posttoday

กระแสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

13 กันยายน 2562

โคทม อารียา

โดย...โคทม อารียา

**********************************

กระแสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเด่นชัดขึ้น พรรคฝ่ายค้านอยากให้แก้ไขอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การตอบรับของสื่อและของสังคมยังไม่ชัดเจนนัก แต่พอมาอ่านหนังสือพิมพ์วันที่ 10 กันยายน 2562 ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับมากขึ้น ที่น่าสนใจคือข่าวการตอบคำถามผู้สื่อข่าวของพล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ว่า “ยังไม่ทราบว่าประเด็นหลักที่จะแก้คืออะไร และไปทำความเห็นจากประชาชนแล้วหรือยัง” ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติ ต้องไปถามประชาชนว่าต้องการแก้หรือไม่ พล.อ. สิงห์ศึกยืนยันว่า “อะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ผมก็สนับสนุนและเห็นด้วย ... อะไรที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม คิดว่า ส.. ก็ไม่ขัดข้อง”

คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ชื่อดังให้ความเห็นไปในทางเดียวกันไว้ในหน้า 2 ดังนี้ “ต้องจัดให้ประชาชนลงประชามติใหม่อีกครั้ง “ก่อน” เริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ... ขอให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 2 ประเด็น 1. นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 2. ส.ว. ลากตั้งอยู่ต่อไปจนครบเทอม แต่ยกเลิกบทเฉพาะกาลไม่ให้ ส.ว. ลากตั้งร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี” จึงเสนอให้พิจารณา “คืนอำนาจให้ประชาชนร่วมตัดสินใจด้วยตัวเอง” เอาละซิ “การคืนอำนาจ” เช่นนี้ เป็นอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน หรือเป็นประโยชน์ส่วนรวม ตามความคิดของรองประธานวุฒิสภาหรือไม่

เรื่องที่อาจตั้งเป็นคำถามถามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากสองคำถามที่คอลัมนิสต์เสนอไว้แล้ว ผมอยากเพิ่มอีกหนึ่งคำถาม คืออยากถามว่า “ควรแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดของสมาชิกรัฐสภา เป็นเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เหมือนเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 หรือไม่” การแก้ไขมาตรา 256 เช่นนี้ จะช่วยให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ตามประเพณีประชาธิปไตยที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าปิดล็อกจนแก้ไขแทบไม่ได้ ตามเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 การปิดล็อกโดยมาตรา 256 อาจทำให้การเมืองมาถึงทางตัน และอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

คราวนี้ต้องมาพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการลงประชามติ ซึ่งมีบัญญติในมาตรา 166 ดังนี้ “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ขอตีความว่า การขอประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใด ย่อมไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องปกติที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว แต่ผู้ที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้คือคณะรัฐมนตรี

มีข่าวในวันนี้เช่นกันว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรมาศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ ข่าวบอกว่าพรรคพลังประชารัฐก็เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว แต่ในเรื่องจังหวะเวลา อาจจะตั้งในสมัยการประชุมสามัญของสภาผู้แทนราษฎรคราวหน้า เพราะเหลือเวลาเพียงไม่กี่วันก็จะปิดสมัยประชุมคราวนี้แล้ว แต่เมื่อมีเสียงชิมลางออกมาชี้ช่องว่า ให้ถามความเห็นของประชาชนก่อน ก็คงไม่ต้องศึกษาอะไรในรายละเอียดให้มากนัก เพียงแต่เสนอประเด็นหลัก ๆ เช่น 3 ประเด็นข้างต้น และอาจเพิ่มอีกบางประเด็น ในกรณีมีความเห็นพ้องกันในระดับคณะกรรมาธิการฯ ก็ให้คณะกรรมาธิการเสนอคณะรัฐมนตรีได้ เพราะสุดท้ายการตัดสินใจจะกลับไปสู่ประชาชน

