อนลงสู่ดวงจันทร์ที่ระยะทางเหนือดวงจันทร์ 30 กม. ตามกำหนดจะใช้เวลา 15 นาทีในการร่อนลงสู่ดวงจันทร์ เริ่มจากความเร็ว 6,048 กม./ชม. เหลือ 0 กม./ชม. ภายใน 15 นาที ดร.เค.ศิวัน ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดียเรียกช่วงเวลา 15 นาที นั้นว่าเป็น “15 นาทีสยองขวัญ” (15 minutes of terror) เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

ยานวิกรมเริ่มการร่อนลงสู่ดวงจันทร์ เมื่อเวลา 01.38 น. ของเช้ามืดวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562 ณ ตำแหน่งที่ห่างไกลจากโลกเกือบ 4 แสน กม. จึงเป็นเวลายากลำบากสำหรับหนังสือพิมพ์ที่จะเขียนข่าว และพาดหัวข่าวให้ถูกต้อง และส่งหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันเสาร์ถึงประตูบ้านสมาชิกเช้าตรู่วันเสาร์อย่างถูกต้องแม่นยำ

เรื่องเช่นนี้ เคยทำให้หนังสือพิมพ์ “ยักษ์ใหญ่” ในประเทศไทย “หน้าแตก” เป็นริ้วๆ มาแล้ว ในการเสนอข่าวการลงสู่ดวงจันทร์ของมนุษย์อวกาศในยาน “อพอลโล 13” ซึ่งกำหนดจะลงสู่ดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2513 เวลา 18.07.41 น. (ยิงจรวดจากโลก วันที่ 11 เมษายน 2513 เวลา 19.13.00 น.)

ช่วงนั้น หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยมีการแข่งขันกันดุเดือดมาก โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีการใช้วิธีลงวันที่ในหนังสือพิมพ์ล่วงหน้า เพื่อแสดงว่าหนังสือพิมพ์เรา “เร็วกว่า” เพราะเชื่อว่าจะทำให้ขายได้มากกว่า แรกๆ ก็ลงวันที่ล่วงหน้าวันเดียว หนักเข้าก็ล่วงหน้าถึง 2 วัน

ปัญหาเกิดขึ้น คือ บางข่าวบางเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ก็มีการ “คาดการณ์” เขียนล่วงหน้าเสมือนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่เหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นจริง ก็จะต้อง “หน้าแตก” ไปตามๆ กัน

กรณีที่ทำให้เกิดการหน้าแตกครั้งใหญ่ในหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ คือ กรณียานอพอลโล 13 ซึ่งมีกำหนดการส่งมนุษย์อวกาศไปลงดวงจันทร์ หลังจากความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของยานอพอลโล 11 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2512 เวลา 16.50.35 น. และยานอพอลโล 12 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2512 เวลา 20.58.24 น.

กำหนดการลงดวงจันทร์ของมนุษย์อวกาศในยานอพอลโล 13 มีการเผยแพร่ข้อมูลทางการจากสำนักข่าวสารอเมริกันในกรุงเทพฯ ให้แก่สื่อล่วงหน้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่ “น่าเชื่อถือ” และทุกคนก็ “เชื่อมือ” องค์การนาซ่าของสหรัฐ จนไม่คิดว่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้น แต่แล้วก็เกิดเรื่องจนได้กับยานอพอลโล 13 ซึ่งตัวเลขเป็นตัวเลข “อาถรรพ์” ตามความเชื่อของชาวคริสต์จริงๆ ยานไม่สามารถส่งมนุษย์อวกาศไปลงดวงจันทร์ได้ เคราะห์ดีที่นักบินอวกาศและผู้เกี่ยวข้องสามารถนำยานกลับสู่โลกได้โดยมนุษย์อวกาศทั้งหมดรอดชีวิต แต่มีคนหนึ่งมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เพราะต้องจำกัดน้ำดื่ม ระหว่างได้รับความช่วยเหลือจากฐานปฏิบัติการบนโลก ให้เดินทางกลับสู่โลก ขณะที่น้ำบนยานเหลืออยู่น้อย ต้องกินกันอย่างจำกัดให้พอก่อนจะกลับถึงโลก

