posttoday

แผนดูดส.ส.อนาคตใหม่เข้า"ภูมิใจไทย"เกมดัน"อนุทิน"นั่งนายกฯ

26 กุมภาพันธ์ 2563

โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

********************

กรณี 9 ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ แห่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย 9 คน และมีแนวโน้มทะยอยเข้ามาสมทบเพิ่มอีก ซึ่งรวมกันแล้วน่าจะมีมากกว่า 20 คน โดยเบื้องต้นได้ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย ทะยานเป็นพรรคอันดับสอง ในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลทันที ด้วยการมีถึง 61 เสียง รองจาก พรรคพลังประชารัฐ

ผลที่พรรคภูมิใจไทยได้รับอานิสงส์ทันที จากการก้าวขึ้นเป็นพรรคอันดับสองของพรรคร่วมรัฐบาล มีด้วยกันใน 3 ประการ คือประการแรก ย่อมทำให้สามารถต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะมีมือในสภาเพิ่มขึ้น และในประการต่อมาคือ จะรักษาเก้าอี้ในกระทรวงสำคัญอย่าง รมว.คมนาคม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ที่ถูกแกนนำในพรรคพลังประชารัฐ แซะมาตลอด ได้อย่างมั่นคงอีกด้วย

อีกประการที่สำคัญยิ่งในการดูดส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่เข้ามาในครั้งนี้ คือ เพื่อเป้าหมายเตรียมการรองรับแผนดัน"อนุทิน ชาญวีรกุล"หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี"ตาอยู่"หรือ"ขัดตาทัพ"แทน"บิ๊กตู่"ทันที หากเกิดกรณีอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งนับเป็นแผนการอันฉลาดและล้ำลึกของแกนนำพรรคภูมิใจไทย

ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ทางการเมือง ในขณะนี้"บิ๊กตู่"โดนถล่มสารพัด ทั้งเรื่องผลพิษจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน พิษปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องที่รุนแรงขึ้น รวมถึงโรคระบาดโควิด-19 และที่สำคัญสุดคือการเคลื่อนของกลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศเพื่อทวงคืนอนาคต และทวงคืนประชาธิปไตย ภายหลังมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่พุ่งเป้าไล่"บิ๊กตู่"เพื่อเปิดประตูก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศใหม่

สถานการณ์ทางการเมืองที่รุมเร้าเช่นนี้ย่อมทำให้"บิ๊กตู่"อาจตกเก้าอี้ได้ในอนาคตเร็ววันก็เป็นได้ ซึ่งถ้าหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง พรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่มีคนที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน"บิ๊กตู่" เพราะได้เสนอชื่อ"บิ๊กตู่"เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในช่วงเลือกตั้ง

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเป็นผู้พิจารณา ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรก ต้องเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ต่อ กกต. ก่อนปิดการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคนั้นต้องได้ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 คือ 25 คน

แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้คนนอกบัญชีรายชื่อดังกล่าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ต้องให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จากจำนวนเต็ม 750 คน ลงมติ เพื่อเปิดทางให้เสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชี มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งก็คงจะยากเย็นแสนเข็น และอาจจะถูกต่อต้านทำให้เกิดความวุ่นวายได้อีก

ครั้น"บิ๊กตู่"จะใช้วิธีการเลือกยุบสภาเพื่อไปเลือกตั้งกันใหม่ ก็อาจเป็นแนวทางที่เสี่ยงเกินไปที่อำนาจอาจเปลี่ยนขั้ว แม้ มีส.ว.อยู่ 250 เสียง แต่หาก"บิ๊กตู่"พ้นอำนาจไปแล้วเสียงส.ว.เหล่านี้ก็อาจไม่เป็นเอกภาพดังเดิม

ฉะนั้นหากดูตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เวลานี้คงมี แต่"อนุทิน" เพียงคนเดียว เพราะ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จากพรรคประชาธิปัตย์ หรือ"คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์"พรรคเพื่อไทย ปิดประตูไปแล้ว ส่วน"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"ถูกตัดสิทธิ์ห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง10ปีจากกรณีพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

ยิ่งดูบทบาทของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็พบว่าขยันประท้วงฝ่ายค้านช่วย"บิ๊กตู่"อย่างออกหน้าออกตา และประกอบกับ"อนุทิน"มีบุคคลิกเป็นมือประสานสิบทิศเข้าได้กับทุกฝ่าย ดังนั้นโอกาสก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียบแทน"บิ๊กตู่"ในอนาคตก็เป็นไปได้สูง

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่พรรคภูมิใจไทยจะลงทุนต้อนส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ มาอยู่ด้วยโดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเมื่อบวกลบคูณหารแล้วผลประโยชน์ในวันข้างหน้ามีมากกว่าผลลบ ถือว่าเกินคุ้มสำหรับพรรคภูมิใจไทย และจากนี้เมื่อการเมืองเข้าสู่โหมดการไล่"บิ๊กตู่"เต็มสูบ โอกาสของ"อนุทิน"ก็สูงยิ่ง สถานการณ์ทางการเมืองต่อจากนี้ต้องจับตากันอย่ากระพริบ