posttoday

สภาพึ่งไม่ได้ ระวัง "ไฟ" ท่วมทุ่ง

07 ธันวาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

********************************

ปัญหาของรัฐสภาไทยคือความไม่ใส่ใจของนักการเมือง

การลงมติไม่ผ่านญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เมื่อค่ำวันที่ 4 ธันวาคม ด้วยคะแนน 244 เสียง ในขณะที่ฝ่ายค้านก็ประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุม เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงถึงความร้าวฉานในระบบรัฐสภา ที่ถือกันว่าเป็นสถาบันสูงสุดหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย นั่นก็คือ “อำนาจนิติบัญญัติ” ที่มีหน้าที่อย่างสำคัญในการบริหารจัดการ “ระบบนิติรัฐ” อันเป็นหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักการเมืองทั้งหลายต้องร่วมกันรับผิดชอบ รวมถึงรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีซึ่งก็เป็น “นักการเมือง” อยู่ด้วยคนหนึ่ง ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้

คำพูดหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีชอบพูดก็คือ “อย่าเอาเรื่องการเมืองมาทำลายการบริหารประเทศของรัฐบาล” อันเป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบ เนื่องจากตัวนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นนักการเมือง (รัฐธรรมนูญกำหนดสถานะและบทบาทหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างเด่นชัด ว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งทางการเมือง และเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร ที่จะต้องทำการเกี่ยวข้องกับการเมืองทุกลมหายใจ) จะต้อง “ทำงานการเมือง” ให้เต็มที่ นั่นก็คือ นอกเหนือจากงานบริหารประเทศอันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลก็ยังต้องรับผิดชอบต่อสภา ต้องร่วมมือกับสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน คำพูดในทำนองดังกล่าวทำให้ผู้คนมองการเมืองว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย คอยทำลายการบริหารประเทศ ซึ่งก็คือการมองว่าตัวแทนของประชาชนทำลายบ้านเมืองนั่นเอง

มีตัวอย่างมากมายของผู้นำรัฐบาลที่ไม่ให้ความเคารพนับถือต่อสมาชิกรัฐสภา แล้วก็นำมาซึ่งการล่มสลายของระบบรัฐสภา เอาช่วงใกล้ๆ ตัวก็คือในช่วงของนายกรัฐมนตรีหญิง ระหว่างปี2554-2556 ตัวนายกรัฐมนตรีก็ขาดประชุมเป็นประจำ และก็คล้ายๆ กันกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ไม่ค่อยชี้แจงหรือตอบญัตติต่างๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงที่พยายามลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง ทำให้ “ภาวะผู้นำบกพร่อง” และที่สุดก็คุมสภาไม่ได้ เพราะปล่อยให้สมาชิกสภาทะเลาะกันไปเรื่อยๆ เหมือนกับมีเจตนาที่จะปล่อยให้สภาเละเทะ มีภาพลักษณ์เสื่อมเสียไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะชูอำนาจในสถาบันที่ตนเกาะยึดคือกองทัพนั้นให้โดดเด่น จึงเท่ากับไม่ส่งเสริมระบบรัฐสภา และน่าจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย

ความคิดเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดส่วนตัวของผู้เขียนกล่าวขึ้นลอยๆ แต่มีกล่าวขานกันอยู่ในโซเชียลมีเดียอย่างโจ๋งครึ่ม เนื่องด้วยในเวทีของรัฐสภาที่ดูเหมือนว่าผู้ครองอำนาจรัฐไม่ใคร่ให้ความสำคัญกับตัวแทนของประชาชน แต่คนเหล่านี้เขามีเครือข่าย มีกลุ่มสังคมที่เขาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ตลอดวลา เขาจึงพูดคุยกันผ่านเครือข่ายสื่อสังคมเหล่านี้ บ้างก็รำพันด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ บางคนก็ถึงกับแสดงความเคียดแค้นชิงชังออกมาอย่างดุเดือด บ้างก็มีประเด็น “ลุกลาม” ไปถึงส่วนอื่นๆ เช่น สถาบันที่เราเคารพเทิดทูนนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจก็ทราบเรื่องของการมีปฏิกริยาเช่นนี้เป็นอย่างดี (เพราะมีกฎหมายและตั้งหน่วยงานขึ้นมาจัดการกับเรื่องเหล่านี้แล้ว) แต่คงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จึงน่ากลัวว่าปัญหานี้จะกลายเป็น “ไฟลามทุ่ง” อย่างแน่นอนในเวลาไม่ช้านี้

