posttoday

“ม็อบเสื้อส้ม” สัญญาณวิกฤตรอบใหม่

21 ธันวาคม 2562

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**************************

"แฟลซม็อบ"ที่ปลุกโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือเป็นม็อบการเมืองแรกที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง จากกลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาล คสช. ที่แสดงความไม่พอใจต่อการชงให้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีทุนเดิมจากกระแสต่อต้านการรัฐประหารปี 2557

ตัวเร่งเร้าที่จะทำให้ม็อบเสื้อส้มของ ธนาธร จุดติด คือ คดียุบพรรคพรรคอนาคตใหม่ ขณะนี้อยู่ในมือ ศาลรัฐธรรมนูญหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องให้วินิจฉัยยุบพรรค จากปม ธนาธรให้เงินกู้ 191 ล้านบาท เข้าข่ายนิติกรรมอำพราง ฝ่าฝืน พรบ.พรรคการเมือง คาดว่า ปลายปีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมว่าจะรับพิจารณาหรือไม่ แต่หลายฝ่ายแม้แต่พรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องและมีแนวโน้มที่จะถูกยุบพรรค เพราะมองว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มาจากการแต่งตั้งในยุคคสช.

มีความเป็นไปได้สูง ที่ “ม็อบเสื้อส้ม” จะกลับมารวมตัวอีกครั้งในต้นเดือน ม.ค. ที่คาดว่า คดียุบพรรคจะได้ข้อยุติจากศาลรัฐธรรมนูญ ธนาธร ประกาศแล้วว่า เขาจะไม่ทนอีกต่อไป ถ้ามีการยุบพรรคเกิดขึ้น และจะพามวลชนกดดันนอกสภาเพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกกลั่นแกล้งจากกลไกของ คสช.

ถึงแม้ พรรคอนาคตใหม่ ยังมีทางออก หากถูกยุบพรรค โดย ส.ส.ของพรรค สามารถย้ายพรรคไปอยู่พรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน ทว่า การยุบพรรคทำให้พรรคอ่อนแอ โดยเฉพาะเพราะบทลงโทษที่ห้าม คณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ซึ่งก็รวมถึง คีย์แมนของพรรค “ธนาธร -ปิยบุตร –พรรณิการ์” เล่นการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

มีคำถามว่า แล้วแฟลซม็อบเสื้อส้มของธนาธร จะจุดติด หรือไม่ ถ้าจัดชุมนุมปีหน้า?

คำตอบ คือ น่าจะจุดติด คนร่วมเยอะ แต่จะชุมนุมต่อเนื่อง ขับไล่รัฐบาลอย่างที่ธนาธร ปลุกอยู่ได้หรือไม่ ยังตอบยาก อยู่ที่การกระทำของรัฐบาลอีกด้านหนึ่งด้วย เหตุผล คือ

1.ธนาธร มีกองเชียร์จำนวนมาก ไม่เฉพาะฐานเสียงของ พรรคอนาคตใหม่ 6.2 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ยังรวมถึงฝ่ายตรงข้าม คสช.ทั้งหมด ประกอบด้วยม็อบเสื้อแดงที่สนับสนุนทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังคับแค้นใจรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากอำนาจ

2. ในกรณีหากผลสุดท้ายมีการยุบพรรคพรรคอนาคตใหม่จริง ก็เชื่อว่า จะมีมวลชนที่พร้อมออกมาสู้กับธนาธรอย่างสุดตัว เพราะคดีเงินกู้นี้ ยังมีความกำกวมว่า ผิดหรือไม่ และถ้าผิด เป็นเหตุที่ควรเป็นโทษสูงสุด ยุบพรรคขนาดนั้นหรือ
แม้เหตุผลในการปลุกม็อบของธนาธร ดูจะเป็นการปกป้อง ประโยชน์ ส่วนตัวจากคดีความที่เป็นผลจากเจ้าตัวทำขึ้น ทั้ง การปล่อยกู้พรรค และคดีถือหุ้นสื่อที่ธนาธร ต้องพ้นจากการเป็น สส. แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวใจของเรื่องก็มีปมลึกๆ ที่สะท้อนว่า ตกเป็นเป้าถูกกลั่นแกล้ง รวมถึง กติกาจาก รัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐบาล คสช. และสกัดฝ่ายตรงข้าม ขนาดผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยชนะที่ 1 แต่ก็ไม่เป็นตั้งรัฐบาลหรือได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญที่สกัดทุกวิถีทาง จึงเป็นเชื้อความไม่พอใจที่ยังมีอยู่กับฝ่ายต่อต้านคสช.ตลอดเวลา

