posttoday

การยุติโทษประหารชีวิต

11 ตุลาคม 2562

โคทม อารียา

โดย...โคทม อารียา

*********************************************************

วันที่ 10 ตุลาคมเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล จึงเป็นโอกาสที่จะมาดูข้อมูลว่า การพิพากษาลงโทษประหารชีวิตกับการบังคับโทษประหารชีวิตในประเทศต่าง ๆ นั้นไปถึงไหนแล้ว โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากการศึกษาของคุณกีโยม ซีมง นักวิจัยชาวฝรั่งเศส และจากรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

สถิติ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 แสดงว่า ประเทศส่วนใหญ่ (106 ประเทศ) ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทุกประเภท และบางประเทศ (8 ประเทศ) ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในความผิดไม่ร้ายแรง ส่วนอีก 28 ประเทศไม่ดำเนินการลงโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ แต่เนื่องจากยังมีประเทศ 56 ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตไว้ รวมถึงประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ด้วยนั้น ผลก็คือ ประชากรประมาณ 2 ใน 3 (5,000 ล้านคนจากประชากรโลกทั้งหมด 7,500 ล้านคน) ยังอาศัยอยู่ในประเทศที่มีโทษประหารชีวิต

แต่เดิมมา ประเทศทั่วโลกมีโทษประหารชีวิต ประเทศแรกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาหลายศตวรรษ (ค.ศ. 764 ถึง 1159) ได้แก่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมามีความพยายามประปรายที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศต่าง ๆ แต่ก็ยกเลิกเพียงชั่วคราวแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น ฝรั่งเศส (เลิกชั่วคราวในปี ค.ศ. 1795) เวเนซูเอลา (ค.ศ. 1863) คอสตาริกา (1877) ประเทศแรกในยุโรปที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นการถาวรในปี ค.ศ. 1949 ได้แก่สหพันธรัฐเยอรมัน และต้องรออีกหลายทศวรรษกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปจะทำตาม เช่น โปรตูเกสในปี 1976 และ ฝรั่งเศสในปี 1981

สำหรับประเทศในเอเซียอาคเนย์ แม้ผู้นำประเทศไทยจะเคยยกประเด็นนี้มาพิจารณาในปี พ.ศ. 2477 แต่ไม่มีผลประการใด ประเทศแรกที่ยกเลิกสำเร็จในปี 2532 คือ กัมพูชา ตามด้วยฟิลิปปินส์ และตีมอร์ตะวันออก ผมเข้าใจว่าเหตุผลที่ยกเลิกได้สำเร็จ เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ และความเชื่อทางศาสนาเรื่องการไม่ฆ่า ซึ่งมีอยู่ชัดเจนในศาสนาพุทธ (กรณีกัมพูชา) และศาสนาคาทอลิก (กรณีฟิลิปปินส์และตีมอร์ตะวันออก) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้นำทางการเมืองของมาเลเซียได้ประกาศความตั้งใจที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ข่าวล่าสุดคือ การยกเลิกจะเลื่อนออกไปก่อน เพียงแต่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกบทลงโทษที่ให้ประหารชีวิตสถานเดียว ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิพากษามีพิสัยในการใช้วิจารณญาณที่กว้างขึ้น

ประเทศอาเซียน 3 ประเทศมีบทลงโทษประหารชีวิต แต่ไม่บังคับโทษ ได้แก่ ลาว บรูไน และเมียนมา ส่วนที่บังคับโทษ ได้แก่ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม อย่างไรก็ดี ไทยไม่ได้บังคับโทษเป็นเวลา 9 ปี (2552-2561) และบังคับโทษเพียงครั้งเดียวในปี 2561

ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติได้ทำพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จุดมุ่งหมายของพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 นี้ คือการยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่อนุญาตให้รัฐภาคีใช้โทษประหารชีวิตได้ในภาวะสงคราม หรือในกรณีที่รัฐภาคีประกาศข้อสงวนไว้ในช่วงที่ให้สัตยาบันต่อพิธีสาร หมายความว่าถ้าประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีและให้สัตยาบันแก่พิธีสารนี้ จะเป็นการประกาศแก่นานาชาติว่า ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับฐานความผิดที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป โดยยังคงบทลงโทษนี้ไว้สำหรับฐานความผิดที่ไทยถือว่าร้ายแรงจริง ๆ เท่านั้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีประเทศที่ให้สัตยาบันแก่พิธีสารฉบับที่ 2 จำนวน 86 ประเทศ

