posttoday

การควบคุมความคิดทางการเมืองของพลเมือง

22 สิงหาคม 2562

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*******************************

ขอบคุณที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาเตือนสติคนไทยที่ใช้สื่อสังคม ให้ตระหนักถึงผลดีและผลเสียจาการใช้สื่อดังกล่าว โดยแนะนำให้ไปดูภาพยนต์เรื่อง"เดอะ เกรท แฮค"ซึ่งอยู่ที่ไหนก็เปิดดูได้ทางโทรศัพท์ มือถือผ่านช่องทาง"เนตฟลิกซ์" แต่สงสัยว่าจะมีใครสักกี่คนที่ดูภาพยนต์เรื่องนี้ หรือไปค้นคว้าเพิ่มเติมต่อ ทั้งที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับคนไทยที่ควรได้รับรู้ว่า นักการเมืองมีวิธีการอย่างไรในการชี้นำ ควบคุมความคิดทางการเมืองของพลเมืองในประเทศ

ภาพยนต์เรื่องนี้ได้ยกตัวอย่างของสองบริษัทที่รับจ้างพรรคการเมืองมาทำจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งมาแล้ว พลเมืองไทยควรตื่นตัวในเรื่องนี้เพราะที่ผ่านมาและเวลานี้ บางพรรคการเมืองได้ใช้วิธีการดังกล่าว จนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อทิศทางการเมืองของประเทศ

ผู้จัดทำภาพยนต์ได้ใช้สองบริษัทแม่ลูกเป็นตัวอย่างของการศึกษา คือบริษัท เอส.ซี.แอล อีเล็คชั่น ซึ่งมีสำงานใหญ่อยู่ในสหรัฐ และบริษัทแคมบริดจ์ อะนะลิติคัล(ซี.เอ.)ในอังกฤษ เป็นต้นแบบ ทั้งสองบริษัทรับจ้างการวางแผนการหาเสียงเลือกตั้งโดยซื้อข้อมูลของผู้ใช้จากเฟซบุ๊คมาวิเคราะห์ถึงแนวคิดและพฤติกรรมของประชาชนในลักษณะการสุ่มตัวอย่างว่า คนกลุ่มไหน รุ่นไหน คิดอย่างไรทางการเมือง แล้ว"อัด"โฆษณาทางสื่อ ปล่อย"ชุดความคิด"ให้เข้าไปในหัวของคนเพื่อ"ล้างสมอง"ให้คล้อยตามแนวทางที่กำหนด โดยพัฒนาวิธีมาจากการโฆษณาสินค้าที่จะทำอย่างไรให้คนซื้อสินค้าตัวนี้ให้มากที่สุด

เมื่อพูดถึงสินค้าประเภทนี้คนก็นึกถึงยี่ห้อนี้ทันที โดยนำมาปรับใช้กับการหาเสียงทางการเมือง ทำอย่างไรที่จะให้พรรคของนายจ้างติดอยู่ในสมองของประชาชน คิดอย่างเดียวกับที่พรรคคิด ทำอย่างเดียวกับที่พรรคทำ เมื่อไปออกเสียงเลือกตั้ง ก็หย่อนบัตรเลือกแต่คนนี้ พรรคนี้เท่านั้น

วิธีการหาเสียงเลือกตั้งในรูปแบบปัจจุบันคล้ายกับการฝัง"ชิป"ในสมองของคนนั้น เป็นเรื่องปกติที่นักการเมือง พรรคการเมืองไหนก็อยากทำและได้ทำมาแล้ว ฮิตเลอร์สามารถฝังชิปในสมองของคนหนุ่มสาว ประชาชนทั่วไปให้เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ ทำในสิ่งที่เขาต้องการให้ทำ เวลานั้นฮิตเลอร์ให้การพูดหาเสียงกับฝูงชนผ่านไมโครโฟน แจกใบปลิว อย่างดีที่สุดก็พูดผ่านทางวิทยุกระจายเสียง แต่เขาสามารถกุมความคิดของคนทั่วประเทศได้ เวลานี้สื่อได้พัฒนาจากวิทยุ มาเป็นโทรทัศน์ เป็นสื่อดิจิตัลจากยุค 1 จี มาเป็น สอง สาม สี่ จี จนไปถึง ห้า จี แล้ว เพียงแตะปลายนิ้วนิดเดียวข้อมูลต่างๆก็สามารถหลั่งไหลเข้าสู่สมองของประชาชนได้อย่างทั่วถึง

บริษัทซี.เอ.รับจ้างวางแผนเลือกตั้งให้พรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคในโลก โดยเฉพาะมีข่าวว่าในการเลือกตั้งอเมริกา ปี 2559 ซึ่งเป็นการแข่งขันดุเดือดระหว่าง นางฮิลลารี่ คลินตัน จากพรรคดีโมแครตกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีปับลิกัน ฮิลลารี่ ใช้งบโฆษณา มากกว่า 200 ล้านเหรียญอเมริกัน (6 หมื่นล้านบาท)เป็นอย่างน้อย แต่นางไปอัดโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นหลัก

