posttoday

รัฐบาลพังทันทีถ้ามีการคอรัปชั่น

12 กันยายน 2562

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

**************************************

วันที่ 6 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันต่อต้านการคอรัปชั่นแห่งชาติ” ที่เริ่มต้นจากภาคเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งแห่ง “สามเหลี่ยมแห่งความชั่วร้าย” อันประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการประจำ และนักธุรกิจ องค์กรนี้ริเริ่มโดยนักธุรกิจที่เป็น “ผู้จ่าย” ให้กับสองกลุ่มแรก ซึ่งพวกเขาเองก็ไม่อยากจ่ายแต่จำใจต้องจ่าย ดังนั้น เมื่อนักธุรกิจได้เริ่มต้นที่จะขัดขืน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่แค่นั้นไม่พอ ตัวการสำคัญที่สุดในวงจรอุบาทย์นี้คือ นักการเมือง ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการอย่างอื่นประกอบที่จะขัดขืน ขัดขวาง การคอรัปชั่นของนักการเมืองที่เป็นต้นน้ำให้ได้

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับวันต่อต้านการคอรัปชั่นแห่งชาติ ปี 2562 ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาคดีทุจริตใหญ่ที่สุดกรณีจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นคดีคอรัปชั่นอื้อฉาวและใหญ่ที่สุดในประเทศที่มีทั้งจำเลยที่หลบหนีและที่ยังสู้คดี โดยจำเลยอุทรณ์ฎีกากันเรื่อยมา นอกจากนั้นก็มีเรื่องคดีโฮปเวลล์ ส่วนในวุฒิสภา ก็มีข่าวอื้อฉาวที่มือปราบคอรัปชั่นทั้งสามคน คือ คุณประมนต์ สุธีร์วงศ์ อดีตประธานองค์การต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) คุณปานเทพ กล้าณรงค์ราญ (อดีตประธาน ป.ป.ช.) และ พล.ร.อ.พระจุณณ์ ตามประทีป  อดีตกรรมการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ถูกกีดกันไม่ให้ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมประปลาดใจไปตามๆ กัน และทำให้ภาพลักษณ์ของวุฒิสภาโดยรวมเสียหายไปด้วย

คนสมัยก่อนพูดถึงการ “ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” ซึ่งสรุปภาพการทุจริตคอรัปชั่นได้ตรงประเด็นและสั้นที่สุด เมื่อข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ “ฉ้อราษฎร์” รีดไถประชาชนเก็บเงินใต้โต๊ะในการให้บริการเรื่องต่างๆ หรือการบิดเบือนคดี ล้มคดี ฯลฯ การฉ้อราษฎร์ถือว่ารุนแรงมากพอแล้ว แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ “การบังหลวง” ที่พัฒนาขยายใหญ่โตมากขึ้นและมีเงินที่เกี่ยวข้องมากขึ้นทุกทีตามงบประมาณและโครงการขนาดใหญ่ แม้กินกันเพียงเปอร์เซ็นต์เล็กน้อยแต่จำนวนเม็ดเงินมากมายมหาศาล ยิ่งในระยะรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อนปี 2557 เปอร์เซ็นต์ขยับสูงขึ้นถึง 25-35 เปอร์เซนต์ เพิ่งจะมีสมัยรัฐบาล คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ภาคเอกชนประเมินว่า ลดเหลือร้อยละ 5-15 เปอร์เซ็นต์ แต่มีระยะหลังที่ว่าขยับขึ้นมาบ้าง แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองพยายามจะตีเรื่องนี้ให้ได้ แต่ตัวผู้นำรัฐบาลและบุคคลในคณะรัฐบาลทั้ง “หน้าบ้าน หลังบ้าน” ไม่มีเรื่องความเสียหายใดๆ จึงมุ่งไปขุดคุ้ยเรื่องนาฬิกาและพุ่งเป้าเปิดและขยายแผลที่ แทน

หลายคนสงสัยว่า เมื่อหัวไม่ส่าย แล้วทำไมตัวเลขการคอรัปชั่นยังดำรงอยู่ที่ภาคเอกชนประเมินว่าร้อยละ 5-15 ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และกว่านั้น เป็นที่พูดกันทั่วไปว่า การทุจริตคอรัปชั่นยังไปอยู่ที่ภาคราชการ และส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่น ที่พ่อค้ายังต้องจ่ายหรือทำโครงการขึ้นไปแล้วข้าราชการไปบวกเปอร์เซ็นต์เพิ่ม เมื่อการเมืองไทยกลับสู่รูปแบบเดิมที่คนไทยหลีกหนีไม่พ้น นักการเมืองกลับมา การเลือกตั้งกลับมา การหาเสียงที่ยังใช้การหว่านเงิน หรือใช้เงินในรูปแบบอื่นๆ ชาวบ้านบางส่วนยังชินกับแนวคิด “เงินไม่มา กาไม่เป็น” นักการเมืองต้องสะสมทุนไว้ใช้ในการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อเข้าไปสู่อำนาจและหาทางถอนทุนและสะสมทุน หากแก้ไขหรือทำให้น้อยลงไม่ได้ การทุจริตคอรัปชั่นจะกลับมารุนแรงเหมือนกัน

