posttoday

เดินหน้านิติธรรม ถ่วงดุลการใช้อำนาจตามอำเภอใจ​

16 ธันวาคม 2553

ศ.วิษณุ เครืองาม  อดีต รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในปาฐกถาสาธารณะ ของสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การใช้หลักนิติธรรมในประเทศไทย....

ศ.วิษณุ เครืองาม  อดีต รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในปาฐกถาสาธารณะ ของสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การใช้หลักนิติธรรมในประเทศไทย....

หมายเหตุ - ศ.วิษณุ เครืองาม  อดีต รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในปาฐกถาสาธารณะ ของสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การใช้หลักนิติธรรมในประเทศไทย”   ณ อาคารศรีรัศมิ์  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ​โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนั้น

ศ.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า  หลักนิติธรรม เป็นคำศักดิ์สิทธิ์  ที่บูรณาการขึ้นมาจากทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์​สังคมศาสตร์​วิถีชีวิต และศีลธรรม ซึ่งเป็นหลักที่สร้างขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจไม่ให้ผู้ปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจ ​ ซึ่งเดิมเริ่มต้นจากกฎบัตรใหญ่หรือแมกนาคาต้า ที่เกิดขึ้นที่อังกฤษเมื่อพ.ศ. 1758  

เดินหน้านิติธรรม ถ่วงดุลการใช้อำนาจตามอำเภอใจ​ วิษณุ เครืองาม

กฎบัตรดังกล่าวระบุในมาตรา37 ว่า  การจะจับกุมคุมขังใครทำไม่ได้ การตั้งศาลเตี้ยพิจารณาใคร พิจารณาคดีไม่เป็นธรรมทำไม่ได้ กลายเป็นจุดเร่มต้นหลักนิติธรรม การดำเนินคดีต้อง ให้กฎหมายเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ใช่อำเภอใจ ถ้ากฎหมายไม่บอกให้ทำได้ ก็ต้องห้ามทำ ต่อมาจึงเรียกว่าเป็น รูล ออฟ ลอว์ ในภาษาอังกฤษ  หรือใช้ใน ฝรั่งเศส ว่า ลีกอล เสตท   หรือ ดีลโพรเซสออฟลอว์ ในสหรัฐอเมริกา

“ทั้งหมดนี้ คือหลัก ที่แสดงกฎหมายเป็นใหญ่ห้ามทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้ระบุ เวลามีอะไรก็ไปที่ศาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกฎหมายต้องเจ๋ง ยุติธรรม ศาลต้องเป็นกลางมาตรฐานเดียวแทรกแซงไม่ได้”

ศ.วิษณุ กล่าวว่า  เรื่องนิติธรรมได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตรา 3 เป็นครั้งแรก โดยบัญญัติ ให้การปฏิบัติหน้าที่รัฐสภา ครม. ศาล องค์การตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม  ซึ่งรวมถึง สส.​สว. ศาลปกครอง ศาลยุตธิรรม  กระทรวงต่างๆ  ข้าราชการ  3 ล้านคน  ฯลฯ

ที่ผ่านมามีเรื่องที่ถูกโจมตีเรื่องการใช้อำนาจอย่างเช่น กรณี จอมพลสฤษดิ์​ธนรัชต์​อดีตนายกฯ​ที่ออกมาตรา17 ในรัฐธรรมนูญขณะนั้น ระบุว่าสามารสั่งอะไรให้ถูกไปหมด จนสามารถมีอำนาจในการสอบสวน สั่งการลงโทษ ซึ่ง​เป็นการทำให้คนใหญ่กว่ากฎหมาย แต่หลักนิติธรรม ต้องทำให้กฎหมายใหญ่กว่าคน  เพราะมีโอกาสผิดได้ ​ถึงกฎหมายจะผิดได้แต่ก็ออกจากหลายคน และมีขั้นตอนถ่วงดุลได้

ศ.วิษณุ  กล่าวว่า ที่ผ่านมามีตัวอย่างการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องให้เห็นหลายอย่าง ทั้งการสั่งย้ายข้าราชการ ของรัฐมนตรี ที่ต่อมาศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าขัดหลักนิติธรรม จำคุกรัฐมนตรี 2 ปี​โดยให้รอลงอาญา  