ในขณะที่ทรัมป์ใช้งบน้อยกว่า(90 ล้านเหรียญหรือ 2700 ล้านบาท)ให้บริษัท ซี.เอ.ไปอัดโฆษณาทางสื่อโซเชียล ยิงโฆษณาในเฟซบุ๊ค โดยวิจัยจากข้อมูลที่ซื้อมาว่า ประชาชนสนใจประเด็นไหนก็อัดประเด็นนั้นเข้าไป ทีมงานของซี.เอ. ยิงแอดได้อย่างแม่นยำ ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ความนิยมของทรัมป์เพิ่มขึ้นทุกวัน

"เบร็กซิต"เป็นอีกกรณีศึกษาที่ระยะแรก คนอังกฤษ อยากอยู่ต่อ มาแรงกว่า แต่สุดท้ายพวกที่อยากออกจากสหภาพยุโรปแซงโค้งเอาชนะไปได้ กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของซี.เอ.ซึ่งรับทำโฆษณาให้ ในขณะที่เฟซบุ๊ค ก็ได้ประโยชน์เพราะสองกลุ่มซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊คมากขึ้น

มีการเปิดเผยว่า ทั้งเอส.ซี.แอล และซี.เอ.รับปรึกษาและวางแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งกว่า 100 ครั้งใน32ประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยเริ่มต้นบริษัทจะทำวิจัยทางการเมืองว่าด้วย"ความเข้าใจ ความต้องการ และความกลัว" จากกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จากนั้นนำมาวิเคราะห์ เสนอแนะ ทำแบรนด์ ในการหาเสียง

มีการเปิดเผยว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ใช้บริการของสองบริษัทนี้เป็นพรรคการเมืองขวาจัดที่นิยมใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว สร้างความเกลียดชัง บริษัทวางแผนทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าชนะการเลือกตั้ง แม้ว่าจะต้องใช้ข่าวลวง ข่าวปลอม วาทะที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง แตกแยกในสังคมก็ตาม แต่หลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดโปงปรากฏว่าไม่มีใครกล้าใช้บริการของสองบริษัทนี้อีก

มีข่าวว่าหลายปีมาแล้ว มีพรรคการเมืองของไทย ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นพรรคใดใช้บริการของบริษัทดังกล่าวด้วย สอดคล้องกับการเปิดเผยของบริษัทแม่ที่ว่าได้ทำแคมเปญการเลือกตั้งกว่า100 ครั้งให้กับ32ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แน่นอนพรรคการเมืองไทยที่ใช้บริการของบริษัทดังกล่าว ต้องเป็นพรรคที่มีเงินมากพอสำหรับจ่ายให้กับบริษัท แต่ผลที่ได้รับก็ไม่ผิดหวัง นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว

ในขณะที่โทรศัพท์มือถือยังเป็นระบบ1-2 จี เท่านั้น แต่เวลานี้ความเร็วความแรงขึ้นเป็น4-5จี ยุทธวิธีการเล่นแร่แปรธาตุ ชี้นำควบคุมความคิดของประชาชนก็ต้องปรับให้ทันสมัยมากขึ้น จนมีวิธีการแปลกใหม่ที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติที่ ผบ.ทบ.เป็นห่วง และต้องการให้คนไทยรู้เท่าทัน

เวลานี้ พรรคการเมืองที่รวยพออาจจ้างบริษัทแบบข้างต้นก็ได้ แต่พรรคสามารถสร้างทีมงานได้เองเพื่อทำวิเคราะห์วิจัย ความคิดของคนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งแต่ละกลุ่มอายุ และมุ่งเน้นที่กลุ่มใด จากนั้นก็สร้างชุดความรู้ คีย์แมจเสจอัดเข้าไปเป็นระยะสู่กลุ่มเป้าหมาย ในช่วงที่ผ่านมา เราได้พบทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลวง ชุดความรู้ที่เป็นอันตราย คีย์แมจเสจที่แปลกๆ มีการใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงกันข้าม หากใครแสดงความเห็นค้านหรืออยู่ฝ่ายตรงกันข้ามก็จะถูกโจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง ก้าวร้าว อย่างต่อเนื่อง ใครหน้าบางก็ทนไม่ได้และยุติบทบาทไปในที่สุด

มีการสร้างกระแสเกินจริงให้เกิดภาพที่ตัวเองดูดีจนติดอันดับหนึ่งของแฮชแท็กโดยตลอด หรือสร้างกระแสนำกดไลค์ กดแชร์ จำนวนนับหมื่นแสน รวดเร็วผิดปกติจนคนทั่วไปสังเกตได้ พอเกิดกระแสตีกลับก็เปลี่ยนประเด็นไปเรื่อยๆรุกคืบเข้าไปคุมหรือซื้อ หรือสร้างพันธมิตรกับกลุ่มอื่น