นอกจากเปอร์เซ็นต์การคอรัปชั่นจะสูงแล้ว เม็ดเงินที่ได้จากโครงการใหญ่ๆ คิดเป็นเงินหลายหมื่นจนถึงแสนล้านบาท ก็มากขึ้น ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” จนคุ้นหูและมองเห็น จับต้องได้ การทุจริตเชิงนโยบายเป็นการคอรัปชั่นขนาดใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับงบประมาณหลายหมื่นถึงแสนล้านบาท ที่ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ผู้ตัดสินใจมีประโยชน์ได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในแง่ทรัพย์สินเงินทองหรือนอกเหนือจากนั้น ทำให้การตัดสินใจทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณไม่เป็นกลางอย่างเพียงพอ เบื้องหน้าของโครงการฟังแล้ว “ดูดี” มีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่เบื้องหลังเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้หนึ่งผู้ใด

อย่างไรก็ดี มีบางโครงการที่ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของหน่วยงานหรือประชาชน แต่กลับมีการเร่งรัดผูกพันสัญญาโดยที่ไม่มีความพร้อม หรือ “รีบเร่งผิดปกติ” จัดหาจัดจ้างจำนวนมากแบบรวมการ หรือ เทิร์นคีย์ ออกหรือแก้ไข กฎหมาย กฎ ระเบียบ สัญญาที่รัฐเสียเปรียบ และทำสัญญาทั้งที่รู้ว่ารัฐเสียเปรียบ โครงการพวกนี้มักจะมี “เงินทอน” กันมากมาย โดยมี “เจ๊” เป็นคนบงการ บอกเปอร์เซ็นต์โดยอ้างว่าเพื่อเข้าพรรค และจัดการให้เสร็จจนผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรี

หากไม่มีมาตรการป้องกัน ความเลวร้ายก็จะกลับคืนมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ประเทศก็จะย่ำอยู่กับที่ คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือประชาชนเจ้าของเงินนั่นเอง เนื่องจากเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศก็เป็นเงินภาษีจากประชาชน เงินกู้เพื่อปิดงบให้ลงในแต่ละปีนั้น ประชาชนก็ต้องจ่ายภาษีไปใช้คืน ลองคิดดูว่าภาษีที่ประชานจ่ายไปแต่ละปีจำนวนหลายหมื่นถึงแสนล้านบาทนั้น ถูกนักการเมือง ข้าราชการประจำ พ่อค้า เบียดบังไปเข้ากระเป๋าตนเอง แล้วยังลอยนวลอยู่ได้ หากเงินจำนวนนี้ถูกนำมาพัฒนาประเทศ และคืนกลับสู่ประชาชนเจ้าของเงิน นอกจากประเทศจะก้าวหน้าไปมากแล้ว ประชาชนก็จะมีความสุขมากขึ้น อย่างน้อยความทุกข์ก็ลดน้อยลง

ท่านองคมนตรี พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในคำบรรยายเนื่องในวันต่อต้านคอรัปชั่นในปีนี้ ท่านเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนตอนหนึ่งว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับเงิน 100 บาท ในการบริหารประเทศ สิงคโปร์เงินหายไป 15 บาท อีก 75 บาท นำไปพัฒนาประเทศ แต่ประเทศไทยเงินกลับหายไป 70 บาท เหลือเพียง 30 บาท ในการพัฒนาประเทศ แล้วแบบนี้ประเทศไทยจะไปสู้กับประเทศอื่น ได้อย่างไร”

แล้วเราจะหาทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาได้อย่างไร ไม่ใช่มาบ่นกันอย่างนี้ทุกปีแล้วทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม ในเมื่อเวลานี้ก็รู้กันอยุ่แล้วว่า ปัญหาการคอรัปชั่นอยู่ที่ตรงไหน เราจะค่อยๆ ลดลงไปได้อย่างไร แม้จะไม่หายหมดไปก็ตาม ภาคธุรกิจได้ดำเนินการอย่างจริงจังมาหลายปีแล้ว นักการเมือง ข้าราชการ กับประชาชนเจ้าของเงินล่ะ ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

จุดแข็งของรัฐบาลปัจจุบัน คือ เราได้ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำรัฐบาล รวมทั้ง “หลังบ้าน” ที่ไม่เคยมีประวัติเสียหายด้านนี้แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามใส่ร้ายป้ายสีท่านตลอดมาก็ตาม แต่จุดอ่อนของรัฐบาลคือ มีนักการเมืองหลายคนซึ่งเคยมีประวัติทุจริตคอรัปชั่นมาแล้วร่วมอยู่ในรัฐบาล ที่ประชาชนต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด หากกระพริบตาเมื่อไร “มันเอาแน่” ขึ้นอยู่กับผู้นำรัฐบาลจะห้ามปรามได้มากน้อยเพียงใด

รัฐบาลชุดนี้ต้องไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น หากมีเมื่อไร พังเมื่อนั้น เพราะฝ่ายค้านและประชาชนจับตาดูอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว