posttoday

ประชานิยม-สวัสดิการแห่งรัฐ ศึกชิงดำเลือกตั้งรอบใหม่

18 มกราคม 2562

ประเมินกันว่าการเลือกตั้งรอบนี้น่าจะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างต้องงัดทุกกลยุทธ์เข้ามาเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนให้ได้มากที่สุด

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเมินกันว่าการเลือกตั้งรอบนี้น่าจะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างต้องงัดทุกกลยุทธ์เข้ามาเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกับระบบการเลือกตั้งใหม่แบบจัดสรร ปันส่วนผสม ซึ่งทุกคะแนนล้วนแต่มี ความหมายไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในระบบเขตเลือกตั้ง แต่จะถูกนำมาคำนวณเป็นสัดส่วนของ สส.ระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ จะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ด้านหนึ่งจะเป็น การแข่งกันระหว่างจุดยืนทางความคิดระหว่างฝั่งที่สนับสนุนแนวทางเสรีประชาธิปไตย ดังจะเห็นจากการที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ยอมรับกระบวนการที่เริ่มต้นไว้ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดจนแม่น้ำ 5 สายที่วางกรอบให้ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามที่กำหนด

พร้อมออกมาจุดประเด็นว่าทุกอย่างที่กำหนดไว้ล้วนแต่มีเงื่อนงำและเป็นหนึ่งในความพยายามจะปูทางการสืบทอดอำนาจ ไปจนถึงการวางแนวทางการบริหารของรัฐบาลที่จะเข้ามาในอนาคต  ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐบาลในอนาคต อันจะไม่อาจผลักดันแนวนโยบายของตัวเองตามที่หาเสียงไว้ได้หากไม่เป็นไปตามกรอบที่ถูกกำหนด

แนวทางการเคลื่อนไหวฝั่งนี้จะเห็นได้ชัดเจนทั้งการประกาศเป้าหมายเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดช่องทางการ สืบทอดอำนาจหรือกลไกที่เป็นอุปสรรคถ่วงรั้งความเป็นเสรีประชาธิปไตยที่ถูกซุกอยู่ในกฎระเบียบหรือคำสั่ง คสช.ที่ประกาศใช้ออกมาก่อนหน้านี้

กับอีกด้านหนึ่งที่ ไม่ต้องการให้ขั้วอำนาจเก่ากลับมาสู่ตำแหน่งอีกครั้ง ด้วยเกรงว่าทุกอย่างจะย้อนกลับไปสู่วังวนความขัดแย้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนฉุดไม่ให้ทุกอย่างสามารถ เดินหน้ากลับไปตามกลไกที่ควรจะ เป็นโดย เห็นว่าควรจะให้รัฐบาลปัจจุบันกลับมาสานต่อภารกิจที่ดำเนินการมาร่วม 5 ปี ให้สำเร็จลุล่วงตามที่ตั้งใจ

แต่ทว่าด้วยแนวทางการเคลื่อนไหวตลอดจนอุดมการณ์ที่ออกจะเป็นนามธรรมจนยากจะจับต้องได้นั้น อาจจะทำให้การเคลื่อนไหวชิงคะแนนทำได้ไม่เห็นผล เท่าที่ควร ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด ปัญหาเรื่องปากท้องยังบีบให้ประชาชนต้องย้อนกลับมาสนใจเรื่องรายได้ มากกว่าแนวความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง

สะท้อนผ่านสโลแกน "อยู่กับเรา เป๋าตุง อยู่กับลุงเป๋าแบน" ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย หยิบยกขึ้นมาเป็นจุดขายระหว่างการเปิดเวทีปราศรัยที่ จ.ยโสธร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันที่หลายพื้นที่กำลังหลงใหลได้ปลื้มกับ แพ็กเกจของขวัญจากรัฐบาลที่ยังคงอัดฉีดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนหลายพรรคเริ่มออกมาเร่ง ออกมาประกาศนโยบาย ลดแลกแจกแถมด้วย

