posttoday

นักการเมืองคิดอะไรอยู่ในใจ

03 ตุลาคม 2562

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*************************************
โครงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของพรรคฝ่ายค้านดูจะมีอาถรรพ์ เพราะไปพูดหาเสียงกับประชาชนทีไรมักจะแวะมาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับคนไทยทุกครั้ง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม โดยเฉพาะกรณีที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือคุณช่อ โฆษกพรรคอนาคตใหม่ที่ไปพูดที่จังหวัดมหาสารคาม เมื่อ 15 กันยายน 2562 กล่าวหาว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2562 “เฮงซวย” ทุกมาตรา จนเกิดปฏิกิริยาจากสังคม นอกจากต้องแก้ตัวกับสังคมแล้ว ยังต้องไปแก้ตัวกับศาลด้วย เพราะมีเรียกร้องให้หากตำรวจดำเนินคดีกับเธอตามที่มีคนเรียกร้อง และต้องไปแก้ตัวกับ ก.ก.ต. ที่มีคนไปเรียกร้อง ให้พิจารณายุบพรรคนี้ในข้อหาไม่ยับยั้งการกระทำของคุณช่อคุณเธออีก เรียกว่าตอนนี้เธอโดนเข้าไปสามเด้ง

เรื่องคุณช่อโฆษกพรรคคนดังยังไม่จางหายไปจากสังคม คราวนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคไปจัดเวทีหาเสียงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จังหวัดปัตตานี โดยมี ผู้แทนจาก 7 พรรคฝ่ายค้านและมีนักวิชาการคนหนึ่งไปร่วมด้วย ปัญหาเกิดขึ้นจากนักวิชาการ คือ น.ส. อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคงได้รับเชิญไปเสวนาด้วยท่านนี้ที่ได้เสนอ นอกจากเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เธอยังเสนอบทเวทีตอนหนึ่ง ที่เสนอ สรุปว่า “มาตรา 1 ของ รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดรูปแบบของรัฐนั้นสามารถแก้ไขได้ เพราะไทยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐเดียว แต่อาจมีหลายรัฐประกอบกันด้วย

หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอื่น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยซึ่งนั่งติดกับอาจารย์ท่านนี้ก็ไม่ได้แสดงท่าทีเดือดร้อนแต่อย่างใด ทำให้คนดูคนฟังเข้าใจว่า ผู้นำพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดที่นั่งอยู่เห็นด้วย เพราะตามธรรมดา ก่อนการอภิปราย น่าจะมีการตกลงกันเรียบร้อยว่า ผู้อภิปรายทั้งหมดจะพูดเรื่องอะไรบ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ซ้ำกัน เพราะคนฟังจะเบื่อ และการที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านไม่ค้าน ก็แสดงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วยกับประเด็นนี้ คงไม่ค้านต่อประเด็นที่อาจารย์ท่านนี้อ้างถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะพูดเรื่องนี้ หรือใช้ประเด็นนี้หาเสียงกับแนวร่วมนักศึกษา

ดูผิวเผินก็เหมือนกับประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมธรรมดา แต่พอเจาะลึกแล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ “ละเอียดอ่อน” มาก ส่วนจะอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูด หรือ เสรีภาพเชิงวิชาการ ที่คนพูดและคนที่อยู่บนเวทีคงต้องรับผิดชอบ แม้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ลึกๆ แล้วมีเยอะ เพราะทันทีที่มีการเผยแพร่ข่าวนี้ออกไป ก็มีปฏิกิริยาจากคนภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่ส่วนหนึ่งได้ออกมาตอบโต้ผ่านสื่อสังคมโดยทันที และอีกทั้ง คนที่แสดงความเห็นคัดค้านตอบโต้ก็ไม่ใช่คนประเภทธรรมดา แต่เป็นคนที่สังคมอ่านและฟังทุกครั้งในความเห็นที่แสดงออกผ่านสื่อต่างๆ

เคยเขียนมาแล้วว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับอาจถูกแก้ไขเพิ่มเติมได้หากสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมเปลี่ยนไป ดังนั้น จึงมีหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ให้ และกำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ชัดเจน ส่วนใครมีเจตนาแอบแฝงที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ฯลฯ นั่น ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะพิจารณา

การที่นักวิชาการท่านนี้แสดงความเห็นว่า มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 สามารถแก้ไขได้นั้นไม่ผิด เรียกว่า แก้ไขหัวใจของประเทศหมวดสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ เลยทีเดียว เพราะมาตรา 1 ในหมวด 1 มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นการกำหนด “รูปแบบของรัฐ” ที่ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ที่หมายถึงว่าไทยเป็น “รัฐเดี่ยว” ไม่ได้มีหลายรัฐมาร่วมกันที่เรียกว่า “สหรัฐ” แบบอเมริกา หรือ “สหพันธรัฐ” แบบสวิส หรือแบบพม่า หรือมีหลายรัฐมารวมกันแบบมาเลเซีย ที่สำคัญคือ ให้ดูคำว่า “ราชอาณาจักร” ซึ่งเกี่ยวพันกับมาตรา 2 ที่กำหนด “รูปแบบของการปกครอง” ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ถ้าคนเสนออ้างว่า ตนเองมีสิทธิเสรีภาพที่จะนำเสนอความคิดใดต่อสังคมก็ได้ ซึ่งไม่ผิดเพราะสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยซึ่งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยได้รับการประกันไว้ในหมวด 3 (มาตรา 25-49) แต่คนไทยมักลืมไปว่า “การใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไป” อะไรที่ทำไม่ได้กฏหมายจะเขียนคำว่า “เว้นแต่” ตามโดยที่มาตรา 25 ที่ระบุไว้ว่า เขียนไว้ตอนหนึ่งถึงการใช้สิทธิเสรีภาพว่า “ตราบใดที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่า นั้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ส่วนนอกจากนี้ มาตรา 49 ได้ระบุด้วยว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”

ถ้านักวิชาการท่านนั้นจะอ้างว่านี่เป็นการเสนอเชิงวิชาการเพราะ “เสรีภาพทางวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง (มาตรา 34 วรรค 2) ก็อย่าลืมอ่านข้อความตอนต่อมาด้วยว่า “แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย “ ด้วย จากนั้น ให้ตามไปดูที่หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (1) “พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้ แต่จะพูดหรือเสนออะไร ควรศึกษาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ละเอียดรอบคอบก่อน มิฉะนั้น จะเกิดกระแสตีกลับจากสังคม

การที่บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งหลายที่นั่งเป็นพยานอยู่ในที่นั้น ไม่ได้ทักท้วง หรือมีปฏิกิริยาคัดค้านแต่อย่างใด อาจถูกมองว่า เห็นด้วยกับผู้เสนอในเรื่องนี้ก็ได้ อย่างน้อยก็มีหัวหน้าพรรคคนหนึ่งที่เคยเสนอให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปกครองตนเอง เพื่อหาคะแนนเสียงจากกลุ่มแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อยู่ อันเป็นการขัดกับกฎหมายสูงสุดของประเทศ และขัดกับเจตนารมณ์ของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ
ข้อเสนอของนักวิชาการคนนี้สอดคล้องจะโดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ตามกับความเห็นและการกระทำของหัวหน้าพรรคคนดังกล่าว ที่สนับสนุนแนวคิดของกลุ่มแนวร่วมนักศึกษากลุ่มหนึ่งในพื้นที่ให้มีเขตปกครองตนเอง

ความจริง เรามีการบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว ทั้ง อบต. เทศกาล อบจ. รูปแบบท้องถิ่นพิเศษ เช่น กทม. พัทยา เป็นต้น หากปัตตานีหรือยะลาพัฒนาขึ้นาคล้ายกับ พัทยา ก็สามารถทำได้ และทำได้อย่างถูกกฎหมายและไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ต้องมาแยกเป็นรัฐไทยเหนือ ไทยอีสาน ไทยชายแดนใต้ หรือเขตปกครองตนเอง ฯลฯ ถ้าคิดจะทำอย่างนั้นก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้เสียก่อน และต้องมีการลงประชามติเพราะเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้รับความเห็นชอบโดยคนส่วนใหญ่ผ่านการกระทำประชามติมาแล้ว