posttoday

อินเดียวันนี้ (2)

01 ตุลาคม 2562

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**************************************

วันที่ผู้เขียนเดินทางไปถึงอินเดีย คือ วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562 เป็นวันที่คนอินเดียทั้งประเทศตั้งตารอคอยข่าวใหญ่ คือ การลงสู่ดวงจันทร์ของยาน “วิกรม” ในโครงการสำรวจดวงจันทร์ คือ “จันทรายาน-2” ของอินเดีย ซึ่งมีกำหนดลงแตะพื้นผิวดวงจันทร์กลางดึกคืนก่อนนั้น

อินเดียตัดสินใจลงทุนพัฒนาด้านอวกาศมาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งประเทศหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ประสบทั้งความล้มเหลว และความสำเร็จมายาวนาน ถ้ายานวิกรมลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ อินเดียจะเป็นชาติที่ 4 ในโลกที่ลงสู่ดวงจันทร์ตามสหรัฐ สหภาพโซเวียต และจีน

แต่ปฏิบัติการครั้งนี้ “ยังไม่สำเร็จ” ช่วง 2 กม. ก่อนจะถึงพื้นผิวดวงจันทร์ ยานวิกรมขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization) ชื่อย่อคือ อิสโร (ISRO) ที่เบงกาลูรู และทาง ดร.เค ศิวัน ผู้อำนวยการอิสโรแถลงว่า ยานวิกรมตกกระแทกพื้นอย่างแรง (hard landing) ก่อให้เกิดความเศร้าเสียใจอย่างใหญ่หลวงแก่คนอินเดียทั้งประเทศ

รุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ หนังสือพิมพ์อินเดียทุกฉบับทำข่าวเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่ง

เท่าที่สังเกต หนังสือพิมพ์อินเดียยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย จากเทคโนโลยีที่พลิกผันชีวิตผู้คน (Disruptive Technology) คือ สื่อสังคมออนไลน์อย่างในประเทศไทย หนังสือพิมพ์ Times of India ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ยังมียอดพิมพ์สูงถึง 4 ล้านฉบับ

หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษเท่าที่เห็นทุกฉบับ ทำข่าวและสารคดีเรื่องจันทรายาน-2 อย่างน่าสนใจ มีทั้งภาพเขียน ภาพถ่าย คำแถลงของบุคคลสำคัญ ให้ข้อมูล ความรู้ และความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคคลผู้มีชื่อเสียงต่างๆ อย่างรอบด้าน เนื้อหาสาระหลักเป็นการสรุปสถานการณ์อย่างเที่ยงตรง ให้ความหวัง และมองอนาคตบนพื้นฐานของข้อมูลและเหตุผล ไม่มีเสียงประณาม ตำหนิจากคนอินเดีย และวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเลย แม้ปฏิบัติการครั้งนี้จะ “ไม่ประสบความสำเร็จ”

เริ่มจากหนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์ที่ 7 กันยายน เดอะเทเลกราฟ (The Telegraph) มีภาพข่าวเล็กๆ บนหน้า 1 เป็นภาพนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เดินทางไปรอฟัง “ข่าวดี” ที่เมืองเบงกาลูรู ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของศูนย์ควบคุมของโครงการวิจัยอวกาศอินเดีย มุขมนตรีมามาตา บาเนอร์จี กล่าวที่นครกัลกัตตาว่า “พรรคภารติยะชนตะให้ความสำคัญเรื่องนี้ราวกับว่าเป็นผู้บุกเบิกโครงการจันทรายาน-2 ที่จริงโครงการวิจัยเรื่องนี้ทำมายาวนาน 6-7 ทศวรรษแล้ว … ตอนนี้ สี่วันนับจากนี้ ประเด็นเรื่องจันทรายานจะเป็นประเด็นใหญ่… ราวกับว่าพวกเขาได้ทำทุกอย่างที่ประเทศนี้ภาคภูมิใจได้ ราวกับว่าพวกเขาเป็นผู้สร้างผลงานวิทยาศาสตร์เหล่านี้ขึ้นมาเอง”

แต่แล้ว ทุกอย่างก็พลิกผัน เมื่อกลางดึกคืนก่อนนั้น ยานวิกรมไม่สามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัยบนดวงจันทร์

ดร.เค ศิวัน ได้แถลงข่าวเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 และได้บอกล่วงหน้าแล้วว่า ช่วง 15 นาที ก่อนการร่อนลงจอดบนผิวดวงจันทร์ของยานวิกรม เป็นช่วง “15 นาทีสยองขวัญ” (“15 minutes of terror”)

เริ่มจากที่ความสูง 30 กม. จากผิวดวงจันทร์ ยานวิกรมซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 6,048 กม./ชม. จะเริ่มติดเบรกชะลอความเร็ว โดย 2 นาทีต่อมา ความเร็วจะลดลงเหลือ 4,680 กม./ชม. อีก 1 นาทีต่อมาความเร็วลดลงเหลือ 4,320 กม./ชม. 3 นาทีต่อมาความเร็วลดลงเหลือ 3,600 กม./ชม. 4 นาทีต่อมา ความเร็วลดลงเหลือ 535 กม./ชม. ที่ระดับความสูง 10 กม.เหนือผิวดวงจันทร์. 2 นาทีต่อมาความเร็วลดเหลือ 187 กม./ชม. ที่ระดับความสูง 5 กม. เหนือพื้นผิวดวงจันทร์