แต่หนังสือพิมพ์หลายฉบับของไทยลงข่าวความสำเร็จไปล่วงหน้าแล้ว

กรณีดังกล่าวทำให้วงการหนังสือพิมพ์ไทยต้องทบทวนกันครั้งใหญ่ เลิกลงวันที่ล่วงหน้า “หลายๆ วัน” นับตั้งแต่บัดนั้น

สำหรับหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ออฟอินเดีย ซึ่งมียอดพิมพ์จำหน่ายถึงวันละ 4 ล้านฉบับ มีโครงการ “อาทิตย์อุทัย” (Project Sunrise) เร่งรัดทุกฝ่ายในกองบรรณาธิการ-ฝ่ายผลิต-ฝ่ายจำหน่าย จะต้องทำงาน ตามกำหนดเวลาโดยเคร่งครัด โดยต้องรักษาคุณภาพไว้ให้ได้ด้วย

กรณียานวิกรม เริ่มร่อนลงสู่ดวงจันทร์เวลา 01.38 น. ขาดการติดต่อเวลา 01.51 น. และ ดร.เค ศิวัน ประกาศ “ข่าวร้าย” เมื่อเวลา 02.16 น.

สิ่งที่กอง บก. ต้องทำคือ จะต้องส่งข่าวทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการผลิตภายใน 2-3 นาที หากยานลงจอดสำเร็จตามกำหนดเวลา 01.53 น.

จะทำเช่นนั้นได้ ก็โดยฝ่ายข่าวด้านอากาศและเทคโนโลยี ต้องเตรียมเขียนข่าวและพาดหัวข่าวไว้ทั้งกรณีสำเร็จและล้มเหลว จึงเกิดเรื่องราว “นิทานเรื่องสองพาดหัว” (A Tale of Two Headlines) ซึ่ง “เลียน” ชื่อ นิยายที่มีชื่อเสียง “นิทานสองนคร” (A Tale of Two Cites) ของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ นักประพันธ์เรืองนามของอังกฤษ

พาดหัวที่หนึ่งพร้อมโปรยหัวข่าวคือ “อินเดียไปถึงที่ที่ไม่มีประเทศใดเคยไปถึง : ขั้วใต้ของดวงจันทร์. อัจฉริยภาพของอินเดีย! (Indigenius!) เราเรียกหาดวงจันทร์ และเราได้ดวงจันทร์. อันดับ 4 มีเพียงสหรัฐ รัสเซีย และจีน ที่ร่อนลงดวงจันทร์ได้”

พาดหัวที่สองพร้อมโปรยหัวข่าวคือ “เพียง 2 กม. ก่อนร่อนลงบนดวงจันทร์, ยานวิกรมเงียบหาย. นายกฯ : มั่นใจว่า เราจะสำเร็จในความพยายามครั้งต่อไป”

แน่นอนว่า ทั้งหนังสือพิมพ์เดอะไทม์สออฟอินเดีย และคนอินเดียทั้งโลก ต้องอ่านพาดหัวที่สอง

แต่หนังสือพิมพ์เดอะไทม์สออฟอินเดียก็ทิ้งท้ายว่า “เราหวังว่า เราจะมีโอกาสสักครั้งหนึ่งที่จะพาดหัวข่าวแบบที่หนึ่ง”

แน่นอนว่า ความหวังนี้ย่อมเป็นความใฝ่ฝัน มิใช่ความเพ้อฝัน เพราะนักวิทยาศาสตร์อินเดียเคยล้มเหลวหลายครั้ง แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ที่น่าทึ่งคือ ความสำเร็จเหล่านี้เป็นฝีมือคนอินเดีย ที่จบการศึกษาจากอินเดียทั้งสิ้น โดยค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยามาก

*******************************