posttoday

วิกฤตศรัทธาปปช. ระวังฟางเส้นสุดท้าย

10 มกราคม 2562

ความอึมครึมทางการเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งเท่านั้น เพราะเวลานี้แม้แต่การทำงานของ ป.ป.ช. ก็ส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมืองเช่นกัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ ไม่น่าเชื่อว่าจะกลับสู่ความอึมครึมอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลส่งสัญญาณว่าต้องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดการเดิมวันที่ 24 ก.พ.

เหตุผลที่รัฐบาลยกมาอ้างว่าไม่ต้องการให้กระบวนการรับรองผลการเลือกตั้งไปทับช่วงเวลาที่มีงานพระราชพิธี ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก เนื่องจากฝ่ายที่ต้องการให้คงการเลือกตั้งไปตามเดิมมองว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเต็มกรอบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้

ประกอบกับแนวทางการทำงานของ กกต.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการรับรองผลการเลือกตั้ง กกต.ไม่ได้ใช้เวลาชนเพดานแต่อย่างใด จึงคิดว่าถ้ารัฐบาลและ กกต.มีความต้องการให้ประเทศคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยจริงก็ควรให้การเลือกตั้งเป็นไปตามเดิม

ที่สำคัญการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. จะยังช่วยตัดปัญหาข้อพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับประเด็น 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจากเวลานี้กำลังถกเถียงกันว่าระยะเวลา 150 วันที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นครอบคลุมถึงขนาดไหนระหว่างแค่เป็นระยะเวลาของการลงคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น หรือครอบคลุมทั้งการลงคะแนนและการรับรองผลการเลือกตั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการตัดปัญหาก็ควรให้การเลือกตั้งเป็นไปตามเดิมน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังไม่นำพาเท่าใดนัก

ความอึมครึมไม่ได้มีแค่เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งเท่านั้น เพราะเวลานี้แม้แต่การทำงานขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมืองเช่นกัน

ก่อนเข้าสู่ปีใหม่  2562 ป.ป.ช.เพิ่งมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ว่ายังไม่มีมูลพอว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จงใจยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือจงใจไม่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว

มติเสียงข้างมากของ ป.ป.ช.ดังกล่าวสร้างความสะเทือนให้กับการเมืองขึ้นมาทันที เนื่องจากเหตุผลที่ป.ป.ช.ยกมาอ้างนั้นมีข้อกังขาจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ไม่น้อยว่าถูกหลักกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือไม่

กล่าวคือในมุมมองของนักวิชาการนั้น เมื่อมีการยืมทรัพย์สินกันจริง ก็ย่อมเข้าลักษณะของการเกิดสัญญาขึ้น โดยที่คู่สัญญาฝ่ายยืมจะต้องเป็นลูกหนี้ตามสัญญาดังกล่าว จึงเท่ากับว่าผู้ยืมที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีหนี้สินที่ต้องแสดง ป.ป.ช.ตามกฎหมาย

แต่เมื่อ ป.ป.ช.ไม่ได้สนใจตีความในประเด็นนี้ เพราะมองว่าการให้ยืมนาฬิกาเป็นเรื่องปกติในกลุ่มเพื่อน ย่อมนำมาซึ่งความกังขาในการทำความเห็นของ ป.ป.ช.พอสมควร

มติของ ป.ป.ช.ในกรณีนาฬิกานำมาสู่การวิวาทกันของสองผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองระหว่าง พล.อ.ประวิตร และ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา โดยฝ่ายทักษิณเพิ่งแสดงความคิดเห็นในทำนองว่าก่อนที่จะให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ก็ควรจะไปเคลียร์เรื่องของตัวเองให้เรียบร้อยก่อน

จากนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร  มาจนถึงกรณีของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" อดีต รมว.คมนาคม หนึ่งในตัวเต็งว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ล่าสุดเริ่มมีความเคลื่อนไหวว่า ป.ป.ช.อาจหยิบยกคดีการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำและการอนุมัติงบประมาณเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองมาพิจารณาในช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่คดีนี้อยู่ในมือ ป.ป.ช.มานานกว่า 6 ปีแล้ว

ทันทีที่มีข่าวออกมาปรากฏว่า "พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ" ประธาน ป.ป.ช.ต้องออกมาปฏิเสธเป็นการเร่งด่วนพร้อมกับ ยืนยันว่า "ป.ป.ช.จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร"

"ถ้าจะบอกว่าเร่งคดีก็คือเร่งการดำเนินงานในปี 2562 เพราะเราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในปี 2562 นี้จะมีเรื่องใดที่ต้องจบบ้าง ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน เพื่อเร่งรัดการทำงานว่ามีคดีสำคัญใดบ้างที่แต่ละสำนักจะต้องดำเนินการให้เสร็จ ต้องประกาศเป็นคำมั่นสัญญาต่อคณะกรรมการ  แต่ไม่ได้บอกว่าให้เร่งช่วงก่อนการ เลือกตั้ง" ประธาน ป.ป.ช.ระบุ

หากจะบอกว่า ป.ป.ช.กำลังตกที่นั่งลำบากก็คงไม่ผิดนัก โดย ป.ป.ช.ชุดนี้เผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่นและความศรัทธามาโดยตลอด นับตั้งแต่ไม่ถูกเซตซีโร่ภายหลังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเหมือนกับ กกต.ในอดีต

เมื่อต้นทุนมีปัญหาทำให้เวลาทำงานในเรื่องใดก็ดูจะติดขัดไปหมด อย่างเช่น การออกระเบียบให้ผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่งแสดงบัญชีทรัพย์สิน แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีและฝ่ายที่ถูกตำหนิควรจะเป็นคนที่ ลาออกเพราะกลัวการแสดงทรัพย์สิน แต่กลายเป็นว่า ป.ป.ช.กลับถูกท้วงติงถึงการทำงานที่ไม่รอบคอบ จน คสช.ต้องเข้ามาใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหา

อาการของ ป.ป.ช.ชุดนี้อาจจะยังไม่หนักเท่ากับ ป.ป.ช.ในอดีตที่มีการออกระเบียบเพื่อขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเอง จนถูกศาลฎีกาพิพากษาให้มีความผิด แต่ปฏิเสธไม่ได้วิกฤตศรัทธาที่ ป.ป.ช.กำลังเผชิญอยู่นั้นก็มีความสาหัสพอสมควร

เส้นทางจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ป.ป.ช.จะเป็นหนึ่งในองค์กรที่พาประเทศสู่ประชาธิปไตย หรือจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ซ้ำเติมความขัดแย้งให้มากขึ้นไปทุกทีแทน