posttoday

พปชร.ขวาง'อภิสิทธิ์'ได้ไม่คุ้มเสีย

09 พฤศจิกายน 2562

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

***********************************

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกโหมกระแสมาต่อเนื่องนับแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงขณะนี้ จนหลายฝ่ายเกรงว่า อาจนำมาสู่ความขัดแย้งใหม่ ล่าสุด สภาฯได้บรรจุวาระพิจารณาญัตติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาภายในเดือนนี้

ญัตติดังกล่าว ริเริ่มเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเองก็ประกาศนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นจุดยืนเดียวกับฝ่ายค้านเพราะมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกการสืบทอดอำนาจ และเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยหลายเรื่อง
จนถึงขณะนี้มีเพียงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำรัฐบาลเพียงพรรคเดียว และ ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กระนั้นก็ตามเพื่อไม่ให้ตกขบวนในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พปชร.ยอมเสนอญัตตินี้มาประกบ เพราะเกรงว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ไปจับมือกับฝ่ายค้านซึ่งมีจุดหมายเดียวกัน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะรวมเป็นเสียงข้างมากในสภาที่จะตั้งกมธ.ชี้นำสังคมได้ ตามลำพัง โดยที่พปชร.หมดโอกาสเข้าไปคัดค้านสกัดกั้น

ถึงแม้การตั้งคณะกมธ.ชุดนี้ จะยังอีกไกลกว่าจะถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นแค่ “การศึกษา” แต่ในทางการเมือง เท่ากับ “จุดไฟติด” และ “เริ่มนับหนึ่ง” ผ่านกระบวนการอันชอบธรรมทางระบบรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม พปชร.ดูจะกังวล จึงมีแผนส่งคนของตัวเองเข้ามาคุมเกมด้วยการเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ จากพปชร. มานั่งเป็นประธานกมธ.ชุดนี้ เพื่อสู้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ที่พรรคประชาธิปัตยมีมติสนับสนุนให้มาเป็นประธาน กมธ.

สำหรับ อภิสิทธิ์ โดดเด่นชัด เพราะประกาศจุดยืนต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างนำทัพประชาธิปัตย์ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้สร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตย ก่อนที่เจ้าตัวจะเว้นวรรคการเมืองไปหลายเดือน เพราะแสดงสปิริตลาออกจากหัวหน้าพรรคและ ส.ส. หลังพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้ง

การกลับมาของอภิสิทธิ์รอบใหม่ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่มีมติสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นประธานกมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ นับเป็นจังหวะ “ถูกที่” “ถูกเวลา” ยังช่วยดึงพรรคประชาธิปัตย์ให้กลับมาโดดเด่นในกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ถูกที่” เนื่องจาก อภิสิทธิ์มีภาพชัดเรื่องจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี รู้กลไกต่างๆ โครงสร้างประเทศ มีความเป็นนักประชาธิปไตย และบทบาทแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ถือว่าเป็นกลาง ไม่สุดขั้วไปทางฝ่ายค้านหรือรัฐบาล

“ถูกเวลา”เนื่องจากถึงจุดที่ต้องเริ่มนับหนึ่ง ไขกุญแจสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แล้ว เพราะเริ่มเห็นปัญหาและผลจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบจนเกิดความไม่เป็นธรรมในกติกาการเมือง

ถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่อภิสิทธิ์จะได้รับการสนับสนุนขึ้นมาเป็นประธานกมธ. คำตอบคือ ทุกอย่างจะจบทันทีหากพรรคของพล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุน อภิสิทธิ์ แต่เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ไม่ยอม ระแวงกลัวสูญเสียอำนาจ ต้อง “ยัน” กระแสแก้รัฐธรรมนูญไว้ให้นานที่สุดและคุมเกมในกมธ.ให้ได้ เมื่อส่งคนสู้ ต้องเกิดศึกภายในพรรครัฐบาลเพี่อชิงเก้าอี้ตัวนี้