การโคจรของยานวิกรมจะเคลื่อนเป็นวิถีโค้ง โดยมีการติดเบรกลดความเร็วลงอย่างค่อนข้างรวดเร็ว จาก 6,048 กม./ชม. ที่ระดับความสูง 30 กม. เหนือผิวดวงจันทร์ เหลือความเร็ว 187 กม./ชม. ที่ระดับความสูง 5 กม. เหนือผิวดวงจันทร์ จึงเป็นการลดความเร็วจาก 6,048 กม./ชม. เหลือ 187 กม./ชม. ในเวลาเพียง 12 นาที และลดระดับความสูงจาก 30 กม. เหลือ 5 กม. ช่วง 3 นาทีหลังจากนั้น จะค่อยๆ ลดความเร็วเพื่อให้ลงแตะพื้นผิวดวงจันทร์อย่างนุ่มนวล โดยยานจะต้องค่อยๆ เอียงตัวจากแนวขนานให้ยานตั้งฉากกับพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อให้ขาตั้งของยานลงในลักษณะตั้งฉากกับพื้นผิว

ช่วงเวลา 15 นาทีดังกล่าว ดร.เค ศิวัน ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดียจึงเรียกว่าเป็นช่วง “15 นาที สยองขวัญ” อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้

เมื่อถึงเวลาจริง ยานลดความเร็วลงอย่างดีตามที่กำหนด ในช่วง 13 นาทีแรก จนเมื่อเวลา ตี 1.15 น.เช้ามืดวันเสาร์ที่ 7 กันยายน การติดต่อจากยานวิกรมขาดหายไปที่ความสูงราว 2 กม. จากพื้นผิวดวงจันทร์ เชื่อว่าการชะลอความเร็วและการเอียงตัวของยานไม่เป็นไปตามที่กำหนด และยานตกกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์อย่างแรง (hard landing) สร้างความผิดหวัง และเศร้าซึมให้แก่คนอินเดียทั้งประเทศและทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี อยู่ในศูนย์ควบคุมขององค์การวิจัยอวกาศอินเดียที่เบงกาลูรู ในช่วง 15 นาที ระทึกขวัญนั้น หลังเกิดเหตุการณ์พลิกผัน ไม่สามารถ “เฉลิมฉลอง” ได้ จึงได้เดินทางกลับไปที่พัก เช้าวันเสาร์เขาได้กลับไปที่นั่นเพื่อปลอบขวัญทุกคนโดยกล่าวปราศรัย 23 นาที ว่า “วันนี้ ความมุ่งมั่นที่จะสัมผัสและโอบกอดดวงจันทร์ของพวกเราจะเข้มแข็งขึ้น พี่น้องหญิงชายชาวอินเดีย ไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ทั่วทั้งชาติตื่นตาไปกับพวกท่าน พวกเราตื่นตาเพื่อผนึกกำลังกับบรรดานักวิทยาศาสตร์ของพวกเรา ที่ได้ออกเดินทางไกลเพื่อบรรลุพันธกิจที่สูงยิ่งในโครงการอวกาศของพวกเรา เรามาใกล้จุดหมายมากแล้ว แต่เรายังต้องทำอีกมากในเวลาข้างหน้า ชาวอินเดียทุกคนล้วนภาคภูมิใจ เราภูมิใจในนักวิทยาศาสตร์ของเรา ทั้งในงานหนัก และความมุ่งมั่นของพวกเรา”

นายกฯ โมดี โอบกอด ดร.เค ศิวัน ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดียที่น้ำตานองหน้า พร้อมกล่าวกับทีมงานของที่นั่นว่า “เพื่อนรัก ผมเข้าใจสถานการณ์เมื่อคืนนี้ดี ดวงตาของพวกท่านบอกกล่าวเรื่องราวมากมาย ผมมองเห็นใบหน้าอันเศร้าโศกของพวกท่าน ผมจึงไม่สามารถอยู่กับพวกท่านต่อไปได้ พวกท่านไม่สามารถหลับนอนมาหลายชั่วโมง ทุกคนที่ทำงานกับโครงการนี้มีกรอบความคิดแตกต่างกัน มีคำถามมากมาย พวกท่านทำงานหนัก และทันใดนั้นทุกอย่างหยุดนิ่งต่อหน้าพวกท่าน ผมรู้สึกได้ถึงความตึงเครียด ท่ามกลางหัวใจที่แตกสลาย ผมมีคำถามชัดเจนเหมือนพวกท่านว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นได้อย่างไร พวกท่านมีความหวังมากมายกับยานวิกรม เพราะพวกท่านได้ทุ่มเทความพยายามลงไปมากมาย แต่เพื่อนรัก อุปสรรคเหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้งพวกเรา แต่จะทำให้ความมุ่งมั่นของพวกเราแข็งแกร่งขึ้น ยังมีโอกาสมากมายที่จะภาคภูมิและยินดี”

นายกฯ โมดี กล่าวต่อไปว่า “เราจะมุ่งเพื่อโอกาสนั้น ผมอยากจะพูดว่า ‘อินเดียอยู่เคียงข้างคุณ’ คุณเป็นมืออาชีพที่เยี่ยมยอดที่ได้สร้างความก้าวหน้าให้แก่ชาติมากมาย คุณให้สิ่งที่ดีที่สุดและให้โอกาสมากมายให้พวกเรายิ้มแย้ม คุณได้ฟันฝ่าไปในสถานที่ที่ไม่เคยมีใครไปถึงมาก่อน ... สิ่งที่สำคัญพอๆ กับผลบั้นปลาย คือความพยายามและการเดินทางไกล ความพยายามและการเดินทางไกลสู่ดวงจันทร์ของพวกเรามีคุณค่า มีรุ่งอรุณใหม่ และวันใหม่ที่สดใสกว่าเดิมในไม่ช้า ... ไม่มีความล้มเหลวในวิทยาศาสตร์ มีแต่การทดลองและความพยายาม การเรียนรู้ในวันนี้จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น และดีขึ้น...”

...........................