posttoday

ม็อบอยากเลือกตั้ง จุดติดแต่ไฟไม่แรง

17 มกราคม 2562

สถานการณ์การเมืองไทยเวลานี้เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปทุกที ภายหลังกลุ่มคนอยากเลือกตั้งประกาศยกระดับการชุมนุมวันที่ 19 ม.ค. เพื่อเร่งกดดันให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจน

สถานการณ์การเมืองไทยเวลานี้เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปทุกที ภายหลังกลุ่มคนอยากเลือกตั้งประกาศยกระดับการชุมนุมวันที่ 19 ม.ค. เพื่อเร่งกดดันให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจน

อย่างที่ทราบกันดีว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เพิ่งนัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพร้อมกับออกแถลงการณ์ว่าหากรัฐบาลยังไม่ประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับรัฐบาลภายในสัปดาห์นี้ ทางกลุ่มจะชุมนุมแบบยกระดับในวันดังกล่าวที่ถนนราชดำเนิน

การประกาศขีดเส้นของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งสร้างความขุ่นมัวให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากบิ๊กตู่มองว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องมารับการต่อรองของม็อบการเมือง

“ที่ผ่านมาก็บอกมาโดยตลอดแล้วว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ส่วนที่กำหนดเส้นตายเงื่อนไขในวันที่ 19 ม.ค.นั้น อยากถามว่าขีดเส้นตายให้รัฐบาลได้หรือ เรื่องนี้ไม่เข้าใจ ทั้งหมดอยู่ในกำหนดการเดิม การเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือวันที่ 9 พ.ค. 2562” ท่าทีอันแข็งกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

นอกจากจะยืนยันแข็งกร้าวว่าไม่ขอรับเงื่อนไขของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งแล้ว ยังใช้มุขเดิมคือการโยนภาระการกำหนดวันเลือกตั้งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งการใช้ลูกไม้แบบนี้เป็นความต้องการให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจในการเลื่อนการเลือกตั้งจากกำหนดเดิมในวันที่ 24 ก.พ.ออกไป เพราะรัฐบาลมีหน้าที่แค่การให้ข้อมูลกับ กกต. ส่วนที่เหลือก็ให้ กกต.เป็นฝ่ายตัดสินใจเอง

อย่างไรก็ตาม ลูกไม้ตื้นๆ ของรัฐบาลไม่สามารถใช้ได้ผล เพราะแทนที่แรงกดดันเกี่ยวกับการกำหนด วันเลือกตั้งจะพุ่งไปที่ กกต. ปรากฏว่าแรงกดดันพุ่งเข้าใส่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าอย่างจัง

สนามการเมืองรอบนี้ไม่เพียงแต่มีรัฐบาลเท่านั้น เพราะอยู่ดีๆ ไม่ว่าดีกองทัพได้กระโดดเข้ามาร่วมด้วย หลังจาก “บิ๊กแดง”พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก แสดงความคิดเห็นท้วงติงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งค่อนข้างรุนแรง และล่าสุดก็ยังได้วิจารณ์อีกว่าคนที่ออกมาชุมนุมล้วนแต่เป็นคนหน้าเดิมๆ นับว่าการเป็นการพยายามตอบโต้และทำลายความน่าเชื่อถือของม็อบอยากเลือกตั้ง

จากความไม่ชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้งและท่าทีของรัฐบาลกับกองทัพล้วนเป็นน้ำมันที่สามารถเติมไฟให้กับม็อบการเมืองได้เป็นอย่างดี

การชุมนุมในช่วงหลังของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งสามารถระดมมวลชนได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีจำนวนมาก แต่ด้านหนึ่งก็สามารถดึงให้รัฐบาลเข้ามาตอบคำถามของสังคมที่ต้องการความชัดเจนในการเลือกตั้งได้พอสมควร ถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีออกอาการฉุนทุกครั้งเวลาที่ต้องตอบคำถามเรื่องวันเลือกตั้ง นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งย่อมมีนัยสำคัญเช่นกัน

แต่กระนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สุดแล้วจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองต้องการได้หรือไม่

มองในมุมจำนวนคนปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งการสร้างมวลชนเพื่อกดดันฝ่ายรัฐบาลให้ได้ผลนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีจำนวนคนในระดับหนึ่งที่มากพอสำหรับการสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลได้

ย้อนกลับไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ม็อบคนอยากเลือกตั้งได้ประกาศชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง แต่ด้วยปริมาณของจำนวนคนที่มาเข้าร่วม ถึงจะมีมากพอระดับหนึ่ง ทว่ากลับ
ไม่สามารถสร้างแรงกดดันได้ จนสุดท้ายแกนนำจัดการชุมนุมต้อง ยอมมอบตัวในที่สุด

หรือถ้าพิจารณาเกี่ยวกับแนวร่วมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จะพบว่าไม่ได้มีพันธมิตรที่เป็นรูปเป็นร่างเท่าใดนัก พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ หรือแม้แต่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งล้วนเป็นพรรคที่มีท่าทีสนับสนุนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งแบบตรงไปตรงมา ก็ไม่ได้มาร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วย เพราะที่สุดแล้วบรรดาพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างขอเล่นเกมการเมืองในสภา เพื่อใช้ชัยชนะในการเลือกตั้งล้ม คสช.มากกว่าจะใช้การเมืองบนท้องถนน

แต่ที่สุดแล้วปัจจัยที่สำคัญที่เป็นกำแพงป้องกันรัฐบาลจากม็อบกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คือการกำหนดวันเลือกตั้งที่รัฐบาลยืนยันว่าจะอยู่ภายในกรอบ 150 วันตามรัฐธรรมนูญหรือไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.

ที่ผ่านมาฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพยายามชี้ประเด็นว่าการจัดการเลือกตั้งทั้งกระบวนการ เช่น วันลงคะแนนและ การรับรองผลการเลือกตั้งต้อง
อยู่ภายในวันที่ 9 พ.ค. เพื่อป้องกันไม่ให้การเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะ แต่รัฐบาลยืนยันว่าระยะเวลา 150 วัน ครอบคลุมเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งเท่านั้น หมายความว่าหากการรับรองผลการเลือกตั้งไปเกิดขึ้นภายหลังวันที่ 9 พ.ค. ย่อมไม่มีผลให้การเลือกตั้งตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

ดังนั้น ตราบใดที่รัฐบาลยืนยันว่าการเลือกตั้งยังอยู่ในกรอบ 150 วันของรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าจะเป็นข้ออ้างของรัฐบาลที่ฟังขึ้นเสมอ เว้นเสียแต่รัฐบาลจะเรียนผูกแต่ไม่เรียนแก้ ด้วยการประกาศใช้มาตรา 44 เลื่อนการเลือกตั้งออกไปพ้นจากกรอบ 150  วัน

ถึงเวลานั้นคงเป็นฟางเส้นสุดท้ายและประชาชนอาจหมดความอดทนกับรัฐบาลและ คสช.อย่างเป็นทางการสักที