3.ม็อบจะจุดติดหรือไม่ ต้องเกิดจากปัจจัยภายในรัฐบาลเองด้วย เช่น จากปัญหาความขัดแย้ง การจัดสรรผลประโยชน์ในรัฐบาลไม่ลงตัว การส่อทุจริตคอรัปชั่นที่คาดว่า จะต้องเกิดขึ้นแน่ หลังรัฐบาลบริหารประเทศไปได้ระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะรัฐบาลประยุทธ์มีความขัดแย้งตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาล หรือ ในการลงมติในสภาครั้งสำคัญ ก็มีข่าวกระเซ็นกระสายเรื่องการแจกกล้วยผลประโยชน์ให้กับ สส.พรรคเล็ก

ภายในพรรครัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรค ก็เกิดปัญหาแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี ทะเลาะข้ามพรรคเร็วกว่าทุกรัฐบาล หากเกิดปัญหาทุจริต ใช้อำนาจเพื่อพวกพ้อง และเศรษฐกิจแย่ ซึมยาวข้ามปี กระทบชาวบ้านอย่างที่เป็นอยู่ ยิ่งทำให้คนกลางๆ ไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น จนทำให้ฝ่ายต่อต้านมีน้ำหนักในการกดดัน ขับไล่รัฐบาล
ปัจจัยหลังที่กล่าวมานี้น่าห่วงสุด และมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง

อย่างไรก็ตาม หาก ธนาธร จัดม็อบเสี้อส้มขึ้น ก็มีความเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้า และความรุนแรงได้ทุกเมื่อ

อย่าลืมว่า คนกรุงเทพเบื่อม็อบการเมืองในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2549 เกิดม็อบเสื้อสี มาแล้วสามรุ่น ผลัดกันทำสงครามกลางถนนไล่รัฐบาลกันคนละฝ่าย เกิดความรุนแรง บาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมาก กระทบกับความสงบสุข ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ประเทศเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้คนชั้นกลางจำนวนมาก หันไปสนับสนุนการรัฐประหาร เป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงอยู่ในอำนาจได้นานถึงเกือบ 6 ปีและก็ยังพอใจให้อยู่ในอำนาจต่อไปอีกหากแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

ถ้า “ธนาธร” มุ่งเดินการเมืองนอกสภา ควบคู่กับการเล่นการเมืองในสภา หลังจากได้พรรคใหม่ให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ย้ายเข้าสังกัด กรณีถูกยุบพรรคจะถูกกล่าวหาได้ว่า ไม่เคารพระบบรัฐสภาตามวิถีประชาธิปไตยที่มีผู้แทนประชาชนนั่งทำหน้าที่ ทั้งที่ยังมีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งตรวจสอบรัฐบาล

บทเรียนจากแกนนำเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ ม็อบกปปส. ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นว่า ถ้าเกิดม็อบขึ้น พึงระวัง “มือที่สาม” ที่คอยจ้องสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงเพื่อให้เกิดความวุ่นวายจะได้”เซ็ทซีโร่” ส่วนผู้ร่วมชุมนุมด๋ตกเป็นเหยื่อ บาดเจ็บ ล้มตาย ติดคุก ผลสุดท้ายก็ไม่ได้ผลที่แกนนำม็อบต้องการ หากแต่เปิดทางให้กองทัพยึดอำนาจอีกรอบ

การเผชิญหน้าจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จากประชาชนอีกฝ่ายที่ไม่พอใจ ขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยของสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็อุ่นเครื่อง ปลุกประชาชนให้เกลียดลัทธิชังชาติพุ่งไปที่ฝ่ายธนาธรโดยใช้ประเด็นล่อแหลมที่จุดติดง่ายๆ ว่า จาบจ้วง ไม่เอาศาสนา วัฒธรรม ประเพณี ไม่ยอมรับคำตัดสินศาล ซึ่งประเมินแล้ว ก็ยิ่งสร้างความเกลียดชังแตกแยกในสังคมมากขึ้น

สัญญาณความขัดแย้งบนท้องถนนเริ่มปรากฎให้เห็น สงครามกีฬาสี จากม็อบเหลือง ม็อบแดง หรือจะตามด้วยม็อบส้ม คราวนี้อาจจะรุนแรงกว่าเดิมก็เป็นได้

***************************************