เมื่ออังกฤษมีแคมบริดจ์ อะนะลิติก้า ทำไมไทยจะมี"ไทยแลนด์ อะนะลิติก้า"ไม่ได้ สื่อโซเชียลในไทยกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝังชิปการเมืองในสมองคน ในเมืองไทยมีคนใช้โซเชียลมีเดียแยกเป็นเฟซบุ๊คในไทย 48 ล้านคน(เติบโตร้อยละ4) อินสตาแกรม 13.6 ล้านคน(เติบโตร้อยละ 24) ทวิตเตอร์12 ล้านคน (เติบโตร้อยละ 33)โดยมีบัญชีผู้ใช้งานประจำเพิ่มขึ้นจาก 3.1ล้านคนเป็น 5.7 ล้านคน หรือโตขึ้นเกือบสองเท่า ผู้ที่ใช้ไลน์ในไทย 41 ล้านคน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้มีคนไทยจำนวนมากที่ใช้ยูทูป เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มบ่อนทำลายประเทศที่หลบหนีไปอยู่ในต่างประเทศนิยมใช้ยูทูปในการโฆษณาชวนเชื่อโจมตีประเทศและสถาบันสำคัญ

สถิติจาก"เอตด้า"พบว่าคนไทยนิยมใช้ยูทูป(98.8)ไลน์(98.6)และเฟซบุ๊ค(96.0)มากที่สุด เรียงตามลำดับ รองลงมาเป็นเมสเซนเจอร์(88.4) ห่างลงมาเป็นอินสตาแกรมและอื่นๆที่น่าสังเกตคือ คนไทยใช้โทรศัพท์เพียงร้อยละ 10.6 เท่านั้น

สำหรับกิจกรรมที่ใช้5อันดับแรกคือโซเชียลมีเดีย(93.6)รับส่งอีเมล์(74.2)ค้นข้อมูล(7.09)ดูหนังฟังเพลง(60.7)และซื้อสินค้าบริการ(51.3)

กล่าวกันว่าคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพะกลุ่มวัยหนุ่มสาว"ไม่คิดเยอะ"และ"มีความจำสั้น"หรือไม่อยากทำอะไรนานๆ เขามีเวลาตัดสินใจเพียง4-7วินาทีในการที่จะซื้อสินค้าและบริการ หรือติดตามข่าวสารที่น่าสนใจ ขอให้สังเกตดูคนหนุ่มสาวจะดูมือถือและปัดหน้าจออย่างรวดเร็ว อะไรที่เขาไม่สนใจจะปัดผ่านไปทันที ดังนั้นคนขายต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้มีโฆษณาที่"เตะตา" และโดนใจคนเหล่านี้ที่จะหยุดดูสักครู่ ก่อนที่จะปัดไปยังหน้าจออื่นหรือย้อนกลับมาดูที่หลัง

เช่นเดียวกับ นักโฆษณาทางการเมืองก็มีเวลาเพียง4-7 วินาทีเท่านั้นที่จะเสนอ"คีย์ เมจเสจ"ที่เตะตาโดนใจให้คนใช้โทรศัพท์มือถือหยุดดู หรือจำไว้ว่าจะมาดูทีหลังครั้งแรก ต้องทำให้เขาหยุดดูก่อน หลังจากนั้น นักโฆษณาทางการเมืองจึงค่อยใส่"ชุดความรู้"เข้าไปทีละน้อย เมื่อเห็นว่าเป้าหมายยอมรับแล้ว ก็อัดชุดความรู้ที่ชี้นำควบคุมความคิดทางการเมืองเข้าไปเรื่อยๆเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดต่อคนหนุ่มสาว หรือกลุ่มเป้าหมายอื่น

สิ่งที่ ผบ.ทบ.และฝ่ายความมั่นคงเป็นห่วงและต้องการเตือนสติสังคม ด้วยมองเห็นว่า สื่อโซเชียลเป็นส่วนหนึ่งถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ อาทิ การใช้สื่อโซเชียลและการเผยแพร่ความคิดต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันทหาร ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ การยุยงปลุกปั่นให้เกิดการแตกแยกทางสังคม เกิดกลุ่มชังเจ้า ลมเจ้า ชังชาติ เกลียดทหาร ชักศึกเข้าบ้านฯลฯ จนเป็นห่วงว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง อาจเกิดการเผชิญหน้าและความรุนแรงทางการเมืองได้ สมควรที่คนไทยต้องร่วมมือกันในการป้องกัน ป้องปราม ไม่ให้สิ่งเลวร้ายนั้นเกิดขึ้น

บ้านเมืองเรามีปัญหาก็จริง และพวกเราต้องช่วยกันแก้ไข แต่ไม่ใช่มองอะไรก็เลวไปหมด และ ต้องแก้ไขทันทีแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเท่านั้น ที่ผ่านมา พวกเราปล่อยให้พวกนี้เป็นฝ่ายรุก และเราเป็นฝ่ายรับมาโดยตลอด

ดังนั้นเมื่อตั้งตัวได้คนไทยต้องตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามผ่านการใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิดและหาทางป้องกันไว้ก่อนดีกว่ามาแก้ปัญหาในภายหลัง อย่าตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองผ่านสื่อโซเชียล อย่ายอมให้คนไม่ดีมาฝังชิปไม่ดีในสมองของเรา