ในประเด็นอื่น ๆ ที่ควรจะพิจารณา และถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการคืนอำนาจแก่ประชาชน ผมขอเสนอให้ช่วยกันพิจารณามาตรา 270 วรรคสองความว่า “ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” จริงอยู่ วุฒิสมาชิกก็อยากมีส่วนร่วมในการปฏิรูป แต่ไม่ควรให้มีหน้าที่ตรากฎหมายโดยตรง หากควรมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ดังที่เป็นประเพณีทางการเมืองมาโดยตลอด เพราะถึงอย่างไร ส.ว. ก็มาจากการสรรหาและการเสนอชื่อแต่งตั้งโดย คสช. ที่เป็นคณะบุคคล

แม้จะยึดอำนาจด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่จะถือว่าเป็นเสียงของประชาชนไม่ได้ ถ้า ส.ว. บอกว่าต้องการทำตามเสียงหรือประโยชน์ของประชาชน ก็ควรยอมรับว่า ส.ว. มิได้ใกล้ชิด ไม่คอยรับฟังเสียง ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนในเขตใดหรือกลุ่มใดเป็นพิเศษ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง จึงน่าจะถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะช่วยให้การตรากฎหมาย แม้จะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป มีความรอบคอบมากขึ้น ถึงอย่างไรก็ควรฟังเสียงของประชาชน ผ่านผู้แทนราษฎรเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะให้อำนาจหน้าที่แก่วุฒิสภาเป็นพิเศษไว้ในบทเฉพาะกาลเช่นนี้ ควรใช้วิธีตรากฎหมายในบทปกติได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาคือระบบการเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงควรพิจารณาประเมินผลว่าระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่มีสมาชิกสองแบบ คือแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ และให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น มีข้อดี ข้อเสียอย่างใดบ้าง แม้จะเห็นว่าควรใช้ระบบนี้ต่อไป ก็ควรพิจารณาว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกับใช้สองใบ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

แม้เห็นควรให้ใช้บัตรใบเดียว ก็ควรพิจารณาเรื่องการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ว่าทำอย่างไรจึงจะให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 มีความสอดคล้องกับ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 282 ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนและเพื่อให้ปฏิบัติได้เป็นการทั่วไปสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อ ๆ ไป การเลือกตั้ง ส.ส. ที่สุจริต เที่ยงธรรม และโปร่งใส เป็นการเสริมสร้างประชาธิปไตย และเป็นการพัฒนาการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม อีกทั้งเป็นเวทีการต่อรองของประชาชน

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ การจัดให้มีการลงประชามติ โดยมีคำถามสำคัญถามประชาชนเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดควรแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเป็นการเปิดล็อกดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็ยังมีพรรคการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง ที่เห็นว่าน่าจะถือรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นแบบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือถ้าจะให้ดี ก็ควรใช้วิธีการการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย นั่นคือ จัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ใช้ชื่อย่อว่า สสร. โดยใช้ร่วมกับคำว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกกันเองและการกลั่นกรองโดยรัฐสภาเหมือนในปี 2539 หรือมาจากการเลือกตั้งรายจังหวัด ถ้าจะกล้าถามประชาชนผ่านการลงประชามติทั้งที จะถามว่าควรมี สสร. ไปด้วยเลยไหม

อาจจะมีข้อสงสัยว่า ถ้าประชาชนเลือกที่จะมี สสร. แล้วคำถามในประเด็นอื่นใช่ว่าจะเป็นเกินจำเป็นไหม ผมเห็นว่าน่าจะถามร่วมกันไปได้ เช่นถ้าเลือกให้มี สสร. แต่ก็เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานับปี ในระหว่างนี้ ก็แก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายประเด็นไปก่อนได้ อีกทั้งถ้ามี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ควรเคารพการลงประชามติอยู่ดี ในรัฐธรรมนูญใหม่คงมีบทเฉพาะกาล ที่รองรับความต่อเนื่อง และอาจบัญญัติให้วุฒิสภาคงทำหน้าที่ที่เหมาะสมต่อไปจนครบวาระ

 กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นแล้ว และจะดำรงอยู่หากทุกฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะถือและดำเนินตามเสียงและประโยชน์ของประชาชน