ทั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่าหากมีการใช้อำนาจไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมก็สามารถฟ้องศาลได้ ละเว้นการทำหน้าที่  ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา  หรือหากเป็นคดีในสภาก็อาจโดนยื่นถอดถอน การพูดถึงธรรมาภิบาล การบริหารบ้านเมืองที่ดี เริ่มต้น จาก นิติธรรม

“หลักนิติธรรม​เป็นหัวใจการปกครอง และ กฎหมายของอังกฤษ ที่เข้ามามีอิทธิพลในไทย และนับวันจะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้แทนหากไม่มีรัฐธรรมนูญเพราะมีเนื้อหาครอบคลุม ​ขึ้นอยู่ที่ฝีมือศาลแปลความให้คลุมหมด ที่ผ่านมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 3ปี  เหมือน ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถ้าอยู่ต่อไปอีก5ปีก็คงจะเป็นที่รู้จักเหมือนอังกฤษ ที่มีมา 300 ปี  และเป็นหลักประกันความปลอดภัยของประชาชน” ศ.วิษณุกล่าว 

ศ.วิษณุ กล่าวว่า เรื่องสิทธิการชุมนุม เป็นสิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ ​สิทธิมนุษยชน ที่มีสิทธิชุมนุม​แต่ก็ต้องดูเรื่องสิทธิการชุมนุมที่ต้อง สงบปราศจากอาวุธ ไม่ก่อให้เกิดเดือดร้อนผู้อื่น ต่างประเทศมีกติชุมนุมสาธารณ เราไม่มี จนเหมือนอยู่กับ “อนาธิปไตย”​ ซึ่งบางครั้งเริ่มต้นด้วยความไม่สงบ​มีอาวุธ ​ เจ้าหน้าที่เองไม่เข้าใจสิทธิ ประชาชน  อีกทั้งตนเองยังเคยผลักดันกฎหมายการชุมนุม​จนสำเร็จเป็นร่างกฎหมายวางกรอบการชุมนุมเพื่ออำนวยความสะดวกดูแลให้การชุมนุมเหมือนประเทศอื่น ๆ ​ ​แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ผลักดันดำเนินการต่อไป ​

นายวิษณุ  ​ให้สัมภาษณ์ภายหลังการกล่าวปาฐกถา ถึง หลักนิติธรรมกับการพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ​หลักนิติธรรม คือการเลือกใช้  การตีความ และการคำนึงถึงผลของกฎหมาย ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดขึ้น เมื่อศาลได้พิจารณาเรื่องกำหนดระยะเวลาเป็นสำคัญ ​​ เมื่อศาลได้ตั้งหลักไว้อย่างนั้นแล้วก็ขอให้เป็นบรรทัดฐานในคดีลักษณะนี้ต่อไป เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ผูกมัดทุกองค์กร

"หลักนิติธรรมเป็นหลักการที่ใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะเพิ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญเพียง 3 ปี ถือว่ายังเป็นของใหม่ในสังคมไทย ทั้งนี้ทุกคนต่างก็เรียกหาหลักนิติธรรม ทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งเป็นหลักที่ใช้ลดความเสี่ยงในสังคม  ดังนั้นต้องมีการทำให้หลักนิติธรรมเป็นที่ยอมรับ แต่ทั้งนี้ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องของระยะเวลาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น"

นายวิษณุ กล่าวว่า ประเมินเรื่องหลักนิติธรรมของรัฐบาลได้ยาก เพราะว่ายังไม่เคยประเมินอย่างชัดเจน แต่ความมีหลักนิติธรรมไม่ควรมองเฉพาะแค่รัฐบาล แต่ควรมองถึงเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด เช่น  ตำรวจ ทหาร ข้าราชการนายอำเภอ สรรพกร เพราะรัฐบาลมีกลไกในการควบคุม ตรวจสอบ และถอดถอน อีกทั้งมีสายตาของประชาชนจับผิดอยู่ทุกวัน

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องการใช้กฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปัจจุบัน ถือเป็นภาวะที่ทำให้การบังคับใช้ "หลักนิติธรรม" ทำไม่ได้ ซึ่งในบางสถานการณ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำแต่อหากอยู่ในสภาวะที่นานเกินไปก็จะยุ่งสร้างปัญหา