แต่ พปชร.เองคงไม่เหมาะที่นำทัพแก้รัฐธรรมนูญเพราะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มๆ อย่าลืมว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกดดันให้พล.อ.ประยุทธ์ บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลสำเร็จ จึงควรให้พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรครัฐบาลด้วยกันเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้

หากวิเคราะห์เสียงภายในกมธ. พรรคประชาธิปัตย์เองมีภาษีดีกว่า พปชร. เนื่องจาก ตำแหน่งประธานกมธ.จะมาจากการเลือกกันเองของกมธ.ซึ่งมีทั้งหมด 49 คนแบ่งเป็นฝ่ายค้าน 19 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน และโควต้าตรงของรัฐบาลอีก 12 คน

ว่าไปแล้ว เสียงสนับสนุน อภิสิทธิ์ ในกมธ.มากกว่า ซีก พปชร. เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดจะเทให้อภิสิทธิ์ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มนับหนึ่งเดินได้ เพราะหากเสนอชื่อคนของฝ่ายค้านมาเป็นประธาน กมธ. ก็จะไม่ได้เสียงจากซีกรัฐบาลมาโหวตให้

ขั้ว อภิสิทธิ์ อาจได้เสียงจากพรรคภูมิใจไทยมาช่วย เพราะประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย เป็นมิตรกันเหนียวแน่น ตั้งแต่จับมือต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกับ “บิ๊กตู่” ช่วงเข้าร่วมรัฐบาล
พรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย จะมีกมธ.รวม 8 คน ถ้ารวมกับฝ่ายค้าน ก็กลายเป็นเสียงข้างมากสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นประธานได้ทันที

กลยุทธ์แพ็คคู่อย่างนี้ไม่ต่างกับช่วงเลือกชวน หลีกภัย ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นประธานสภาฯ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์หักพรรคพลังประชารัฐสำเร็จ เพราะได้แรงหนุนจากพรรคภูมิใจไทย จน “สุชาติ ตันเจริญ” และพรรคพลังประชารัฐ ที่วางตัวเป็นประธานสภา ต้องยอมแพ้กับเกมเคี่ยวลากดินของพรรคประชาธิปัตย์

ถามว่า ตำแหน่งประธาน กมธ. มีบทบาทอย่างไร ทำไมต้องอยากมาเป็น ทั้งที่ไม่มีอำนาจ ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง

คำตอบ คือ ผู้ที่เป็นประธาน สามารถกำหนดประเด็น ขับเคลื่อน ให้สัมภาษณ์ ชี้นำสังคมให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระของชาติ กดดันไปยังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ให้ยอมแก้รัฐธรรมนูญ

อย่าลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ2560 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจาก ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนวิธีแก้ไขให้ยากกว่าเดิม ราวกับใส่กุญแจล็อค 3-4 ชั้น เพราะต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภา (สส.และ สว.) นั่นหมายความว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบ 376 เสียงขึ้นไป และยังกำหนดให้เสียงที่ผ่านนั่นต้องมีเสียง ส.ว. สนับสนุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่มีอยู่ คือไม่น้อยกว่า 84 คน

ทางเดียวที่จะสำเร็จ คือ สร้างให้สังคมเห็นปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นแรงกดดันให้รัฐบาล และ ส.ว. ยอมแก้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นสำเร็จจากโมเดลตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นฉบับประชาชนปี 2540 ที่เป็นการออกแบบร่วมกันของประชาชนทุกส่วนในสังคม

หาก พปชร.ฉลาดพอ ไม่ควรตั้งคนของตัวเองเป็นประธาน และปล่อยให้กลไกการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องในสภาเป็น “รูระบาย” ให้มีทางออกกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพปชร. ยังถืออำนาจรัฐ ได้เปรียบฝ่ายค้านอยู่หลายขุมกว่าจะถึงขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกุมเสียง ส.ว.ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

**********************************