มีหลายประเทศที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้การยุติโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องสากล จึงร่วมกันเสนอญัตติเข้าสู่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ทุก 2 ปี ญัตตินี้เป็นการตกลงชั่วคราวที่จะไม่บังคับโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 สมัชชาฯ ได้มีมติเห็นชอบกับญัตตินี้ โดยมี 121 ประเทศที่เห็นด้วย มี 35 ประเทศที่ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 32 ประเทศ ประเทศไทยเคยออกเสียงคัดค้านญัตตินี้ แต่ในการออกเสียงสองครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนมาเป็นงดออกเสียง ซึ่งผมถือว่า การงดออกเสียงมีนัยว่า ประเทศไทยไม่อยากประหารชีวิตในทางปฏิบัติหรือจะกระทำแต่เพียงจำนวนน้อย

เหตุผลของการลงโทษทางอาญาคือให้หลาบจำ ให้ผู้ถูกลงโทษเกิดความเกรงกลัวต่อบาป กลับเนื้อกลับตัว ไม่กระทำผิดซ้ำ สามารถกลับคืนสู่สังคมเยี่ยงพลเมืองที่ดี ถ้าพิจารณาตามความหมายนี้ การประหารชีวิตไม่เกี่ยวกับการหลาบจำ เพราะการสูญเสียชีวิตคือการจบสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ข้อเสนอให้ยุติโทษประหารชีวิต หมายถึงการคงไว้ซึ่งโทษจำคุก หากเพียงต้องปรับปรุงระบบราชทัณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนไม่ล้นคุก ให้เรือนจำเป็นสถานที่ฝึกกายและใจเพื่อจะไม่ทำผิดซ้ำ และสังคมควรช่วยเหลือให้อดีตนักโทษสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อช่วยลดโอกาสการทำผิดซ้ำนั่นเอง

อันที่จริง มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุธรรม คือเป็นปุถุชนผู้มีความโลภ โกรธ หลง และสามารถทำผิดพลาดได้ทุกคน กระบวนการยุติธรรมที่สังคมคิดค้นขึ้นก็บริหารจัดการด้วยคน จึงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นกระบวนการที่สมบูรณ์แบบ ในกรณีที่มีการประหารชีวิตโดยเป็นการตัดสินที่ผิดพลาด ผู้ถูกประหารไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ ไม่มีความยุติธรรมที่จะคืนแก่เขาได้อีกแล้ว

ในกรณีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี แม้อาจจะต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เพื่อความชัดเจนในข้อเท็จจริง แต่ในเบื้องต้น ผมมีข้อสงสัยเสียแล้วว่า ถ้าผู้พิพากษาทำตามอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เขาคงตัดสินประหารชีวิตจำเลย 3 คน ทำไมหนอชีวิตของคน 3 คน จึงเปราะบางมาก ขึ้นอยู่กับการที่ผู้พิพากษาคนหนึ่ง มีมโนสำนึก เชื่อในกระบวนการตัดสินคดีตามปกติ และยอมเสี่ยงที่จะขัดใจผู้ที่เป็นหัวหน้ากระนั้นหรือหลาย ๆ ครั้งที่เราพูดถึงการยุติโทษประหาร เราจะเผชิญกับความโกรธเคือง มักมีคนกล่าวแก่เราว่า “ช่วยโจรอีกแล้วหรือ ทำไมไม่คิดช่วยเหยื่อที่ถูกโจรทำร้ายบ้าง” ผมเห็นด้วยอย่างมากว่า รัฐและสังคมควรช่วยเหลือเหยื่อให้มากกว่านี้ การลงโทษถือเป็นความยุติธรรมแบบลงทัณฑ์ (retributive justice) การฟื้นฟูความสูญเสียของเหยื่อถือเป็นความยุติธรรมสมานฉันท์ (restorative justice) ซึ่งสังคมไทยจะต้องพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป

ในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตสากล องค์กรวิชาการและภาคประชาสังคม 6 องค์กรจึงได้รวมตัวเป็นเครือข่าย และร่วมกันจัดอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องนี้ เครือข่ายได้มีข้อเสนอ 3 ข้อดังนี้

1.ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง

2.ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต

3.ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฏหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต