posttoday

บิ๊กแดงออกตัวแรง ดึงกองทัพเข้าการเมือง

15 มกราคม 2562

กระแสม็อบคนอยากเลือกตั้งที่เริ่มจุดติด ส่งผลให้ฝ่ายความมั่นคงเริ่มมีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะท่าทีของ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

โดย....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองว่าด้วยเรื่องการเลื่อนเลือกตั้งกำลังมีประเด็นให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ภายหลังความไม่ชัดเจนของรัฐบาลส่งผลให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มประชาชนในนาม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" เพื่อกดดันให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามที่รัฐบาลเคยให้สัญญากับประชาชนเอาไว้

ประเด็นที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งหยิบยกขึ้นมาอยู่ที่ความกังวลว่าหากรัฐบาลไม่ได้จัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 พ.ค. อาจจะมีปัญหาในทางกฎหมายที่ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะได้

กล่าวคือกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมองว่าการเลือกตั้งควรมีขึ้นอย่างช้าที่สุดภายในเดือน มี.ค. เพื่อระยะเวลาการรับรองผลการเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลา 60 วันยังอยู่ภายในวันที่ 9 พ.ค. เพื่อที่กระบวนการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดจะได้ไม่เกิน 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติแม้ว่าทั้งรัฐบาลและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะยืนยันว่าระยะเวลา 150 วันในรัฐธรรมนูญนั้นหมายถึงแค่การกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งที่ต้อง มีขึ้นภายใน 150 วันนับตั้งแต่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2561 มาตรา 171  ใช้คำว่า "กำหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้า สิบวัน..." แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 268  ใช้คำว่า "ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่..."

ด้วยเหตุนี้จึงมีประเด็นว่าหากกระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งไปดำเนินการภายหลังพ้นกรอบเวลา 150 วันไปแล้ว จะมีมือดีไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการจัดการเลือกตั้งได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะขึ้นมา นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

เมื่อมีประเด็นทางกฎหมายประกอบกับท่าทีของรัฐบาลต่อการเลือกตั้งที่มีการกลับไปกลับมาหลายครั้ง จึงเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ทำให้ "ม็อบคนอยากเลือกตั้ง" จุดติดให้เห็นพอสมควร ท้าทายอำนาจมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

กระแสม็อบคนอยากเลือกตั้งที่เริ่มจุดติด ส่งผลให้ฝ่ายความมั่นคงเริ่มมีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของ บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

"มันก็มีคนประเภทนี้ในสังคมไทย ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากจะให้เกิดความวุ่นวาย ก็เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าคนที่เขาเข้าใจคงจะรำคาญ ประชาชนที่อยากทำมาหากินตามปกติและที่มีเหตุผล ว่าทำไมจะต้องเลื่อนเลือกตั้ง ทุกอย่างมันมีเวลาทุกอย่างมีกรอบเวลาและมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ถ้าไปคิดตาม ไทม์ไลน์ปฏิทิน การเลือกตั้งทุกอย่างก็ อยู่ในกรอบเวลา" คำพูดที่เชือดเฉือนของชายชาติทหาร

ทันทีที่ท่าทีของ ผบ.ทบ.เผยแพร่ สู่สาธารณะ ส่งผลให้ทั้งฝ่ายการเมืองและกลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาตอบโต้ผู้นำเหล่าทัพทันทีว่าเป็นการแสดงออกที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บัญชาการทหารบกไม่เข้าใจสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

เรียกได้ว่าการเมืองเริ่มเดือดขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่เดิมทีเดียวคลื่นลมยังสงบอยู่แท้ๆ

นับตั้งแต่บิ๊กแดงเข้ามารับตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของกองทัพ ก็ถูกจับตามองจากฝ่ายตรงข้ามมากพอสมควรถึงความเป็นกลางทางการเมือง เนื่องจากย้อนดูประวัติแล้วจะพบว่าเคยมีส่วนร่วมในการควบคุมความสงบเรียบร้อยระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

ที่ผ่านมา ผบ.ทบ.ก็พยายามสงวนท่าทีในเรื่องการเมืองมาตลอดถึงขั้นที่ประกาศว่ากองทัพต้องเป็นกลางตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของกองทัพ เพราะตัวเองก็รู้ดีว่ากำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่าย ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงระหว่างการเตรียมการเพื่อการเลือกตั้งยังได้มีการกำชับหน่วยงานของกองทัพให้วางตัวเป็นกลางด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง

แต่มาถึงจุดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงท่าทีของ ผบ.ทบ.ต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งดังกล่าวกำลังนำกองทัพเข้าสู่สนามการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตราบใดที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยังชุมนุมอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมมีความชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลได้ การที่กองทัพออกมาโจมตีแสดงให้เห็นว่ากำลังตกเข้าไปในเกมการเมืองทันที

กองทัพภายใต้การนำของบิ๊กแดงถูกสปอตไลต์ส่องมาตลอดว่าหากภายหลังการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งไม่เป็นอย่างที่ฝ่ายกองเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังไว้แล้ว กองทัพจะทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่

ไม่เว้นแม้แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพราะการ ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไม่มีพรรคการเมืองใดรวบรวมเสียงได้ เกิน 375 เสียง กองทัพจะวางตัวอย่างไร เนื่องจากอย่าลืมว่าในอนาคตพล.อ.อภิรัชต์ จะต้องเข้ามาเป็น สว.โดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญและ มีสิทธิลงมติเลือกนายกฯ ด้วย

ดังนั้น การออกตัวแรงแบบนี้ จึงสร้างคำถามพอสมควรว่ากองทัพ จะทำอย่างไรกับการเมืองในยุค เปลี่ยนผ่านเช่นนี้