ผู้เขียนมีข้อมูลจริงเกี่ยวกับกรณีของ “ไฟลามทุ่ง” นี้ เป็นข้อมูลที่ได้จากตัวผู้เขียนเอง เพราะในช่วงเวลา2-3ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ทำคดีเกี่ยวกับความผิดทางอิเล็คโทรนิคและเทคโนโลยี ได้แก่ คดีที่มีการโพสต์และแชร์ข้อความอันเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์บ้าง หมื่นสถาบันต่างๆ เช่น กองทัพ และรัฐบาลบ้าง รวมถึงคดีที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ที่เรียกว่า “คดีความมั่นคง” รวมแล้วนับเป็นสิบๆ คดี โดยให้ช่วยเป็น “พยานผู้เชี่ยวชาญ” ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่สอนด้านรัฐศาสตร์ และเคยเป็นกรรมาธิการที่ทำคลอดพระราชบัญญัตติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550โดยได้ขึ้นให้การต่อศาลในคดีเหล่านั้นมาเป็นระยะ บางคดีศาลก็ตัดสินไปแล้ว บางคดีก็ยังอยู่ในขั้นตอนการส่งฟ้องของอัยการ

มีคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นผู้นำรัฐบาลอยู่ 2-3 คดี รวมถึงหมิ่นผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มาขอความเห็นกับผู้เขียนก่อนที่จะทำความเห็นให้อัยการส่งฟ้อง แต่ผู้เขียนเห็นว่าการโพสต์การแชร์ในเรื่องเหล่านี้เป็น “เรื่องปกติทางการเมือง” เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการบริหารประเทศ เมื่อคุณ(นายกรัฐมนตรี)เป็นผู้นำในรัฐบาล และคุณ(ผู้บัญชาการเหล่าทัพ)เป็นผู้ที่เข้ามายุ่มย่ามทางการเมือง คุณก็ต้องถูกวิจารณ์ได้ และการวิจารณ์ทางการเมืองไม่ใช่ความขัดแย้ง ถ้าเป็นการวิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผล(แม้บางทีอาจจะเป็นเหตุผลที่ดูไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งก็ต้องไปฟ้องร้องกันเอาเป็นความผิดส่วนบุคคล) ก็ต้องถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ยิ่งกว่านั้น การแสดงความคิดเห็นถือว่าเป็น “เสรีภาพทางการเมือง” ที่สำคัญ จึงจำเป็นที่จะต้อง “พิทักษ์สิทธิ” คือการให้เสรีภาพที่จะให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น โดยเคารพซึ่งความคิดเห็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

มีหลายคดีที่น่าเห็นใจ แต่เมื่อยึดหลักกฎหมายแล้วก็ต้องถือว่ามีความผิด เช่น ในคดีหนึ่งที่ผู้ถูกฟ้องมีอายุแค่ยี่สิบปีต้นๆ ชอบเล่นคอมพิวเตอร์และเฟซบุค จึงแชตหรือสนทนากับผู้คนในบางเว็บ แล้วไปแสดงความคิดเห็น “จาบจ้วง” พระมหากษัตริย์ แต่พอผู้เขียนได้ไปขึ้นศาลและเห็นตัวจริงของผู้ถูกฟ้อง ก็ให้สงสารอย่างจับใจ เพราะทราบว่าพ่อแม่หย่าร้างกัน แล้วลูกก็มาอยู่กับพ่อที่ไม่มีเวลามาดูแลลูกมากนัก และดูเหมือนว่าผู้ถูกฟ้องจะมีสภาพจิตที่ไม่ปกตินัก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเมตตาของศาลว่าจะลงโทษหรือผ่อนหนักผ่อนเบาอย่างไร อีกคดีหนึ่งผู้ถูกฟ้องเป็นแม่ค้าขายของในตลาดสด ความที่เคยร่วมชุมนุมกับคนสีเสื้อหนึ่ง ก็เลยมีการสนทนาพูดคุยและแชร์ข้อมูลเรื่อง “เจ้า” กันอยู่เป็นประจำ พอขึ้นศาลแกก็สารภาพว่า “ทำตามเขา” เขาให้ทำอะไรก็ทำตามๆ กัน ไม่ได้มีเจตนาที่จะล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด

สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าสงสาร เพราะเป็นสังคมที่ผู้นำไม่ได้ดูแลผู้คนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน หากทิ้งไว้ก็จะมีคนที่ฉวยประโยชน์จากความน่าสงสารเหล่านี้ กลายเป็นเชื้อประทุที่จุดไฟลามไปทั่วสังคมไทย

ถึงวันนั้นท่านผู้ปกครองก็คงอยู่ในไฟที่ “ลุกท่วมทุ่ง”