อันอาจทำให้เลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการแข่งขันระหว่างแนวนโยบาย "ประชานิยม" กับ "ประชารัฐ" ซึ่งในทางปฏิบัติสุดท้ายแล้วก็อาจไม่มีความแตกต่างกันเท่าไร  คงเป็นเพียงแค่ชื่อที่ใช้เรียกขานเพื่อสร้างจุดขายของตัวเองให้แตกต่างจากคู่แข่งเท่านั้น

คล้ายกับที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานรณรงค์หาเสียงพรรคเพื่อไทยกล่าวบนเวทีปราศรัย จ.อุดรธานี ว่า รัฐบาลนี้ใช้นโยบายประชารัฐ พรรคเพื่อไทยใช้ประชานิยม ก็เอามาสู้กันดู  พร้อมแจกแจงผลงานในอดีต ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านหรือโอท็อป ที่ถูกหยิบยกมาตอกย้ำความสำเร็จจนกลายเป็นภาพจำของพรรคเพื่อไทย ในปัจจุบัน

ส่วนในอนาคตพรรคเพื่อไทยในฐานะต้นตำรับนโยบายประชานิยมครั้งนี้ได้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ยังคงเดินหน้าต่อยอดนโยบายที่ประสบความสำเร็จเดิมทั้งหลาย นโยบายบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค จะมีการเพิ่มให้ผู้ถือบัตรเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ในการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงสามารถเช็กแพทย์ผู้รักษา กำหนดช่วงเวลาที่จะเดินทางมาได้ ตลอดจนจะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่า 300 บาท/วัน

อีกด้านหนึ่งทางฝั่งพรรคพลัง ประชารัฐที่กำลังถูกจับตาเวลานี้ ในฐานะพรรคซึ่งจะเข้ามาต่อยอดสารพัดโครงการประชารัฐของรัฐบาลที่เริ่มต้นออกตัวไปก่อนหน้านี้ และกำลังแตกแขนงออกไปยังกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ผ่านกลไกสำคัญอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้มาลงทะเบียนกว่า  14.5 ล้านคน และเริ่มต้นเดินหน้ามาถึงระยะ 2 ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2562

ล่าสุด ครม.ยังทุ่มเงิน 4,370 ล้านบาท  ผ่านการเพิ่มเงินให้ผู้ผ่านการอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกรายละ 100-200 บาทต่อไปอีก 6 เดือน หลังสำรวจพบผู้เข้าอบรม 80% มีรายได้เพิ่ม 50% พร้อมปรับเงื่อนไขให้ชาวบ้านที่ถือบัตรคนจน 14.5 ล้านคน กดเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการฯ ได้รายละ 100-200 บาท เหลือใช้ใน ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐแค่รายละ 100 บาท

เมื่อการแข่งขันที่ดุเดือดผ่านการอัดนโยบายลดแลกแจกแถม ย่อมทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อ ไม่ให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขัน การจะยึดแนวนโยบายแบบอนุรักษนิยม ไร้ความหวือหวา ย่อมมีแต่จะกลายเป็น จุดอ่อนและอาจถึงขั้นส่งผลต่อการแพ้ชนะเลือกตั้งได้

ไม่ว่าก่อนหน้านี้หลายฝ่ายต่างพยายามโจมตีนโยบายประชานิยมที่ใช้เม็ดเงิน อัดฉีดระบบ แม้จะเห็นผลทันใจแต่ ไม่ยั่งยืนหรือนำไปสู่การพัฒนาในระยะยาวได้อย่างแท้จริง แต่ในยุคที่การแข่งขัน ตกอยู่ในสภาพนี้หลายฝ่ายก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงจำเป็นต้องใช้แนวทางนี้เพียงแค่เปลี่ยนชื่อให้ดูแตกต่างและไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งเสียหายเหมือนในอดีต